Tuesday, August 14, 2012

ลูกร้องไห้ ... ทำอย่างไรดี?



ในช่วง 3 เดือนแรกของลูกน้อย  บางคนก็ช่างร้องไห้ ร้องได้ร้องดี แต่พ่อแม่บางคนโชคดีที่ลูกไม่ค่อยร้องกวนเลย เด็กบางคนก็ช่างร้องไห้ได้ตรงเวลาเหมือนนาฬิกาปลุกเป๊ะ บางคนกลางวันก็เป็นหนูน้อยแสนดีเลี้ยงง่ายไม่งอแง แต่ถ้าเป็นกลางคืนล่ะ ลูกน้อยเล่นร้องมาราทอน 


คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวล เพราะช่วง 3 เดือนแรกนี้ลูกรักกำลังปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ระบบประสาท ระบบการย่อยอาหารก็ยังอยู่ในชั้นเตรียมอนุบาล กำลังกัดเรียนรู้โลกใหม่ บางทีเลยทำให้หนูน้อยหงุดหงิดขี้โมโหไปนิดเพราะเขายังไม่เข้าใจตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกช่างร้องก็คงต้องทำใจให้เข้าใจและอดทนไว้สักนิด เมื่อหนูน้อยเติบโตขึ้น อาการหงุดหงิดก็จะค่อยๆหายไปใน 3 เดือน ตอนนี้เรามาดูสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เจ้าหนูร้องไห้โยเยกันดีกว่า

หนูร้องเพราะหิว

ถ้า หนูๆ ต้องการนมมากขึ้น หลังจากที่ดูดนมแม่หรือนมขวดแล้ว เมื่อเด็กนอนก็จะตื่นเร็วขึ้นเพื่อกินนมมื้อต่อไป หรือเด็กบางคนเมื่อกินนมหมดขวดแล้วยังไขว่คว้าจะเอาอีกก็แสดงว่ายังไม่อิ่ม เจ้าหนูจะตื่นและร้องเร็วขึ้นเรื่อยๆ วิธีการสังเกตเจ้าตัวน้อยที่ร้องไห้เพราะว่าหิวพอจะสรุปได้ดังนี้
 
ถ้า ลูกร้องมาก ร้องนานถึง 15 นาทีหรือมากกว่านั้น และเมื่อคุณพ่อคุณแม่ลองทบทวนดูแล้วว่าเจ้าหนูน้อยร้องไห้หลังนมมื้อสุดท้าย เกิน 2 ชั่วโมง หรือน้อยกว่า 2 ชั่วโมง (ในกรณีที่หนูน้อยกินนมมื้อก่อนน้อยไป) ก็พิจารณาให้นมอีกได้แล้วและถ้าลูกกินนมแล้วมีความสุข นอนหลับได้อย่างสบายใจ ก็แสดงว่าลูกร้องไห้เพราะ

หนูร้องเพราะไม่สบาย

เมื่อ ลูกน้อยเป็นหวัดคัดจมูกมีอาการไอหรือท้องไส้ไม่ค่อยดีถ่ายเหลวนั้น ลูกก็จะร้องไห้โยเยบ่อย เพราะร่างกายของหนูน้อยไม่อยู่ในสภาพที่สมดุล ไม่สบายกาย โรคที่พบบ่อยในระยะนี้ก็มีเท่านี้ ไม่มีโรครุนแรงอื่นๆ แต่ถ้าหนูน้อยมีอาการที่ผิดปกติไป ก็ควรพาไปพบแพทย์

หนูร้องเพราะผ้าอ้อมเปียกแฉะ

เมื่อหนูน้อยปล่อยอึ ฉี่ออกมาก็คงจะรู้สึกรำคาญเนื้อรำคาญตัวกับการที่มีก้นแฉะๆ อยากให้คุณพ่อคุณแม่มาเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ใหม่ เจ้าหนูน้อยก็เลยร้องไห้ด้วยสาเหตุนี้ แต่ในปัจจุบันคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายเปลี่ยนมาใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเพื่อความ สะดวก ลูกน้อยก็เลยไม่ค่อยร้องไห้กวนให้เปลี่ยนผ้าอ้อมอยู่บ่อยๆ แล้ว เว้นเสียแต่ว่าเจ้าตัวเล็กจะปล่อยอึออกมา หนูน้อยก็ยังต้องการให้คุณมาเปลี่ยนผ้าอ้อมให้อยู่ดี ก็หนูรำคาญตัวอ่ะแม่

หนูร้องเพราะอาหารไม่ย่อย
ถ้า หนูๆ ร้องไห้หลังมื้อนม อาจเป็นไปได้ว่าเป็นเพราะอาหารไม่ย่อย คุณควรจะอุ้มลูกนั่งตรง ตบหลังลูกเบาๆให้หนูๆ เอาลมออกโดยการเรอหรือผายลม บางทีลูกอาจจะเรอและแหวะเอาเมือกนมออกมาด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เลอะเทอะคุณพ่อคุณแม่ก็ควรหาผ้ามาพาดไหล่เสียก่อน

หนูร้องไห้เพราะเพลีย

บาง ทีหนูๆ บางคนก็เพลียเพราะมีคนมาวุ่นวายกับตัวหนูมากไป ส่วนใหญ่ก็ญาติพี่น้องของคุณพ่อคุณแม่ของหนูนั่นแหละ ที่มาแสดงความยินดีและมาเยี่ยมหนูน้อย เมื่อมีคนมาอุ้มมากอด มาจูบหนู วุ่นวายกับหนูมากๆ หนูน้อยก็จะรู้สึกเพลียและหงุดหงิด สุดท้ายก็ปล่อยแง ออกมาดังลั่น หนูน้อยบางคนที่เพลียมากๆ เมื่อหงุดหงิดและร้องไห้แล้วแทนที่จะหลับง่ายๆ บางคนไม่นอนก็มี และถ้าคุณพ่อคุณแม่หรือญาติๆ พยายามพูดด้วย เล่นด้วย กระตุ้นหนูๆ ต่างๆ นานา จะทำให้ยิ่งแย่ไปกันใหญ่ บางคนก็ร้องไห้เสียงดังลั่นจนเหนื่อยเพลียหลับไปเองก็มี เพราะฉะนั้นต้องหัดสังเกตอารมณ์หนูด้วยนะ

โคลิก

หรือจะเรียกว่าร้อง 3 เดือนก็ได้ ใครมีลูกร้องโคลิกถือว่าเจอแจ็กพ็อต เจ้าตัวเล็กจะเริ่มร้องโคลิกตั้งแต่อายุประมาณ 3 สัปดาห์เรื่อยไปจนถึงอายุ 12 หรือ 14 สัปดาห์โน่นแน่ะ และก็ร้องอย่างเป็นเวลาเสียด้วย ถ้าเคยร้องเวลาไหนเจ้าตัวน้อยก็ยังคงร้องไห้เวลานั้นทุกวัน ส่วนใหญ่จะเป็นตอนเย็นๆ โพล้เพล้นั่นแหละ ที่น่าประหลาดใจ คือ เจ้าตัวน้อยเนี่ยสามารถร้องไห้อย่างดุเดือดเลือดพล่าน ปลอบอย่างไรก็ยังร้องอยู่ เผลอๆ ปลอบไปปลอบมาเหลียวมองเวลาผ่านไปถึง 2-3 ชั่วโมงก็มี ไม่ต้องเป็นกังวลไป ที่ลูกร้องไห้แบบนี้ไม่ใช่เป็นเพราะไม่สบายหรือผิดปกติแต่อย่างใด

พอจะรู้สาเหตุหลักๆ ที่เจ้าตัวน้อยร้องไห้กันแล้ว คราวนี้เรามาดูเทคนิควิธีปลอบลูก(ช่าง)ร้องไห้ให้อยู่หมัดกันดีกว่า

วีธีปราบเซียนร้องไห้

1. โอบกอดลูกไว้ในอ้อมอก บางครั้งสัมผัสแห่งรักของแม่ก็ทำให้ลูกสงบเสียงลงได้บ้าง โดยอุ้มลูกให้ลูกได้ซุกหน้าไว้กับอกหรือไหล่ของคุณพ่อคุณแม่

2. แกว่งไกวเป็นจังหวะ โดยอุ้มลูกไว้ในอ้อมแขน และอาจเห่กล่อมปลอบโยน บางทีอาจจะทำให้ลูกของคุณสงบและหลับลงได้

3. ห่อตัวลูก ห่อลูกด้วยผ้าผืนเล็กๆ เก็บชายตรงปลายเท้าลูกให้เรียบร้อยจะทำให้ลูกของคุณรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย เหมือนอยู่ในที่ที่แคบๆแบบในท้องแม่ ไม่รู้สึกเคว้งคว้าง โอบอุ้มลูกไว้ในอ้อมแขนจนเขารู้สึกเป็นสุข ถ้าลูกหลับก็ปล่อยให้แกหลับไปโดยไม่ต้องแก้ห่อผ้าที่ห่อหุ้มตัวลูกออก

4. ตบเบาๆ เป็นจังหวะและลูบหลังหรือท้อง จะทำให้เจ้าตัวน้อยสงบลงได้ และช่วยทำให้ลูกเรอออกมาได้อีกด้วย สัมผัสจากมือของคุณจะทำให้ลูกรู้สึกสบายและมีความสุขได้
 
5. ให้ลูกดูดอะไรสักอย่าง เพราะวัยนี้ลูกยังมีความสุขกับการดูด อาจจะเป็นหัวนมหลอกหรือให้นม(แต่อย่าให้มากไป ให้พอลูกหลับก็พอ) วิธีนี้ก็พอจะปลอบให้ลูกสงบลงได้ และบางทีก็ทำให้ลูกเพลินจนหลับไปเลย แต่ไม่แนะนำให้ทำเสมอจนติด อาจจะใช้แก้ปัญหากรณีที่ทำอย่างไรลูกก็ไม่หยุดร้อง

6. เบี่ยงเบนความสนใจของลูกอย่างน้อยก็ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เช่นชี้ชวนให้ลูก มองของที่สีสันสดใส อย่างเช่น เสื้อผ้า รูปภาพ กระจก หรือของเล่นมีเสียง

ได้ เทคนิควิธีเล็กๆ น้อยๆ ในการปลอบลูกร้องไห้ไปแล้ว ถ้าอย่างไรก็ลองทำดู  คงจะมีสักวิธีที่ทำแล้วช่วยให้เจ้าตัวเล็กหยุดร้องไห้ได้บ้างแหละน่า

คัดลอกข้อมูลส่วนใหญ่จาก  รักลูก

No comments:

Post a Comment