Wednesday, October 24, 2012

ทำอย่างไร...เมื่อลูกร้องดิ้นอาละวาด?



หลักการจัดการเวลาลูกร้องดิ้นอาละวาด ก็ไม่ต่างกับหลักการปรับพฤติกรรมที่มีปัญหาอื่นๆ คือ เมื่อเราไม่ต้องการให้หนูทำพฤติกรรมใด เราก็ต้องไม่ให้ความสนใจกับพฤติกรรมนั้น

เวลาพาลูกไปเที่ยวนอกบ้าน มักเจอพฤติกรรมร้องดิ้นอาละวาดเสมอ ร้องไห้งอแงตลอด แต่จะให้เขาอยู่แต่บ้านก็กลัวเหงา ควรต้องทำอย่างไรดี ยอมรับค่ะว่าท้อ เห็นแม่คนอื่นพาลูกเที่ยว ไม่เห็นงอแงขนาดนี้ หรือควรรอเขาโตกว่านี้ค่ะ ตอนนี้เขาอายุ 1 ขวบ 2 เดือนค่ะ

การร้องดิ้นอาละวาด เป็นปัญหาพฤติกรรมที่พบบ่อยโดยเฉพาะช่วงวัยเตาะแตะ 1 - 3 ขวบ มักเกิดเมื่อหนูต้องการจะเอาชนะ หรืออยากได้ อยากทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่ห้าม โดยทำได้ตั้งแต่ตีอกชกหัวตัวเอง ทุ่มตัวลงกับพื้น กรีดร้องปานว่าจะขาดใจ จนพ่อแม่รวมทั้งผู้ใหญ่รอบข้างมักจะต้องยอมแพ้ด้วยการตามใจ เพราะทนฟังเสียงร้องไห้ของแก้วตาดวงใจไม่ไหว เมื่อหนูทำสำเร็จสักครั้ง หนูก็จะเรียนรู้ว่ามันได้ผล และพฤติกรรมนี้ก็จะเกิดขึ้นอีกบ่อยๆ
 
หลักการจัดการเวลาเด็กร้องดิ้นอาละวาด ก็ไม่ต่างกับหลักการปรับพฤติกรรมที่มีปัญหาอื่นๆ คือ เมื่อเราไม่ต้องการให้หนูทำพฤติกรรมใด เราก็ต้องไม่ให้ความสนใจกับพฤติกรรมนั้น แต่ขณะที่เราแสดงให้หนูเห็นว่าผู้ใหญ่ไม่สนใจ ก็ต้องแน่ใจว่า เด็กอยู่ในที่ๆ ปลอดภัย ไม่เกิดการบาดเจ็บ หรือข้าวของเสียหาย
 
...ถ้าเกิดอาการนี้ที่บ้าน คุณพ่อคุณแม่ก็คงสามารถจัดการได้ไม่ยาก แต่หากเกิดในที่อื่นๆ เช่น ที่สาธารณะ ในห้าง ในร้านอาหาร ต่อหน้าผู้คนมากมาย ก็คงไม่สามารถ
แสดงความไม่สนใจหรือเดินหนีตรงนั้นได้ แต่สามารถจัดการได้โดยอุ้มเด็กไปที่ที่เงียบสงบ เช่น ในรถ ที่บันไดหนีไฟ หรือมุมของห้างที่มีคนน้อย และให้หนูได้ร้องจนเต็มที่ จนหนูเหนื่อยและหยุดเอง

...ผู้ใหญ่อาจบอกว่า แม่รู้ว่าหนูโกรธ หนูร้องออกมาได้ลูก พอลูกร้องพอแล้ว เราจะเข้าไปเที่ยวในห้างต่อ แต่ถ้าหนูไม่หยุดร้องก็ไม่เป็นไร เราก็กลับบ้านกันเลย โดยไม่ใช้น้ำเสียงที่เกรี้ยวกราด หรืออ่อนโยนเกินไป แต่เลือกใช้น้ำเสียงที่นิ่งไม่แสดงอารมณ์ และมั่นคง เพื่อให้หนูรู้ว่า ร้องยังไงผู้ใหญ่ก็ไม่เปลี่ยนใจ” 

ถ้าลูกโตพอฟังรู้เรื่องแล้ว ควรต้องพูดกับลูกอย่างไรคะ เพื่อให้ลูกเลิกร้องดิ้นอาละวาดเวลาอยากได้โน่นนี่ แนะนำทีค่ะ จะได้เตรียมไว้เวลาเจอพฤติกรรมดังกล่าว
 
นอกจากวิธีพื้นฐานดังกล่าว ยังมีเคล็ดลับการรับมือปัญหาลูกร้องดิ้นอาละวาดที่น่ารู้อีกหลายข้อ คือ เริ่มตั้งแต่การตัดไฟตั้งแต่ต้นลม เนื่องจากสาเหตุส่วนใหญ่ของอาการเด็กร้องดิ้นอาละวาด คือถูกขัดใจ ถูกห้าม หากป้องกันหรือลดโอกาสเกิดเรื่องที่ต้องโดนห้ามบ่อยๆ ก็จะเกิดพฤติกรรมดังกล่าวน้อยลงด้วย เช่น พยายามเก็บสิ่งที่เราไม่ให้เล่น เช่น ข้าวของเฟอร์นิเจอร์ที่แตกหักง่าย หรือเป็นอันตรายให้พ้นสายตาเด็ก หรืออีกนัยหนึ่ง ถ้าหนูไม่เห็น หนูก็ไม่อยากเล่น แม่ก็ไม่ต้องห้าม
 
ต่อมา คือ การเบี่ยงเบนประเด็น ก่อนที่หนูจะร้องดิ้นอาละวาด มักเริ่มมีเค้าลางมาก่อน เช่น เริ่มหน้าบูด เบะปาก ชึ่งถ้าตรงจุดนั้น เราเบี่ยงเบนความสนใจของหนูไปหาสิ่งอื่น กิจกรรมอื่นได้ทัน ก็จะลดอารมณ์ที่กำลังเริ่มคุกรุ่นของหนูได้ เช่น ถ้าหนูน้อย 2 ขวบ เดินไปจะคว้าแจกันใบสวย แม่อาจชวนหันไปเล่นอย่างอื่นแทน เช่น โอ๊ะ อันนั้นไม่ได้ลูก แจกันใบนี้มันนั๊กหนัก เดี๋ยวทับตัวหนู แต่ตะกร้าใบนี้เล่นได้นะ สีชมพูสวยกว่าอีกด้วย ไปเอาตะกร้าไปเก็บดอกไม้หน้าบ้านกันดีกว่า
 
...อีกวิธีคือ การให้ทางเลือกหนูบ้าง หนูน้อยวัยเตาะแตะจะมีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก ไม่ชอบถูกสั่ง ดังนั้น ถ้าผู้ใหญ่ให้หนูได้มีโอกาสเลือกบ้าง หนูก็จะอยากทำมากขึ้น เช่น ถ้าหนูไม่ชอบแปรงฟัน และอาบน้ำ อย่าบอกหนูว่า หนูต้องอาบ หรืออย่าถามว่า หนูจะอาบหรือไม่อาบ  แต่อาจให้หนูเลือกว่า หนูจะอาบน้ำก่อนหรือ แปรงฟันก่อนดี หรือวันนี้หนูจะบีบยาสีฟันเองหรือให้แม่บีบ หรือวันนี้หนูจะอาบน้ำขันสีเขียวหรือสีส้มดี ถ้าหนูรู้สึกว่าหนูได้เลือก นี่เป็นการตัดสินใจของหนู ไม่ใช่แม่ หนูก็จะร่วมมือมากขึ้น
 
...การจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นั้น ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าใจ เพียงแต่เมื่ออยู่ในเหตุการณ์จริง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มักใช้อารมณ์เป็นตัวนำ และทำให้พลาดโอกาสที่จะแก้ไข ดังนั้น ขอเพียงคุณพ่อคุณแม่มองให้ออกว่า หนูร้องดิ้นอาละวาดเพราะอะไร และจะสงบอารมณ์นั้นของลูก รวมทั้งระงับอารมณ์โกรธของตัวเราเองได้อย่างไร  โดยไม่ต้องตามใจ และลูกรับรู้ว่าเราเข้าใจอารมณ์ของเขา แต่ไม่ยอมเปลี่ยนใจกับสิ่งที่เราห้าม สุดท้ายพฤติกรรมนั้นก็จะหายไป และความรู้สึกของทั้งเราและลูกก็ยังดีต่อกันอยู่
 
...แต่หลังจากนั้นแน่นอนว่า เจ้าตัวน้อยแสนฉลาดของคุณก็อาจจะคิดหาวิธีเอาชนะคุณใหม่ๆ มาอีกเรื่อยๆ ซึ่งคุณก็คงต้องเตรียมหาวิธีรับมือเช่นกันนะคะ

พญ.นันทกรณ์ เอื้อสุนทรวัฒนา
กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม / M&C แม่และเด็ก
ขอขอบคุณ โรงพยาบาลปิยะเวท

 

No comments:

Post a Comment