Sunday, November 11, 2012

ลูกจ๋า...มาอ่านหนังสือกัน



หนังสือ คือ เพื่อน คือ คลังปัญญา คือ กุญแจที่ไขประตูสู่โลกแห่งความรู้ แต่จะทำอย่างไรลูกจึงจะมีนิสัยรักการอ่าน จะเริ่มปลูกฝังลูกเมื่อไรดี พาลูกไปอ่านหนังสือนอกบ้านดีไหม คำถามคาใจเหล่านี้ มีคำตอบค่ะ

"เริ่ม" อย่างไร ให้ลูกรักการอ่าน
พญ.เสาวภา วชิรโรจน์ไพศาล กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น แนะนำว่า พ่อแม่ควรเริ่มต้นตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ โดยเริ่มจากพูดคุยกับลูกให้มากๆ เวลาจะทำอะไรก็ให้พูด ให้คุยกับลูกไปด้วย เช่น เวลาพาลูกไปอาบน้ำก็บอกลูกว่า ไปอาบน้ำป๋อมแป๋ม พูดเป็นวลีสั้นๆ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ว่าทำอะไร เด็กจะได้รู้จักคำศัพท์มากๆ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการพูดและการอ่านต่อไป 

แต่บางครั้งพ่อแม่ก็ละเลยจุดนี้ไป เช่น ลูกคลานอยู่ แล้วจะเอามือไปแหย่ปลั๊กไฟ ก็วิ่งไปจับลูกออกมา โดยไม่ได้พูด ไม่ได้บอกอะไร เด็กก็จะไม่เกิดการเรียนรู้ 
 
อีกวิธีหนึ่ง คือ ให้เด็กดูภาพ เช่น จากหนังสือประเภทป๊อปอัพ หรือเรียนรู้จากตุ๊กตาสัตว์ต่างๆ ที่สามารถจับต้องได้ หากเป็นนิทาน ควรเป็นนิทานสั้นๆ มีเหตุการณ์น้อยๆ 

จิม เทรลิส (Jim Trelease) นักการศึกษาผู้พยายามสื่อเรื่องการอ่านหนังสือให้เด็กฟัง กล่าวถึงการศึกษามากมายที่พิสูจน์แล้วว่า การอ่านหนังสือให้เด็กฟัง จะเป็นการเพิ่มพูนคำศัพท์ กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เด็กมีความสนใจยาวนานขึ้น เพิ่มพูนพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็ก ข้อสำคัญ คือ สร้างนิสัยรักการเรียนและการอ่านของเด็ก รวมถึงสร้างสายสัมพันธ์ทางจิตใจระหว่างพ่อแม่และลูก ที่สำคัญการอ่านหนังสือให้เด็กฟังทำให้เด็กฉลาด และเมื่อเขาฉลาด ก็จะชอบอ่านชอบเรียน เมื่อเขาชอบเรียน เขาก็อยากเรียนสูงๆ และเมื่อเรียนสูงก็จะได้งานที่ดีทำ ซึ่งเป็นผลมาจากการรักการอ่านทั้งสิ้น

และจากการศึกษายังพบอีกว่า การได้ฟังเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นจากการเล่าของพ่อแม่ จะทำให้เด็กสนใจและรู้สึกสนุกสนาน ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีในการสั่งสมคำศัพท์ให้แก่เด็กอีกด้วย

"อ่าน" ให้ลูกฟัง เริ่มเมื่อไรดี
พ่อแม่หลายท่านคงจะเกิดคำถามในใจว่า ควรจะอ่านหนังสือให้ลูกฟังเมื่ออายุเท่าไร คำตอบก็คือ ยิ่งเล็กมากเท่าไรก็ยิ่งดี นักจิตวิทยาเชื่อว่า ถ้าพ่อแม่พูดกับลูกได้ ก็ควรอ่านให้ลูกฟังได้ และสามารถอ่านให้ลูกฟังได้ทุกคืน ประมาณ 10-15 นาที หากทำเช่นนี้ พ่อแม่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในความฉลาดของลูกอย่างไม่น่าเชื่อค่ะ 

เทรลิส เชื่อว่าพ่อแม่สามารถอ่านหนังสือให้ลูกฟังได้จนอายุ 11-12 ปี โดยยกตัวอย่างของพ่อแม่คู่หนึ่งที่มีลูกปัญญาอ่อน แต่ทั้งพ่อและแม่ไม่ยอมทิ้งความหวัง จึงอ่านหนังสือให้ลูกฟังทุกวัน วันละสิบเล่ม ปรากฏว่า ลูกของเขาสามารถอ่านหนังสือได้เอง เมื่ออายุเพียง 5 ขวบ 

แต่จริงๆ แล้วพ่อแม่ไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือให้ลูกฟังถึงวันละสิบเล่ม และไม่จำเป็นต้องอ่านตอนก่อนนอนเสมอไป อ่านเวลาใดก็ได้ ข้อสำคัญ คือ อย่าบังคับ เพราะธรรมชาติเด็กๆ เขาจะชอบฟังนิทานอยู่แล้ว การที่พ่อแม่หาหนังสือมาอ่านให้ลูกฟัง จะเป็นการสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นระหว่างพ่อแม่ลูกค่ะ
พญ.เสาวภา กล่าวว่า พ่อแม่สามารถเริ่มปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้ลูกได้ตั้งแต่วัย 8-9 เดือน โดยการพูดคุยกับลูกให้มากๆ พ่อแม่ยุคปัจจุบันอาจจะทำงานมาก จนไม่ค่อยมีเวลาให้ลูก กระนั้นก็อย่าละเลยการเล่นและการพูดคุยกับลูก อย่างน้อยเพียงวันละ 1 ชม. หลังกลับจากที่ทำงาน แล้วใช้เวลาอยู่กับลูก พูดคุย และอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ก็จะช่วยได้เยอะค่ะ

"ทำ" อย่างไรให้เด็ก 1-3 ปี สนใจหนังสือ
พญ.เสาวภา แนะนำว่า การเล่านิทานให้ลูกฟังเป็นวิธีง่ายๆ ที่ได้ผลดี เล่าจบแล้วอาจจะแสดงเป็นตัว
ละครในเรื่องที่เล่า พ่อแม่ลูกเล่นด้วยกัน หรือเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาเองก็ได้ ที่สำคัญเวลาเล่านิทาน อยากให้ดึงอารมณ์ของเด็กออกมาด้วย เช่น เล่าว่าเด็กสองคนเล่นด้วยกัน แต่เด็กคนหนึ่งแกล้งเพื่อน เพื่อนจึงโกรธและเสียใจ ไม่เล่นด้วย เด็กคนที่แกล้งรู้สึกสำนึกผิดจึงไปขอโทษ และเด็กทั้งสองก็เล่นด้วยกันต่อไป 

จากนั้นลองสมมติให้เป็นลูกเล่นกับเพื่อนดูบ้าง หากลูกทำอะไรไม่ดีลงไป เพื่อนจะเสียใจไหม เพื่อนจะอยากเล่นด้วยไหม พยายามตั้งคำถาม ดึงความรู้สึกของลูกออกมา ซึ่งจะเป็นการฝึกให้ลูกได้หัดคิด
ที่สำคัญพยายามมีบทสรุปของแต่ละเรื่องด้วย ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะปลูกฝัง และทำให้ลูกได้เรียนรู้กระบวนการคิด วิเคราะห์ และหาข้อสรุป 

เด็กวัยนี้มักจะชอบให้อ่านหรือเล่านิทานเรื่องเดิมให้ฟังซ้ำหลายๆ รอบ พ่อแม่อาจบอกลูกว่าเหนื่อยแล้ว ให้ลูกเล่าให้แม่ฟังบ้าง เป็นการสื่อสารสองทาง เพื่อที่พ่อแม่จะได้สังเกตว่า ลูกมีพัฒนาการไปถึงไหนแล้ว เพราะการเล่าให้ลูกฟังอย่างเดียว เราอาจจะไม่รู้เลยว่าลูกมีพัฒนาการไปมากน้อยเพียงใด 

ปกติเด็กวัยนี้จะช่างสงสัย ถามโน่นถามนี่อยู่แล้ว บางเรื่องที่พ่อแม่ตอบไม่ได้ ให้บอกลูกว่า เดี๋ยวเราไปหาคำตอบในหนังสือกันดีกว่า แล้วก็พาลูกไปห้องสมุด ไปร้านหนังสือ เพื่อไปค้นคำตอบกัน ลูกจะเกิดการเรียนรู้ว่า เมื่ออยากรู้เรื่องอะไร สามารถหาคำตอบได้จากหนังสือ เป็นการวางพื้นฐานรักการอ่าน เมื่อลูกโตขึ้นก็จะส่งผลให้ลูกรักที่จะอ่านหนังสือ และชอบค้นคว้าหาคำตอบจากหนังสือในที่สุด 

Mr.Robert D. Steell นักวิชาการสิ่งแวดล้อมการศึกษา ของสมาคมตาวิเศษเล่าไว้ว่า จากประสบการณ์ตรงของตนพบว่าการใช้นิทานเป็นสื่อ เป็นวิธีที่ได้ผลมาก โดยมีกลเม็ดจูงใจที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็เล่านิทานด้วยท่าทางที่น่าติดตาม แต่เล่าไม่จบเป็นการหลอกล่อให้เด็ก ไปหาอ่านตอนจบจากหนังสือเอง บ้างก็ใช้สื่อพิเศษ เช่น พับกระดาษเป็นรูปสัตว์ต่างๆ และสอดแทรกตัวอย่างหนังสือนิทาน ทำให้เด็กสนใจติดตามอ่านหนังสือเล่มนั้น

ประสบการณ์การอ่านนอกบ้านดีอย่างไร
การพาเด็กไปอ่านหนังสือที่ห้องสมุด พาไปอุทยานการเรียนรู้ รวมไปถึงกิจกรรมนิทานในสวน หรือแม้แต่การทำหนังสือเอง มีส่วนช่วยส่งเสริมให้เด็กมีความรู้สึกที่ดีต่อหนังสือ และรักการอ่านในที่สุดโดย พญ.เสาวภา ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า 

การพาเด็กออกไปอ่านหนังสือ หรือทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่านนอกบ้าน เป็นเรื่องที่ดี หากเป็นกิจกรรมที่ทั้งพ่อแม่และลูกมีส่วนร่วมด้วยกันทั้งหมดได้ยิ่งดี เพราะเป็นการเปิดสังคมของลูกให้กว้างขึ้น ทั้งทางด้านการอ่านของลูกเอง รวมถึงพัฒนาการทางสังคมของลูกด้วย 

กิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยเลย คือ การช่วยกันทำหนังสือเองภายในครอบครัว แม้เด็กเล็กๆ จะไม่สามารถมีส่วนร่วม ในเนื้อหาที่เป็นเรื่องราวมากนัก ก็อาจจะให้เด็กวาดรูปอะไรง่ายๆ แล้วระบายสีตามจินตนาการของเขาแทน ให้เขาช่วยในขั้นตอนง่ายๆ ที่สามารถทำได้ เช่น ทากาว ก็จะทำให้เด็กรู้สึกสนุก มีความรักหนังสือและรักการอ่านมากขึ้น 

อีกเรื่องหนึ่งที่คุณหมอย้ำ คือ อยากให้เด็กเรียนรู้ด้วยความสนใจ และความรักอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพราะโดนบังคับ หรือรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ เพราะถ้าเด็กรู้สึกว่าทำไปตามหน้าที่ จะไม่ก่อให้เกิดความชอบการอ่านอย่างแท้จริง เด็กจะอ่านแบบท่องจำ หรือทำการบ้านแบบให้เสร็จๆ ไปเท่านั้น

และพ่อแม่ควรสร้างความรู้สึกว่าหนังสือเป็นเพื่อนที่ดี และให้ความสุขสนุกสนาน สามารถตอบคำถามที่เราอยากรู้ได้ทั้งหมด เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ซึ่งจะทำให้ลูกเกิดนิสัยรักการอ่านในที่สุดได้ค่ะ

โดย: กุมภการ
แหล่งที่มา  http://www.momypedia.com / นิตยสารรักลูก


No comments:

Post a Comment