Monday, February 4, 2013

"รัก" การฟัง สร้างพัฒนาการสมองลูกรัก



ฟัง (แม่พูด) ไม่ฟัง (ลูกพูด) ฟัง (แม่พูด) ไม่ฟัง (ลูกพูด) ฟัง (แม่พูด) ไม่พัง (ลูกพูด) ….ฟังแม่เดี๋ยวนี้นะน้องเอิร์น…!!!”  ถ้าคุณแม่ถึงกับต้องใช้วิธีบังคับให้ลูกฟังเมื่อโตขึ้น

กรุณาฟังๆ พ่อแล้วจะบวกจะลบก็ตามใจ ถ้าลูกมีเวลา พอให้รบกวนได้ ช่วยฟังความในใจ สักนิดนึงถ้าคุณพ่อ ถึงกับต้องใช้วิธีอ้อนวอนให้ลูกฟังเมื่อโตขึ้น

จะง่ายกว่าไหมถ้าไม่ต้องรอให้ลูกโตขึ้น แต่ส่งเสริมให้ลูกรู้จักฟังตั้งแต่ 365 วันในช่วงวัยเบบี๋นี้ที่สมองกำลังเติบโตและพัฒนา ซึ่งต้องการอาศัย การฟังเป็นพื้นฐานสำคัญอันดับแรกที่ช่วยให้ลูกเรียนรู้โลกรอบตัวค่ะ

Start…listen for Brain
เพราะการฟัง หรือ สุตตะ คำย่อ คือ สุ (สุ จิ ปุ ลิ = ฟัง คิด ถาม เขียน) ถือเป็นหนึ่งในหัวใจนักปราชญ์ของเด็กฉลาดรอบรู้ ที่สามารถส่งเสริมควบคู่ไปกับพัฒนาการด้านอื่นของลูกได้ เพราะสมองส่วนการได้ยินทำงานแล้วตั้งแต่ตั้งครรภ์ ทำให้ลูกวัยแรกเกิดสามารถได้ยินเสียง มีปฏิกิริยากับเสียง หาแหล่งกำเนิดเสียง กวาดสายตาหาที่มาของเสียง สามารถแยกแยะระดับเสียง ความดังของเสียงได้ทันที ยิ่งถ้าได้รับการพัฒนาก็ยิ่งช่วยให้ลูกเกิดความอยากรู้อยากเห็น ตอบสนองต่อเสียงได้ดี ภาษาพูดพัฒนา ลูกสามารถ รับรู้เร็ว พูดเร็ว สื่อสารเร็ว เรียนรู้สิ่งรอบตัวได้เร็ว ดังนั้นอย่าปล่อยให้ 365 วันผ่านไปโดยไม่ทำอะไร มิฉะนั้นคุณกับลูกอาจ ตกอยู่ในสถานการณ์ข้างต้นได้

เริ่มที่ชวนฟังเสียง
การฟังเป็นทักษะที่ช่วยให้ลูกมีความไวต่อการใช้ภาษา ดังนั้นส่งเสริมให้ลูกรู้จักฟัง สร้างประสบการณ์สมองกันโดยชักชวนให้ลูกฟังและจำแนกสรรพสำเนียงต่างๆ รอบตัว ให้ลูกเงียบแล้วตั้งใจฟังเสียงต่างๆ เช่น เสียงรถ ลมพัดใบไม้ไหว นกร้อง กบร้อง เป็ดร้อง คนผิวปาก เสียงคลื่น ประตูปิด น้ำไหล กาน้ำเดือด สุนัขเห่า นาฬิกา กระดิ่งสั่น โทรศัพท์ดัง ฯลฯ เพื่อให้ลูกรู้จักฟังให้มากที่สุด จะได้เป็นข้อมูลสะสมที่ก่อให้เกิดจินตนาการ เพราะเวลานี้ถือเป็นช่วงหนึ่งของพัฒนาการคิดของสมองที่กำลังก่อเกิดขึ้นมา แล้วค่ะ

ตามด้วยการเรียกชื่อสิ่งรอบตัว
การฟังพร้อมกับการพูดชี้แนะ จะช่วยทำให้ลูกรู้จักสิ่งของต่างๆ ผ่านทางสัญลักษณ์ โดยการเรียกชื่อให้ลูกรู้ว่าสิ่งรอบตัวอีกมากมีชื่อเรียกต่างกัน ชวนให้ลูกสนใจฟังเสียงต่างๆ แล้วเรียกชื่อเสียงนั้นให้ลูกรู้จัก เอ่ยถึงสิ่งที่ลูกเห็นหรือได้ยิน ให้บ่อยครั้งนะคะ เช่น น้องเอมี่จ๋า ใครเคาะประตูดังก๊อกๆหรือ เสียงอะไรจ๊ะน้องมีน อ๋อ เสียงน้ำไหลนั่นเองหรือ ดูบนถนนสิ ได้ยินเสียงรถบีบแตรดังปี๊นๆ ไหมจ๊ะ

โต้ตอบเสียงลูกกลับ
เมื่อลูกส่งเสียงเหมือนพูดคุยให้ตั้งใจฟังลูกอย่างสนใจ แล้วส่งเสียงเลียนแบบเสียงของลูกกลับไป หรือพูดโต้ตอบด้วยเสมอ และเวลาพูดคุยกับลูกให้ใช้คำพูดที่เป็นลักษณะคำถามให้มากที่สุด ใช้ระดับเสียงสูงเร้าความสนใจของลูก เวลามีโทรศัพท์เข้ามาให้ลองยื่นไปใกล้ๆ หูของลูก เพื่อให้ลูกได้ฟังเสียง พูดคุยทางโทรศัพท์จริงๆ แล้วกระตุ้นให้ลูกส่งเสียงตอบโต้ดูบ้างนะคะ

เปิดเพลงฟัง สร้างสมาธิจดจ่อ
การฟังเสียงเพลงและดนตรีจะช่วยสร้างจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ได้ดี เพราะเด็กๆ มักชอบเสียงเพลง จังหวะดนตรีอยู่แล้ว เมื่อได้ยินเสียงมักขยับตัวเต้นให้เข้าจังหวะ ดังนั้นควรให้ลูกฟังเพลง เขย่าหรือตีเครื่องดนตรีง่ายๆ เช่น กลอง ลูกแซก เพราะลูก จะเรียนรู้จากการเล่น การเข้าไปเกี่ยวข้อง สัมผัส ทดลองจนรู้เหตุผล เช่น เมื่อเขย่าหรือใช้แท่งไม้ เคาะโต๊ะก็จะเกิดเสียง ลูกก็จะทำซ้ำบ่อยๆ สมองก็เกิดสมาธิ เกิดความจำ และเรียนรู้ที่ดีด้วยค่ะ

Tips : นิทานและเกมสนุก
การอ่านออกเสียงมีความสำคัญเท่าการพูดคุย เพราะมีโครงสร้างรูปประโยคที่ใช้สื่อสาร ทำให้ลูกรู้จักสังเกตการใช้ภาษาที่ถูกต้อง มีการเรียนรู้ที่ดี มีความคิด ความจำ สมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งสิ่งหนึ่งนาน แล้วยังได้สร้างจินตนาการไปกับเรื่องที่เล่าให้ฟังด้วย ดังนั้นเลือกนิทานโคลง กลอนที่มีคำสัมผัส มีภาพสดใส แม้ลูกฟังไม่รู้เรื่อง แต่ลูกก็ชอบฟังเสียงพ่อแม่ที่เล่าด้วยความรัก รู้สึกประทับใจที่ได้ฟัง ซึ่งช่วยให้สมองมีพัฒนาการเพิ่มขึ้นได้ค่ะ



แหล่งที่มา  กระปุกดอทคอม / Mother & Care

No comments:

Post a Comment