Wednesday, June 27, 2012

ทารก 6 เดือนแรกแค่ ‘นมแม่’ ก็พอ


ทุกคนต่างรู้ดีว่า 'นมแม่' มีคุณประโยชน์ต่อลูกน้อยมาก มาย แต่ส่วนใหญ่อาจรู้ไม่ลึกพอ เมื่อถึงเวลาที่ตนเองมีบุตร แล้วบังเอิญมีน้ำนมไม่เพียงพอหรือไม่สะดวกที่จะให้ ก็หันไปพึ่งนมผสม โดยหารู้ไม่ว่า พลาดโอกาสมอบสารอาหารดีๆ ให้กับลูกน้อยไปเสียแล้ว

ในงานสัมมนาหัวข้อ ก้าวแรกของความเป็นแม่ ใส่ใจดูแลเรื่องโภชนาการที่ดี โดยสถาบันเนสท์เล่ นั้น พญ.ดร.ศิรินุช ชมโท ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงคุณประโยชน์ของนมแม่ที่ลูกน้อยไม่ควรพลาดได้รับ ว่า
 
ความพิเศษของน้ำนมแม่ นอกจากเป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ ยังมีภูมิคุ้มกันที่มีชีวิต นั่นคือ เม็ดเลือดขาว ทำหน้าที่ผลิตสารต้านการอักเสบ ต้านการติดเชื้อชนิดต่างๆ โดยเฉพาะในทางเดินอาหาร และทางเดินหายใจ แถมยังมีสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย แม้แต่กรณีที่แม่ไปสัมผัสกับเชื้อโรคมา แม่จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อโรคตัวนั้นได้ แล้วส่งผ่านทางนมแม่ไปยังลูก โดยใช้เวลาราว 1 วัน

พญ.ดร.ศิรินุช ย้ำว่า นมแม่ถือเป็นภูมิต้านทางโรคภูมิแพ้ได้ดี เพราะไม่มีโปรตีนแปลกปลอม ทั้งยังช่วยลดการดูดซึมสารแปลกปลอมที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคภูมิแพ้ผ่าน ทางเดินอาหาร เนื่องจากเยื่อบุทางเดินอาหารในเด็กยังไม่แข็งแรงเท่าที่ควร

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด องค์การอนามัยโลกแนะให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องให้อาหารอื่นรวมทั้งน้ำเปล่า ที่ เป็นเช่นนั้น พญ.ดร.ศิรินุช เล่าว่า ขนาดกระเพาะอาหารของทารกแรกคลอดมีความจุน้อย จุดได้แค่ครึ่งออนซ์ กระทั่งเด็กอายุได้ 10 วัน จึงขยายเพิ่มความจุได้ 2 ออนซ์

การได้รับอาหารอื่นหรือน้ำร่วมด้วยจะทำให้เด็กที่กระเพาะเล็ก นั้นอิ่ม จึงไม่ค่อยดูดนมแม่ เมื่อนั้นจะมีผลกระทบต่อกระบวนการผลิตน้ำนมแม่ ที่เป็นอุปสงค์-อุปทาน คือ ถ้าไม่ค่อยมีการดูด ไม่ค่อยมีการใช้ ร่างกายจะตีความว่า ไม่ต้องการแล้ว จึงไม่ผลิต แม่ก็จะรู้สึกว่า ตัวเองผลิตน้ำนมได้น้อย
นอกจากเด็กมีกระเพาะอาหารเล็กแล้ว เหตุที่ควรให้นมแม่อย่างเดียวใน 6 เดือนแรก เพราะอาหารหรือสารอาหารอื่นอาจทำให้เด็กติดเชื้อหรือเป็นภูมิแพ้ เนื่องจากระดับภูมิต้านทานที่เรียกว่า อิมมูโนกอบโบลิน เอ ยังไม่สมบูรณ์

อีกปัญหาที่พบบ่อยรองจากไม่มีน้ำนม คือ ความรู้สึกเจ็บปวดบริเวณหัวนม บางทีถึงขั้นหัวนมแตก กรณีนี้ พญ.ดร.ศิรินุช ชี้ว่า มักเกิดจากท่าดูดผิด ส่วนที่ถูกต้องนั้น ลูกจะต้องอมหัวนมลึก ปากบานออกเหมือนปากปลา คางชิดเต้านม เด็กเงยหน้าขึ้น แก้มป่อง กรามเคลื่อนไหวเป็นจังหวะ และควรได้ยินเสียงกลืน

สาเหตุที่ต้องอมหัวนมให้ลึก เพราะต้องให้ลิ้นของเด็กแลบออกไปข้างหน้าเพื่อบีบเค้นนมนมออกจากท่อน้ำนมที่ มีขนาดใหญ่ ดังนั้น นมแม่จากเต้าจะไม่ไหลเข้าปากง่ายๆ เหมือนกินนมจากขวดนม

อย่างไรก็ตาม หลังผ่านช่วง 6 เดือนแรกไปแล้ว สามารถเลี้ยงด้วยอาหารอื่นที่เหมาะสมตามวัยควบคู่ไปกับการให้ดื่มนมแม่ไปจนเด็กอายุ 2 ปี สำหรับ แม่ที่ต้องให้นมลูกนั้น ควรได้รับพลังงานต่อวันเพิ่มจากปกติอีก 500 กิโลแคลอรี รวมทั้งโปรตีนเพิ่มอีก 25 กรัม รวมทั้งวิตามินเอ บี ซี ไอโอดีน เหล็ก สังกะสี ขณะที่แคลเซียมในนมแม่นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับอาหารที่แม่กิน เพราะกระบวนการผลิตน้ำนมจะดึงมาจากแคลเซียมที่สะสมอยู่ในตัวแม่ ดังนั้น เรื่องของแคลเซียม ควรให้มีเพียงพอตั้งแต่ก่อนให้นมบุตรแล้ว.

แหล่งข้อมูลที่มา   
ทีมเดลินิวส์ออนไลน์
takecareDD@gmail.com


No comments:

Post a Comment