Wednesday, August 10, 2016

5 วิธีแก้ปัญหาลูกกัดเล็บ หยุดพฤติกรรมก่อนติดเป็นนิสัย




วิธีเลี้ยงลูก 5 วิธีแก้ปัญหาลูกกัดเล็บ หยุดพฤติกรรมก่อนติดเป็นนิสัย บ้านไหนที่กำลังเจอปัญหานี้อยู่ ลองทำดูเลยค่ะ รับรองว่าเวิร์ก

           อีก หนึ่งปัญหาที่เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายบ้านต้องเคยเจอ ก็คือปัญหาที่ลูกรักชอบกัดเล็บบ่อย ๆ นี่แหละ ซึ่งพฤติกรรมนี้อาจจะทำให้ลูกเสียบุคลิก รวมไปถึงอาจจะทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับฟัน และเสี่ยงกับเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ ที่ทำให้เจ็บป่วยได้ ถ้าอย่างนั้นลองมาแก้ปัญหานี้กันก่อนที่ลูกจะติดเป็นนิสัย ด้วย 5 วิธีที่กระปุกดอทคอมนำมาฝากวันนี้เลยค่ะ รับรองว่าทำแล้วหยุดพฤติกรรมนี้ได้อยู่หมัดเลยล่ะ

1. อย่าทำให้เขากังวลใจ

          คุณ พ่อคุณแม่ควรเข้าใจก่อนค่ะ ว่าการที่ลูกชอบกัดเล็บนั้นเป็นเพราะเขากำลังเครียด เก็บกด หรืออาจจะเหงาไม่มีอะไรทำ เลยต้องการผ่อนคลายด้วยการกัดเล็บนั่นเอง ฉะนั้นหากคุณพ่อคุณแม่บ้านไหนชอบดุลูก หรือชอบทะเลาะเถียงกันเสียงดังประจำละก็ บอกเลยว่าพฤติกรรมของคุณนี่แหละคือบ่อเกิดของการที่เขาชอบกัดเล็บเลย ต่อไปเวลามีอะไรก็พูดคุยกับลูกดี ๆ อธิบายให้เขาฟังอย่างใจเย็น หรือหากคุณพ่อคุณแม่เริ่มมีการเถียงกันเกิดขึ้น ก็ขอให้ใจเย็นลงหรือไปพูดคุยกันให้ห่างจากสายตาเขาจะดีกว่า

2. อธิบายให้ลูกเข้าใจ

          ก่อน จะห้ามให้ลูกรักเลิกกัดเล็บ คุณพ่อคุณแม่ควรอธิบายให้เขาเข้าใจถึงข้อเสียก่อน หากลูกเข้าใจแล้วว่า การกัดเล็บจะทำให้ลูกป่วยจนอดไปเจอเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน หรือจะทำให้คนอื่นอาจล้อเลียนลูกเอาได้ นั่นจะทำให้เขาเข้าใจว่าทำไมควรเลิกพฤติกรรมนี้

3. ตัดเล็บลูกให้สั้นตลอด

          เป็น วิธีง่าย ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำอยู่แล้วค่ะ เพราะการที่ให้เด็กไว้เล็บยาวมีแต่ข้อเสียทั้งนั้น ทั้งทำให้มีเชื้อโรคสะสม และอาจจะไปข่วนโดนหน้าตัวเองอีก ที่แน่ ๆ คือการตัดเล็บให้สั้นตลอดยังช่วยหยุดพฤติกรรมชอบกัดเล็บได้ด้วย

4. หากิจกรรมให้เขาทำ

          แทน ที่จะให้เขาอยู่ว่าง ๆ เหงา ๆ ไม่มีอะไรทำจนหาทางออกด้วยการกัดเล็บ คุณพ่อคุณแม่ลองหากิจกรรมสนุก ๆ สุดสร้างสรรค์ให้เขาทำดูสิ ไม่ว่าจะเป็นการชวนออกไปขี่จักรยาน เดินเล่น รับ-ส่งลูกบอล หรืออาจจะเป็นกิจกรรมในบ้าน เช่น การระบายสี หรือการเล่นตัวต่อก็ได้ พูดง่าย ๆ คืออย่าให้ลูกได้มือว่าง ค่อย ๆ ทำไปรับรองว่าจะช่วยสลายพฤติกรรมนี้ได้แน่นอน

5. ชื่นชมเมื่อลูกไม่ค่อยกัดเล็บ

          เมื่อ ลองใช้วิธีให้ลูกหยุดกัดเล็บดูแล้ว ผลปรากฏว่าลูกไม่ค่อยกัดเล็บบ่อยเท่าก่อนหน้านี้แล้ว ก็ลองเอ่ยคำชื่นชมเขาสักหน่อย หรืออาจจะหาของขวัญ หรือพาออกไปกินขนมอร่อย ๆ และบอกเขาว่า สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่มอบให้ คือรางวัลที่ลูกเลิกกัดเล็บนั่นเอง

          รู้ แล้วใช่ไหมล่ะคะว่า ปัญหาที่ลูกชอบกัดเล็บ ไม่ได้เกิดที่ตัวของเด็กเพียงอย่างเดียว แต่ควรเริ่มต้นแก้ไขที่ตัวคุณพ่อคุณแม่ด้วย และการจะสลายพฤติกรรมนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรใจเย็นและคอยสังเกตพฤติกรรมของเขาเป็นประจำ รับรองว่าไม่ยากเกินไปแน่นอนค่ะ

http://baby.kapook.com/%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81-151982.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/explore/hipster-toddler/

Tuesday, April 21, 2015

12 Tips..สร้างหนูเป็นเด็กมั่น




            ไม่ยากเลยค่ะ เพียงแต่หัดให้ลูกทำอะไรเองบ้าง เพราะเรื่องนี้แม้จะเป็นเด็กเล็กๆ ก็ตาม แต่ถ้าเราหัดให้ลูกกินเอง เก็บของเล่นเอง แปรงฟัน อาบน้ำ ขี่จักรยานด้วยความสามารถของเขาเอง แม้จะล้มบ้าง เลอะเทอะบ้าง แต่อย่างน้อยความรู้สึกภูมิใจเล็กๆ จะก่อเกิดขึ้น และเจ้าความรู้สึกแบบว่านี่ล่ะ จะกลายเป็นความรู้สึกนับถือตัวเอง และมั่นใจในตัวเอง (Self-Esteem) ในท้ายที่สุด


           Self-Esteem ที่ว่านี้ เราเริ่มฝึกลูกได้ตั้งแต่เป็นเด็กแบเบาะ สังเกตง่าย ๆ ว่า เจ้าตัวน้อยกำลังคืบคลานกระดืบๆ อยู่กับพื้น ถ้าเราลองเอาของเล่นไปวางไว้ข้างหน้า เขาจะรีบคลานๆๆๆ จนกว่าจะคว้าสิ่งของนั้นไว้ได้ และเมื่อเขาคว้าได้ ตาเขาจะเป็นประกายแห่งชัยชนะที่เปื้อนสุข และความรู้สึกนั้นแหละที่เขาเรียกว่า การนับถือตัวเองที่สามารถทำได้ และเมื่อลูกได้หัดได้ลองทำอะไรตามกำลังความสามารถของตัวเองอยู่บ่อย ๆ ต่อไปเขาจะเริ่มเชื่อมั่นในความสามารถของเขามากขึ้น จนเรียกว่าเป็นคนที่นับถือในคุณค่าและความสามารถของตัวเอง สะสมมากเข้า ๆ อีกหน่อยก็กลายเป็นหนุ่มสาวมั่นยุคใหม่ไปในทันที

มาดูว่า 12 วิธีสร้างลูกให้เป็นหนุ่มสาวมั่น

เด็กวัย 1-2 ขวบ

           เด็กวัยนี้ก็เหมือนเด็กทารก ที่ยังต้องการความรัก การเอาใจใส่จากเรามากมาย ถ้าจะสร้าง Self-Esteem ให้ เราต้องเริ่มต้นให้ลูกรู้ก่อนว่า เรารักเขามากแค่ไหน และเขามีคุณค่าในตัวเองแค่ไหน เมื่อเขารู้สึกเป็นที่รักแล้ว ความรู้สึกภูมิใจ อบอุ่นใจจะเกิดขึ้นจนกลายเป็นเด็กนับถือตัวเอง และมั่นใจเกินร้อย

          1.ใช้เวลาด้วยกัน แค่มีเวลากับลูก นั่งๆ นอนๆ ด้วยกัน นั่งกอดกันบนโซฟา ลูบผมลูกขณะนั่งรถไปด้วยกัน กิจกรรมแบบสบายๆ อย่างนี้ช่วยให้ลูกรู้สึกดีกับตัวเอง และมั่นคงในจิตใจได้แล้ว พอเขารู้สึกอบอุ่นในหัวใจ ก็จะมีความเชื่อมั่นที่จะออกไปเรียนรู้โลก เพื่อทดสอบความสามารถของตัวเองต่อไป

          2.อ่านนิทานให้ลูกฟัง การอ่านนิทานให้ลูกฟังทุกวัน จะช่วยให้ลูกมีไอเดียบรรเจิด หนำซ้ำยังรู้สึกถึงความรัก ที่ส่งผ่านจากเสียงที่ตั้งอกตั้งใจเล่าให้ฟังด้วย

          3. เป็นนายตัวเอง ลองให้ลูกตัดสินใจด้วยตัวเอง เช่น วันนี้อยากกินอะไร เมื่อลูกบอกความต้องการมาแล้ว ก็ต้องเคารพความคิดเห็นเขาด้วย

           ต่อไปลองเสนอทางเลือกให้ลูกเลือก เช่น หมั่นถามลูกว่าจะทำอะไรก่อนหลัง เช่น จะอาบน้ำก่อน หรือกินข้าวก่อน หรือจะดูการ์ตูนก่อน หรือออกกำลังกายก่อน แค่ลองให้ลูกคิด ต่อไปลูกจะเริ่มมั่นใจในความคิด และนับถือความสามารถของตัวเอง ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะหลุดจากวินัยที่คุณวางไว้ แค่ใช้ให้เหมาะกับเวลา และตัวเลือกนั้นให้อยู่ในกิจกรรม หรือตารางประจำวันของลูกเท่านั้นเอง

          4. มอบหมายงานเล็ก ๆ ให้ เมื่อ ลูกทำได้สำเร็จ ก็ภูมิใจในความสามารถตัวเอง แล้วพอโตขึ้นงานใหญ่ ๆ แค่ไหนก็ไม่หวั่น..อย่างกินข้าวด้วยตัวเอง จับช้อน หยิบส้อมแม้จะเลอะเทอะไปบ้าง แต่ลูกจะปลื้มกับสิ่งที่ทำได้ จากนั้นลองฝึกให้ลูกทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเองอย่างใส่เสื้อ ใส่กางเกง ใส่รองเท้า ฯลฯ หรือหยิบของเล็กๆ น้อย ๆ ให้เรา งานเล็ก ๆ แบบนี้ล่ะสร้างความมั่นใจ และนับถือตัวเองได้มากทีเดียว

เด็กวัย 2-3 ขวบ

           วัย นี้ค่อนข้างเริ่มเป็นตัวของตัวเองสูงแล้ว ดังนั้นจะต้องทำตัวแบบว่า...แม่ไม่บังคับหนูหรอก แต่ขอแจมสิ่งที่หนูกำลังสนใจอยู่หน่อยได้ไหม กิจกรรมที่เราสามารถสร้าง Self-Esteem ให้ลูกวัยนี้ได้คือ

          5. กินไปเม้าท์ไป การ คุยกับลูกตอนเย็น ๆ อย่างเวลากินข้าว ช่วยให้เรารู้ความเป็นไปของเขาในวันนั้น อย่างสมมติวันนี้ลูกอารมณ์บ่จอยจากเพื่อน ๆ มา เราก็แค่แนะ ๆ ว่า "อือม์...ลูกจ๋าวันนี้หน้าบึ้งจัง เป็นอะไรเหรอ?" แค่ประโยคเอาใจใส่แบบนี้เองที่ช่วยให้ลูกรู้สึกดีขึ้น และรู้สึกเป็นที่รัก

          6. นักแสดงตัวน้อย เมื่อลูกเกิดอยากแต่งตัวเป็นเจ้าหญิง หรืออยากเต้นระบำขึ้นมา โอกาสทองมาเยือนแล้วล่ะ เพราะเราสามารถตั้งคำถามถึงสิ่งที่ลูกกำลังทำอยู่ และถามต่อไปด้วยว่าเขารู้สึกอย่างไรกับตัวเอง เช่น "ลูกจ๋า...แม่ว่าชุดเจ้าหญิงหนูสวยจัง หนูว่าไงจ๊ะ" หรือ "โอ้โห้...เต้นเก่งอย่างนี้ หนูว่าเพื่อน ๆ จะชมหนูเหมือนแม่ชมไหมเนี่ย" แค่เพียงคำถามกระตุ้นต่อมความเชื่อมั่นในตัวเองแบบนี้ ก็ช่วยให้ลูกเป็นเด็กมั่นได้แล้ว

          7. อัลบั้มรูปเตือนใจ นำอัลบั้มรูปสมัยลูกยังเป็นเด็กตัวเล็ก ๆ มาดูด้วยกัน เพื่อให้ลูกรู้ที่มาที่ไปของตัวเอง และเพื่อให้ลูกรู้ว่า ลูกมีความหมายกับเรามากแค่ไหน เราถึงต้องเก็บรูปลูกอยู่อย่างต่อเนื่อง

          8. เกมแห่งความประทับใจ เกมนี้สนุกอย่าบอกใคร แค่ถามลูกว่า เขาชอบไปเที่ยวที่ไหนกับพ่อแม่มากที่สุด หรือวันเกิดที่ผ่านมาเขาชอบของขวัญชิ้นไหนที่สุด แค่นี้เองก็สามารถทำให้ลูกรู้สึกดี ๆ กับเหตุการณ์ที่ผ่านมา รวมทั้งรู้สึกดี ๆ กับตัวเองด้วย

          9. วันนี้วันดี อีกหนึ่งเกมที่สนุกไม่แพ้กัน แค่เธอเซ็ตวันใดวันหนึ่งของอาทิตย์ให้เป็น "วันดีเดย์" คือวันแห่งความดี โดยให้ลูกฟังแต่เรื่องดี ๆ จากเราว่า วันนี้ลูกทำอะไรน่ารัก ๆ ให้เราบ้าง อย่าง "วันนี้หนูน่ารักมากจ้ะที่ช่วยแม่หยิบช้อน ส้อมมาวางบนโต๊ะ" หรือ "แม่ภูมิใจที่ลูกไม่งอแงเลยในวันนี้" แค่ประโยคหวานหูแบบนี้จะช่วยให้ลูกรู้สึกภูมิใจในสิ่งที่ทำ และรู้สึกเห็นคุณค่าของตัวเองแล้ว

          10. เล่นซ่อนหา เอาของขวัญวันเกิด หรือของขวัญปีใหม่หรือของขวัญตอบแทนที่ลูกทำดีไปซ่อนไว้ ให้ลูกควานหาอย่างสนุกสนาน พอเจอของขวัญชิ้นพิเศษนั้น ๆ ลูกจะรู้สึกว่า พ่อแม่รู้สิ่งที่ลูกทำอยู่นั้นดีแค่ไหน และมีคุณค่าต่อเราและต่อตัวเองแค่ไหน

          11. ให้ลูกช่วยงานบ้าน เช่น ช่วยกรอกน้ำใส่ขวด หรือล้างช้อนส้อม หยิบผัก หยิบไข่ เช็ด ๆ ถู ๆ โต๊ะกินข้าว งานแบบนี้ล่ะจะช่วยฝึกให้ลูกรู้ว่า เรื่องแค่นี้ลูกทำได้ และทำได้ดีเสียด้วย..

          12. ทำกิจกรรมหลากหลาย เด็กวัยนี้ความสนใจยังไม่ชัดเท่าไร แต่ถ้าให้ลูกได้เล่นกิจกรรมหลากหลาย นอกจากจะช่วยให้ลูกรู้ว่าชอบอะไร เหมาะกับอะไร และถนัดทำอะไรแล้ว กิจกรรมนั้น ๆ ยังสอนให้ลูกรู้ด้วยว่า คนเรามีทางเลือกมากมายให้กับชีวิต เมื่อลองทำกิจกรรมนี้แล้วไม่สัมฤทธิ์ผล แต่อย่างน้อยยังมีกิจกรรมอื่นๆอีกที่ดาหน้าให้ลูกประลองฝีมือ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกลองไปเลย...ไม่ว่าจะเล่นต่อไม้บล็อก จิ๊กซอว์ ปั้นแป้งโดว์ วาดรูป ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน กระโดดเชือก ฯลฯ ทุกกิจกรรม ช่วยสอนให้ลูกเรียนรู้เรื่องความสามารถของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น

โดย: คุณนายไฮโซ
แหล่งที่มา  รักลูก, http://baby.kapook.com/view23828.html
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Friday, April 10, 2015

พัฒนาการเด็กและการส่งเสริมเด็กวัย 1-2 ปี




         ลูกสามารถเดินและยืนได้เองอย่างมั่นคง อย่างเช่น สามารถเก็บของเล่นที่อยู่ที่พื้นและเดินเตาะแตะนำไปเก็บเข้าที่ได้ หากเจอสถานที่ที่ไม่เรียบ เขาจะคลานเหมือนหมี ปีนข้ามที่กีดขวางโดยลงน้ำหนักที่มือหรือเท้าพร้อมกับยกเข่าสูง ควบคุมร่างกายได้ดีขึ้นมากโดยมีการเพิ่มความเร็วและหยุดได้เมื่อเจอบางสิ่ง ที่น่าสนใจ มีการกะระยะและควบคุมอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้ดีขึ้นมาก

         ด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กลูกสามารถหยิบจับสิ่งของหลายๆ ชิ้นได้ในมือเดียว มีการกำแน่นไม่ปล่อยหากมีคนมาแย่ง แต่ก็จะเดินนำของเล่นไปให้คนที่ตนเองถูกใจด้วย และนอกเหนือจากการหยิบจับแล้ว วัยนี้จะเริ่มดึง ฉุด ลาก สิ่งที่เขาชอบและเข้าใจการทำงานของของเล่นแบบดึงลาก ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้นด้วย

        
การเดินบ่อย ๆ จะช่วยให้กล้ามเนื้อขาและการทรงตัวแข็งแรง ไม่ล้มง่าย วิ่งกระโดดได้ดีคล่องแคล่ว

        
การเดินช่วยพาเจ้าหนูไปยังพื้นสัมผัส (Sensory) ที่แตกต่างกันออกไป ได้เรียนรู้เรื่องทิศทางในการออกสู่โลกใหม่

        
การเล่นในสถานที่และสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างออกไป ทำให้เด็กได้ฝึกคิดต่อ มีความคิดสร้างสรรค์ว่าจะเล่นอะไรกับสิ่งแวดล้อมใหม่นี้ดี

        
การสำรวจพบสิ่งใหม่ ๆ ด้วยตัวเอง อย่างแรกที่ได้คือความภูมิใจ มีทั้งความสนุก ความตื่นเต้น จนบางครั้งออกอาการขี้อวดหยิบสิ่งที่ไปเจอเอามาให้คุณแม่ด้วย

        
เมื่อลูกเริ่มก้าวเดินได้ ความใส่ใจอย่างแรกเห็นทีจะเป็นเรื่องความปลอดภัยนะคะ คุณควรทำบ้านให้รัดกุม มีที่กั้นระหว่างบันไดหรือประตู ยิ่งบ้านไหนมีสระน้ำแล้วยิ่งต้องระมัดระวังให้มาก

        
ควรจะเลือกของเล่นที่เหมาะกับพัฒนาการ เพิ่มทักษะ และความคิดสร้างสรรให้ลูกได้ เช่น ตัวต่อ สีเทียนสีไม้ พลั่วขุดดินและกระป๋องอันจิ๋ว อุปกรณ์บทบาทสมมุติ รถลาก ฯลฯ และไม่ต้องมีเยอะแยะจนเกินความจำเป็น

พัฒนาการเด็กทางอารมณ์ จิตใจ และการส่งเสริม

         เด็ก ๆ ที่ใกล้วัย 2 ขวบจะเริ่มมีพัฒนาการที่เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ซึ่งบางครั้งคุณพ่อคุณแม่จะมองว่าเป็นเด็กดื้อ (Terrible Two) เพราะลูกจะเชื่อฟังเราน้อยลง และมีพฤติกรรมใหม่ ๆ ที่ท้าทายให้คุณแก้ปัญหาด้วย ซึ่งเหตุผลของความดื้อและเจ้าอารมณ์นั้นมักเกิดจากสาเหตุดังนี้

        
อยากรู้อยากเห็น - เพราะหนูกำลังเรียนรู้และค้นพบสิ่งใหม่ๆ ด้วยการลงมือทำ หนูจึงชอบกดปุ่มโทรศัพท์เล่น ดึงหางแมว ใช่ว่าจะเอาแต่ใจตัวเองหรือเอาแต่ซนซะหน่อย

        
เรียกร้องความสนใจ - ด้วยความเหงา เบื่อ เซ็ง ที่พอหนูทำตัวดีแล้วทุกคนก็หายไปทำธุระตัวเองกันหมด สู้กินข้าวหก ทำของแตกไม่ได้ คุณแม่เป็นต้องวิ่งปรู๊ดมาดูก่อนใคร ถึงจะมีเสียงดุว่าตามมาก็ยังดีกว่าอยู่คนเดียว

        
ท้าทาย - ยิ่งตอนหนูอายุ 14-22 เดือน หนูกังวลมากว่าพ่อแม่จะตีจากหนูไป ไม่รักกันเหมือนเคย หนูจึงอยากรู้นักว่าถ้าโดนห้ามก็ยังจะท้าทายทำต่อซะอย่าง แล้วจะมีอะไรหรือเปล่า

        
ไม่มีเหตุผล - หนูอยากทำเพราะอยากทำ ถึงจะยังทำเองไม่ได้ เพราะมีข้อจำกัดทางร่างกาย และมีคนคอยห้ามโน่นห้ามนี่ น่าจะลองให้หนูทำอะไรเองบ้างนะ ถ้าไม่อันตรายเกินไป

        
เหนื่อย - วัยอย่างหนูชอบงีบกลางวัน แต่บางครั้งต้องไปนอกบ้านกับคุณแม่ทั้งวัน เลยพาลหงุดหงิดเอาง่าย ๆ

        
หิว - อารมณ์หิวไม่ปราณีใคร หนูต้องการเติมพลังบ่อยครั้งกว่าผู้ใหญ่ อย่ายึดมื้ออาหารตามแบบผู้ใหญ่ ต้องมีมื้อของว่างให้หนูบ้าง

พัฒนาการเด็กทางภาษาและการส่งเสริม

         ลูกสามารถใช้คำ 2 คำพูดเชื่อมต่อกันได้แล้ว เข้าใจคำศัพท์ของสิ่งของที่อยู่ใกล้และสามารถหยิบตามที่คุณพ่อคุณแม่บอกได้ ถูกต้อง ชี้ไปที่อวัยวะต่าง ๆ พร้อมบอกความต้องการของร่างกายได้ ใช้คำพูดพอ ๆ กับการสื่อสารด้วยท่าทาง ลูกยังไม่ชอบการฟังนิทานเป็นเรื่องหรือการพูดยาว ๆ และจะชอบนิทานภาพเป็นภาพ ๆ ไปเท่านั้น และสนใจฟังเมื่อผู้ใหญ่กำลังอธิบายภาพที่ตนเองชอบ รวมทั้งการเริ่มสนใจรายการสำหรับเด็กในโทรทัศน์

เสริมพัฒนาการเด็กด้านภาษาให้เด็กวัย 2-3 ปี

        
เป็นแบบอย่างที่ดี - อะไรก็ตามที่พ่อแม่แสดงออกไปเด็ก ๆ ก็เลียนแบบหมด อาทิ พ่อแม่พูดเร็ว ลูกก็พูดเร็ว เพราะฉะนั้นพูดกับลูกช้า ๆ ชัดถ้อยชัดคำ สบตาลูก ออกอักขระให้ชัดเจนด้วย

        
ชวนลูกพูดคุย - คุณพ่อคุณแม่ต้องพูดคุยกับลูกเยอะ ๆ อย่าทิ้งให้ลูกต้องเล่นของเล่นอยู่คนเดียวหรือขลุกอยู่กับพี่เลี้ยง ทั้งวัน เพราะถ้าพี่เลี้ยงบางคนที่พูดไม่ชัด ลูกอาจจะพูดตามสำเนียงของคนที่เขาอยู่ด้วย

        
อย่าเร่งให้ลูกพูดพ่อแม่บางคนกลัวว่าลูกจะพูดช้า อย่าไปดุหรือใจร้อน โมโหใส่ลูก เพราะจะทำให้ลูกเครียด เพราะเด็กแต่ละคนการพัฒนาช้าเร็วจะไม่เท่ากัน

        
อย่ารำคาญ - เวลาที่ลูกกลายเป็นเด็กช่างซัก ให้ตอบทุกคำถาม ตอบแบบง่าย ๆ ไม่ต้องยาว เพราะนี่คือการช่วยฝึกพัฒนาการในเรื่องภาษาให้ลูกได้อีกวิธีหนึ่ง

        
อย่าต่อว่าเวลาลูกพูดผิด - ให้ช่วยแก้ไขด้วยการพูดให้ลูกฟังซ้ำแบบช้า ๆ ชัด ๆ

        
อ่านหนังสือนิทาน บทกลอน - เปิดเพลงให้ฟังให้ลูก อ่านนิทาน หรือบทกลอนให้ฟังลูกจะได้เรียนรู้คำใหม่ ๆ หัดจำประโยคที่เขาสนใจ

วัย 1-2 ปี พัฒนาการเด็กทางร่างกายเชื่อมโยงสมอง

        
ลูกจะพยายามหัดยืนและเดิน และทำได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ

        
ปีนขึ้นบันไดได้แต่ต้องมีคนช่วย ลงบันไดโดยการคลานถอยหลัง ถ้าเดินลงต้องช่วยจับแขน กระโดดสองขาได้

        
ชอบลาก ผลัก ดันสิ่งต่าง ๆ ลากเก้าอี้ไปยังชั้นวางของและพยายามปีนป่ายหรือเอื้อมหยิบของ

        
ต่อบล็อกได้ 3-4 ชิ้น

        
ชอบวิ่ง ปีนป่าย กระโดดอยู่กับที่

        
เดินทีละก้าวบนกระดานไม้แผ่นเดียวได้

        
ขี่จักรยาน 3 ล้อได้

        
เริ่มถนัดใช้มือข้างใดข้างหนึ่งแล้ว เช่น ร้อยลูกปัดเม็ดใหญ่ ๆ ได้

แหล่งที่มา  momypedia, http://baby.kapook.com (คัดบทความบางส่วน)
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Monday, April 6, 2015

A-Z เสริมลูกเรียนดี เริ่มที่สมาธิ




          สมาธิ คือ จุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ ช่วยให้ลูกรับข้อมูลไปใช้ในการพัฒนาสมองได้ดี แต่ถ้าเมื่อใดที่ขาดสมาธิลูกก็จะกลายเป็นเด็กขี้ลืม ไม่อดทน ซนเกินเหตุ ไม่รู้จักสังเกตไม่รอบคอบ ไม่ตั้งใจฟัง ไม่มีมารยาท แถมยังล้มเหลวได้ง่าย ไร้วินัย และไม่มีเพื่อน ถ้าไม่อยากให้ลูกมีพฤติกรรมแบบนี้ มาส่งเสริมสมาธิกับ A-Z กันนะคะ

Activites : กิจกรรม

          เด็กทุกคนมักสนใจสิ่งรอบข้างง่ายอยู่แล้วโดยธรรมชาติ การสร้างสมาธิจึงไม่ใช่เรื่องยาก เพียงหาสิ่งเร้าที่เด็กสนใจ เช่น กิจกรรม ซึ่งจะช่วยให้เด็กเกิดความสนใจจดจ่อได้นานพอ เช่น ศิลปะ พับกระดาษ ปั้นแป้ง ฯลฯ

Book : หนังสือ

          นิทานหรือหนังสือเด็ก คือ เครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างสมาธิให้ลูกได้เต็มที่ เมื่ออ่านให้ฟังจบ ควรสร้างความสนใจจดจ่อให้สมาธิลูกยาวขึ้น โดยถามถึงเรื่องราวที่อ่านให้ลูกฟัง เพื่อให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นโต้ตอบ

Clean : ทำความสะอาด

          การให้ลูกทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ จะช่วยสร้างสมาธิให้ลูกจดจ่ออยู่กับการทำความสะอาดได้ เช่น กวาด ถูบ้าน ตากผ้า เช็ดโต๊ะ โดยไม่ลืมให้คำชมเพิ่มกำลังใจให้ลูกรู้สึกอยากทำ และมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งต่าง ๆ นานขึ้น

Dough : ปั้นแป้งโดว์

          การให้ลูกปั้นแป้งเล่นอย่างอิสระ นอกจากจะได้ฝึกกล้ามเนื้อมือให้แข็งแรง มีผลทำให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีในการเขียนหนังสือแล้ว ยังช่วยสร้างจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และสมาธิความสนใจจดจ่อให้ลูกได้ดีด้วย

Example : แบบอย่าง

          พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้สมาธิจดจ่ออยู่กับการทำงาน ทำกิจกรรม ทำสิ่งต่าง ๆ จนลุล่วงไปได้ด้วยดี โดยทำให้ลูกเห็นอย่างสม่ำเสมอ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกเลียนแบบซึมซับและรับเอาเป็นแบบอย่างได้ในอนาคต

Forest : ป่าไม้

          ป่าไม้ คือ แหล่งเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ เพราะมีสิ่งดึงดูดใจให้เด็กอยากรู้อยากเห็น อยากสำรวจเรียนรู้ได้อย่างมีสมาธิทั้งพืชพันธุ์ ดอกไม้ ผีเสื้อ แมลง และสัตว์ป่าหลากชนิด มีโอกาสเมื่อใดอย่าลืมชวนลูกไปแคมปิ้งในป่านะคะ

Game : เกม

          เด็กมักชอบเล่นเกมคอมพิวเตอร์ วิดีโอเกม จนทำให้ติดเกมกลายเป็นสมาธิสั้นได้ง่าย ส่งผลถึงปัญหาการเรียน ดังนั้นอย่าปล่อยให้ลูกเล่นเกมมาก ถ้าห้ามไม่ได้ควรตั้งกฎกติกากำหนดเวลาเล่นให้ลูกรับรู้ได้ปฏิบัติตามด้วย

Homework : การบ้าน

          การบ้าน จะช่วยให้ลูกมีสมาธิจดจ่อได้ แต่จะทำการบ้านได้ดี มีคุณภาพ จะต้องให้ลูกทำการบ้านในห้องที่เงียบสงบ โดยปิดทีวี หรือไม่ให้มีสิ่งใดมาดึงความสนใจลูก ถ้าลูกทำการบ้านไม่ได้ไม่เข้าใจ ควรเข้ามาสอนลูก

Imagine : จินตนาการ

          จินตนาการ เป็นตัวช่วยสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ทำให้เด็กเกิดสมาธิต่อยอดไปสู่การเรียนรู้ จึงควรส่งเสริมจินตนาการ ด้วยการเล่านิทาน เล่นบทบาทสมมติกับลูก พูดคุยถามไถ่แบบปลายเปิดให้ลูกตอบอิสระ

Jigsaw : ต่อภาพจิ๊กซอว์

          การต่อจิ๊กซอว์เป็นการฝึกสมาธิที่ทำให้เด็กจดจ่ออยู่กับภาพแต่ละชิ้น เพื่อหาที่ลงให้ได้ ทั้งยังฝึกสังเกต ฝึกความอดทน เมื่อต่อสำเร็จเด็กจะภูมิใจ จึงควรให้ลูกได้เล่นต่อจิ๊กซอว์โดยเริ่มจากภาพที่ลูกโปรดปรานได้เลย

Kick out : เตะออก

          การเตะบอล เป็นกีฬาที่เด็กชอบเล่นเพราะได้ใช้ทั้งกล้ามเนื้อขา สายตา และสมาธิจดจ่ออยู่กับลูกฟุตบอลที่กลิ้งเข้ามาหา แล้วพยายามใช้เท้าเตะออก ถ้ามีโอกาสชวนลูกเล่นเตะฟุตบอล โดยโยนบอลให้ลูกหัดเตะกันเลย

Library : ห้องสมุด

          ห้องสมุด คือ แหล่งรวมความรู้อันยิ่งใหญ่ที่ควรชวนลูกไปอ่านหนังสือ เป็นสถนที่ที่เงียบสงบที่สร้างสมาธิให้กับเด็กได้เป็นอย่างดี ทำให้เด็กรู้จักนิสัยค้นคว้าหาความรู้ รู้จักหนังสือดี ๆ เพื่อให้เด็กติดนิสัยรักการอ่าน

Music : ดนตรี

          หาดนตรีช้า ๆ เพลงช้า ๆ ให้ลูกฟัง เพื่อช่วยให้ลูกเกิดสมาธิ การเปิดเพลงเบา ๆ จะเพิ่มความสามารถในการจดจำและเรียนรู้ได้ดี สมองทำงานได้ดี ช่วยจัดลำดับความคิดในสมอง ลูกจะรู้สึกผ่อนคลาย เปิดรับการเรียนรู้ได้ดี

Number : นับเลข

          ฝึกนับเลข 1-10 เพิ่มสมาธิ หรือสอนให้รู้จักจำนวนสอนเขียนเลขโดยไม่จับดินสอ แต่ใช้นิ้วลากไปตามตัวเลข หรือให้หยิบกระดุมแล้วลูกทายกี่เม็ด ถ้าตอบถูกให้เก็บแล้วหยิบใหม่ ถ้าตอบผิดให้บอกจำนวนที่ถูกต้อง

Opportunity : โอกาส

          เปิดโอกาสให้ลูกได้เล่น สำรวจ ทำสิ่งต่าง ๆ ที่สนใจ ทำให้ลูกได้ใช้สมาธิในการสังเกต ทดลอง ทดสอบ ใช้ความคิด ตัดสินใจจัดการกับสิ่งที่ทำ รู้จักเชื่อมโยงกับสิ่งรอบตัว หรือชวนลูกไปฟังเสียงต่าง ๆ นอกบ้าน เป็นต้น

Play : เล่น

          หาของเล่นเสริมสมาธิให้ลูกมีความคิดจินตนาการ เช่น บล็อกไม้ หากระดาษ ดินสอ สีเทียนให้ลูกวาดรูประบายสี แล้วถ้าจะให้ของเล่นลูกควรให้ทีละชิ้น ไม่ควรให้หลายชิ้น เพราะจะทำให้ลูกไม่มีสมาธิกับของเล่น

Quiet : เงียบ

          จัดมุมสงบในบ้านให้ลูกได้เล่น ได้อ่านนิทานให้ลูกฟัง หรือได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยไม่มีเสียงดังรบกวนอยู่ใกล้ ๆ จนลูกต้องเสียสมาธิ พร้อมหลีกเลี่ยงสิ่งเร้ารอบตัวไม่ให้ลูกวอกแวกกับสิ่งอื่น เพื่อให้มีสมาธิมากที่สุด

Rules : กฎระเบียบ

          จัดระเบียบเวลาในบ้านให้ลูกรับรู้เป็นระบบ เช่น เวลาตื่นนอน เวลากิน เวลาเล่น เวลาทำการบ้าน เวลาดูทีวีกับพ่อแม่ เวลาเล่นเกมถ้าลูกอยากเล่นจริง ๆ เวลาเข้านอน โดยเขียนกำหนดเวลาเหล่านี้ไว้บนกระดาษให้ลูกเห็น

Sleep : นอนหลับ

          นอนหลับสนิท คือ การนอนที่มีคุณภาพ และเพียงพอ ซึ่งมีความสำคัญต่อพัฒนาการ พ่อแม่ควรส่งเสริมให้ลูกเข้านอนแต่หัวค่ำ เพื่อช่วยให้ลูกแจ่มใส อารมณ์ดี มีสมาธิในการเรียนรู้ สมองจดจำดี ความคิดสร้างสรรค์

Television : โทรทัศน์

          ไม่ควรให้ลูกนั่งดูทีวี เล่นเกมคอมพิวเตอร์คนเดียวนาน แม้ลูกจ้องอยู่หน้าจอได้นานก็จริงจนทำให้เข้าใจผิดคิดว่าลูกมีสมาธิดี แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะเหล่านี้เป็นสื่อที่เปลี่ยนเร็วทั้งภาพและเสียง ทำให้ลูกสมาธิสั้น

Underline : ขีดเส้นใต้

          การขีดเส้นใต้ คือ การเน้นข้อความสำคัญให้เด่นชัดขึ้น เด็ก ๆ มักใช้ในหนังสือ หรือในสมุดโน้ตที่ได้จดบันทึกการเรียนการสอน ซึ่งการให้ลูกขีดเส้นใต้ข้อความสำคัญ จะช่วยย้ำเตือนให้สมองจดจำได้อย่างมีสมาธิขึ้น

Vision : การมองเห็น

          การมองเห็น คือ หนึ่งในประสาทสัมผัสทั้ง 5 ที่มีความสำคัญต่อเด็ก ช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้จากสิ่งที่เห็น หรือเวลาพูดคุยก็ให้สบตาลูก เพื่อฝึกให้ลูกรู้จักสบตากับผู้อื่น และเกิดสมาธิสนใจผู้ที่มาพูดคุยกับลูกไปด้วย

Whisper : กระซิบ

          การกระซิบจะช่วยเพิ่มสมาธิให้ลูกได้ดี ลูกจะเกิดความรู้สึกตั้งใจฟังในเสียงที่ได้ยินเบา ๆ ข้าง ๆ หู ลูกรู้สึกตื่นเต้น ดังนั้นมาเล่นเกมกระซิบบอกต่อ ๆ กันจากหัวแถวมาหางแถวดูสิว่าลูกจะจดจำข้อความได้มากน้อยแค่ไหน

Xylophone : เครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง

          ควรให้ลูกเล่นเครื่องดนตรีชนิดใดก็ได้ เช่น กลอง ลูกแซก หรือ Xylophone เพราลูกจะเรียนรู้จากการเล่น การเข้าไปเกี่ยวข้อง สัมผัส ทดลองจนรู้เหตุผล เมื่อทำซ้ำ ๆ ลูกก็จะเกิดสมาธิ เกิดความจำ และเรียนรู้ที่ดีด้วย

Yellow : สีเหลือง

          สีเหลือง เป็นหนึ่งในอีกบรรดาสีหลายสี ที่นำมาดึงดูดความสนใจให้ลูกเกิดสมาธิได้ โดยชวนลูกเล่นเกมแยกแยะวัตถุต่าง ๆ ตามสีเดียวกัน ต่อบล็อกตามสี หรือเล่นเกมทายสีบอกสี เพื่อฝึกให้ลูกรู้จักสีต่าง ๆ ให้มากขึ้น ฯลฯ

Zone : แบ่งเป็นเขต, ส่วน

          การแบ่งเขตเป็นสัดเป็นส่วน เช่น การจัดมุมอ่านหนังสือโดยเฉพาะให้ลูก หรือการจัดมุมเล่นของเล่นให้ลูกได้เล่นแล้วรู้จักเก็บ จะช่วยให้ลูกมีโลกส่วนตัวเป็นของตัวเอง และมีสมาธิที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างอิสระขึ้น

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Mother&Care, http://baby.kapook.com
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต