Friday, November 16, 2012

ไม่ควรหลอกลูกให้กลัว พัฒนาการของลูกถดถอย



"อธิบาย ในสิ่งที่เราไม่อยากให้ลูกทำอย่างใจเย็น ด้วยเหตุและผล เช่น แทนที่จะบอกลูกว่า รีบนอนได้แล้วเดี๋ยวผีมาหลอก เปลี่ยนใหม่เป็นว่า หนูควรรีบนอนได้แล้ว เพราะพรุ่งนี้หนูจะต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปโรงเรียนให้ทันเวลา"

เคยไหมที่คุณพ่อคุณแม่บอกลูกว่า

- ถ้าไม่เชื่อ เดี๋ยวให้ตำรวจมาจับนะ
- อย่านอนกิน เดี๋ยวเป็นงูนะ
- รีบนอนได้แล้ว เดี๋ยวผีมาหลอกนะ
- ห้ามเล่นซ่อนแอบตอนกลางคืนเดี๋ยวผีมาเอาตัวไป ฯลฯ

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจเคยพลั้งเผลอพูดจาหลอกลูกทำนองนี้กันอยู่บ้าง ด้วยไม่รู้จะจัดการกับอาการดื้อดึงของเจ้าตัวเล็กอย่างไร หรือทำตามความเคยชินที่ปู่ย่าตายายก็เคยเลี้ยงกันมาแบบนี้ไม่เห็นจะเป็นอะไร

เรื่องจริงของการหลอก

ความจริงแล้ว การหลอกลูกให้กลัว หรือให้เชื่อไปตามสิ่งที่เราบอกนั้น แม้จะทำให้สถานการณ์บางอย่างผ่านพ้นไปได้ โดยลูกอาจจะยอมนอน เพราะกลัวผีมาหลอก หรืออาจจะหยุดร้องเพราะกลัวตำรวจมาจับ

แต่สิ่งหนึ่งที่ฝังลงไปในความรู้สึกของลูก คือความรู้สึกกลัวอย่างไร้เหตุผลในขณะที่ เหตุผล คือสิ่งที่พ่อแม่ต้องปลูกฝังลูกตั้งแต่วัยนี้ด้วยเช่นกันเพื่อให้เขาเติบโต เป็นผู้ใหญ่ที่มีเหตุผลและมีสมดุลทางอารมณ์ ดังที่ ศ. เกียรติคุณ พญ.ชนิกา ตู้จินดา ได้เคยบอกไว้ว่า

ในบรรดาความรู้สึกต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อความเข้มแข็งของเด็กคือความกลัว (FEAR) ซึ่งก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในจิตใจ ว้าวุ่น หวาดกลัว ไม่มั่นใจในตัวเอง และพาลเป็นผลเสียต่อสุขภาพ จึงต้องพยายามเลี้ยงลูกอย่าให้เป็นคนขลาด กลัวอะไรโดยไม่มีเหตุผล

ดังนั้นการหลอกให้ลูกกลัวอย่างไร้เหตุผล หรือกลัวในสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องกลัว จึงเป็นเสมือนการตอกย้ำให้พัฒนาการทางด้านอารมณ์จิตใจของลูกย่ำอยู่กับที่ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีพ่อแม่คนไหนต้องการให้เป็นเช่นนั้น

ผลจากการถูกหลอกให้กลัว...อย่างไร้เหตุผล

แน่นอนว่า ความกลัวอย่างไร้เหตุผล ส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านอารมณ์และจิตใจของลูกโดยตรง โดยเฉพาะลูกวัยที่จินตนาการกำลังเบ่งบาน ทำให้เมื่อไรที่เขารู้สึกกลัว ความกลัวนั้นจะฝังแน่นในความรู้สึกมากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า และด้วยความอ่อนด้อยประสบการณ์ ทำให้การใช้เหตุผลของลูกยังไม่ดีพอ โอกาสที่ดีกรีความกลัวจะพลุ่งพล่านจึงมีมากขึ้น

หากเราหลอกให้ลูกกลัวอย่างไร้เหตุผล ความกลัวนี้จะติดไปจนกระทั่งเขาโต และกลายเป็นผู้ใหญ่ที่กลัวในสิ่งที่ไม่น่าจะกลัว เช่นเดียวกับที่ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

เป็นการสร้างนิสัยให้เด็กขาดการใช้ความคิดไตร่ตรอง ใคร่ครวญหาความจริงด้วยเหตุผล ทำให้เสียบุคลิกภาพ ยิ่งไปกว่านั้น หากลูกมีความกลัวอย่างรุนแรง เมื่อต้องอยู่ในภาวะเช่นนั้นนาน ๆ อาจทำให้เกิดอาการทางประสาทได้ เช่น เด็กที่กลัวความมืด หากให้อยู่ในห้องมืดคนเดียว จะเกิดความเครียด นอนไม่หลับในเวลากลางคืน หัวใจจะเต้นเร็ว ในสมองจะจินตนาการไปต่าง ๆ นานา และสามารถหวีดร้องได้เมื่อใบไม้ใบหนึ่งปลิวมาปะทะหน้าต่าง ทั้ง ๆ ที่ในความมืดนั้นไม่มีอันตรายแต่อย่างใด ดังนั้น การช่วยให้เด็กเลิกกลัวอย่างไม่มีเหตุผลจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะจะช่วยพัฒนาการใช้เหตุผลของเด็ก ให้รู้จักคิดใคร่ครวญ พิสูจน์ความจริงก่อนตอบสนอง เมื่อเติบโตขึ้นก็จะเป็นคนที่มีเหตุผล ไม่กลัวสิ่งใดง่าย ๆ ทั้งเป็นการช่วยทำให้เด็กไม่หลงเชื่อสิ่งใดอย่างง่าย ๆ เพียงเพราะรู้สึกกลัวอย่างไม่มีเหตุผล

อย่างไรก็ตาม ความกลัวจะส่งผลดีแก่เรา หากเรากลัวอย่างมีเหตุผล กลัวในสิ่งที่ควรกลัว เช่น หากกลัวอุบัติเหตุ เราจะทำสิ่งต่างๆ ด้วยความไม่ประมาท เป็นต้น ความกลัวอย่างมีเหตุผลจะช่วยให้เราแสดงพฤติกรรมที่ดีและเหมาะสมออกมา

ไม่ให้หลอก แล้วต้องทำอย่างไร

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่เคยหลอกลูกให้กลัวไปแล้ว ก็ยังไม่สายเกินไป หากคิดจะปรับท่าทีเสียใหม่ และตั้งสติก่อนจะเอื้อนเอ่ยคำหลอกใดๆ แก่ลูก เรามาดูกันว่าพอจะมีวิธีไหนบ้างที่ช่วยให้เราเลี่ยงการหลอกลูกอย่างไร้ เหตุผลมาเป็นใช้เหตุผลมากขึ้น

ตั้งสติสักนิดก่อนคิดจะหลอกลูกให้กลัว

ทุกครั้งก่อนที่จะพลั้งปากหลอกลูก ตั้งสติสักนิด ว่าเราต้องการให้ลูกเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีเหตุผลหรือว่า เป็นผู้ใหญ่ที่กลัวไปหมดทุกเรื่อง

อธิบายให้ลูกเข้าใจด้วยเหตุและผล

อธิบายในสิ่งที่เราไม่อยากให้ลูกทำอย่างใจเย็น ด้วยเหตุและผล เช่น แทนที่จะบอกลูกว่า รีบนอนได้แล้วเดี๋ยวผีมาหลอก เปลี่ยนใหม่เป็นว่า หนูควรรีบนอนได้แล้ว เพราะพรุ่งนี้หนูจะต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปโรงเรียนให้ทันเวลา ถ้าหนูนอนดึกไปกว่านี้ หนูจะนอนไม่พอ พอถึงเวลาตื่นทำให้ไม่อยากตื่น อารมณ์ไม่แจ่มใส ที่สำคัญจะทำให้หนูไปโรงเรียนไม่ทันเวลา เป็นต้น

พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่กลัวอย่างไร้เหตุผล

ลูกวัยนี้เป็นวัยแห่งการเรียนรู้และเลียนแบบพฤติกรรมจากคนใกล้ชิด โดยเฉพาะพ่อแม่ การเป็นแบบอย่างที่ดี ใช้เหตุผลในการดำเนินชีวิต จะช่วยให้ลูกซึมซับรับรู้เรื่องเหตุและผลมากขึ้น และไม่กลัวอะไรๆ อย่างไร้เหตุผลได้ โดยการให้เหตุผลแก่ลูกว่า เหตุใดเราจึงควรกลัว หรือไม่ควรกลัวสิ่งต่างๆ เช่น ทำไมเราถึงสมควรกลัวงูมากกว่าผี นั่นเป็นเพราะเรารู้ว่างูสามารถกัดทำร้ายเราจนถึงแก่ชีวิตได้ ส่วนผีนั้นเราไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีจริงหรือไม่ และถึงแม้ว่าพิสูจน์ได้ว่ามีจริงก็ไม่มีเหตุอันใดที่จะทำให้เขามาทำร้ายเรา เป็นต้น

แก้ไขความเข้าใจผิด หากผู้ใหญ่ในบ้านหลอกลูกให้กลัว

หากคนที่หลอกลูกให้กลัวอย่างไร้เหตุผลเป็นสมาชิกคนอื่นๆ ในบ้าน เช่น ปู่ย่าตายายจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องอธิบายให้ท่านฟังว่าเพราะ เหตุใดจึงไม่ควรหลอกหลานเช่นนั้นที่สำคัญคือ ต้องแก้ไขความเข้าใจผิดให้แก่ลูกด้วย เช่น ที่คุณยายบอกว่า ไม่ให้หนูเล่นซ่อนแอบตอนกลางคืน เพราะอาจถูกผีจับตัวไป ที่จริงแล้ว ไม่มีผีที่ไหนมาจับตัวลูกไปได้ แต่คุณยายพูดไปอย่างนั้น เป็นเพราะห่วง กลัวว่าลูกจะไปเล่นไกลหูไกลตาและหลงหายไปมากกว่า เป็นต้น

คราวนี้คงพอจะมีข้อมูลสำหรับการปรับทิศเปลี่ยนทาง เสริมสร้างทักษะการใช้เหตุผลให้ลูกแทนการหลอกให้ลูกกลัวไปวันๆ กันได้บ้างนะคะ อ้อ ...แล้วอย่าลืมว่า หากเราต้องการให้ลูกเติบโตทางความคิด มีความมั่นคงทางอารมณ์ มีความสามารถในใช้เหตุผลได้อย่างดี นอกจากเราจะต้องปลูกฝังนิสัยให้ลูกค่อยๆ เลิกกลัวในสิ่งที่ไร้เหตุผลแล้ว คุณพ่อคุณแม่และทุกคนในบ้านก็ควรจะลาขาดจากพฤติกรรมหลอกลูกให้กลัวไปเลยได้ ยิ่งดี

ที่มา: เว็บไซต์ Momypedia / http://www.tinyzone.tv



No comments:

Post a Comment