Monday, September 23, 2013

ทำอย่างไร ... เมื่อลูกดื้อ




        เราคงได้ยินคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใหญ่บ่นว่าช่วงนี้ลูกดื้อ เอาแต่ใจตนเองเป็นใหญ่ ถ้ามีการขัดใจขึ้นมาแล้วเป็นเกิดเรื่องทุกที บางทีโกรธจัดก็ทุบข้าวของที่อยู่ใกล้ๆตัว ซึ่งฟังดูแล้วก็นึกสงสารทั้งลูกและคุณพ่อคุณแม่ แต่บางรายก็เป็นประเภทที่เรียกว่าดื้อเงียบ ไม่ได้ทำลายข้าวของ ไม่พูดบ่น แต่ไม่ทำตาม ปัญหาเด็กดื้อนี้โดยทั่วไปพบได้เสมอ และถ้าไม่หาสาเหตุเพื่อช่วยเหลือแก้ไข ความดื้อก็จะติดเป็นนิสัย
 
        พฤติกรรมของเด็กดื้อเป็นอย่างไร? เด็กดื้อคืออาการที่เด็กไม่เชื่อฟัง พูดไม่เชื่อ ทำหูทวนลม ต่อต้าน โต้เถียง หรือทำสิ่งตรงข้ามกับที่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่บอก ก่อนอื่นควรค้นหาสาเหตุนั้นเกิดจากอะไร
 
        สาเหตุที่ทำให้เด็กดื้อ คือ
 
        - พ่อแม่ควรรู้ว่าเป็นลักษณะพัฒนาการปกติของเด็กวัย 1-2 ปี ซึ่งเป็นวัยที่กำลังเรียนรู้ มีความรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง ต้องการทำอะไรตามใจตัวเอง บางทีเด็กกำลังเล่นเพลินอยู่กับอะไรบางอย่าง ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจเรื่องที่เด็กมีความสนใจอยู่ จะเอาแต่ใจตนเองก็ไปทำการขัดขืนความต้องการของเด็ก เด็กก็ไม่พอใจ แต่เด็กพูดบอกเหตุผลโต้แย้งไม่ได้ บอกความในใจก็ไม่ได้ จึงแสดงอาการโกรธเคืองหรือไม่ทำตามที่ผู้ใหญ่บอก และบางครั้งการที่เด็กดื้อไม่เชื่อฟังเป็นเพราะเด็กไม่เข้าใจคำที่ผู้ใหญ่ สอน เด็กเรียนรู้ด้วยการเลียนแบบ ดังนั้นจึงควรสอนด้วยการกระทำมากกว่าการพูดห้าม ซึ่งเด็กจะเบื่อและไม่ยอมทำตาม
 
        - ถ้าเด็กเริ่มย่างเข้าวัยรุ่น เด็กต้องการความเป็นอิสระและสิทธิส่วนตัว ไม่ต้องการให้ผู้อื่นมายุ่งกับตนเองมากเกินไป ทำให้มีความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากผู้ใหญ่ เด็กก็จะต่อต้านไม่ปฏิบัติตาม
 
        - พฤติกรรมการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้อง เช่น พ่อแม่หรือผู้ใหญ่เลี้ยงดูเด็กแบบเข้มงวด ตีกรอบให้เด็กมากเกินไป เด็กจะเกิดความอึดอัดและคับข้องใจ จนเกิดอารมณ์ ไม่เชื่อฟัง ทำหูทวนลม เรียกลักษณะนี้ว่าดื้อเงียบ หรือการเลี้ยงดูแบบตามใจเด็กมากเกินไป บางครั้งเด็กสามารถขู่ผู้ใหญ่ได้ ยิ่งถ้ายอมตามใจเพื่อไม่ให้เด็กอาละวาด เด็กจะยิ่งดื้อ ไม่เชื่อฟังและเคยชินกับการตามใจตัวเอง จะทำให้ปรับตัวเข้ากับคนอื่นยาก หรือการเลี้ยงดูแบบปกป้องมากเกินไป พ่อแม่บางคนกลัวลูกทำผิดพลาดเลยทำให้ทั้งหมด จนเด็กไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ กลายเป็นเด็กเฉื่อยชาไม่รับผิดชอบ ต้องมีผู้ใหญ่ควบคุม นอกจากนั้นการที่ผู้ใหญ่หรือพ่อแม่ทอดทิ้งเด็ก ทำให้เด็กรู้สึกว่าไม่มีใครรัก ไม่มีความสุข กังวลใจ หมดกำลังใจที่จะทำตามความคาดหวังของผู้ใหญ่ จึงมีพฤติกรรมเฉื่อยชา ดื้อและต่อต้านได้ หรือผู้ใหญ่มีพฤติกรรมรุนแรงกับเด็ก เช่น ทำโทษรุนแรง สบประมาท ทำให้เด็กรู้สึกโกรธ อยากแก้แค้น และยั่วยุให้ผู้ใหญ่โกรธ
 
        - ผู้ใหญ่ปฏิบัติไม่สม่ำเสมอ ไม่คงเส้นคงวา บางครั้งห้ามทำสิ่งนี้ แต่บางครั้งทำได้ เด็กจะสับสนทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้ผู้ใหญ่จะเอาอย่างไรกันแน่ จึงใช้วิธีการไม่ปฏิบัติ และใช้การต่อรอง เพื่อดูว่าผู้ใหญ่จะเอาจริงแค่ไหน
 
        - ผู้ใหญ่สื่อความหมายไม่เข้าใจ บางครั้งไม่พูดตรงๆ บ่นมาก หรือพูดสั้นจนเด็กไม่เข้าใจความหมาย เด็กจึงทำตามไม่ถูก
 
        - ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ไม่ดี เด็กจึงไม่ปฏิบัติตาม
 
        - เด็กมีความบกพร่องทางร่างกาย เช่น ความผิดปกติทางเชาวน์ปัญญา หรือความผิดปกติทางการได้ยิน ทำให้ไม่เข้าใจสิ่งที่ผู้ใหญ่พูด ทำให้ไม่ทำตาม
 
        การแก้ไขความดื้อของเด็ก คือ
 
        - ต้องอาศัยการปรับปรุงของผู้ใหญ่พ่อแม่หรือคนในครอบครัวเป็นส่วนใหญ่เพราะมัก มีพฤติกรรมการเลี้ยงดูลูกไม่เหมาะสม ควรเลี้ยงแบบประชาธิปไตย ไม่เข้มงวดหรือปล่อยปละละเลยเกินไป และที่สำคัญคือเข้าใจและยอมรับธรรมชาติของเด็กแต่ละวัย ผู้ใหญ่ควรมีความเข้าใจในอารมณ์เด็ก เมื่อเด็กมีความสนใจหรือกำลังเพลินกับสิ่งที่เขาสนใจ ไม่ควรให้เด็กทำตามความต้องการของตนเองทันที ควรให้เวลากับเด็ก
 
        - ไม่เอาชนะเด็กตรงๆ ควรมีเทคนิคการจูงใจให้เด็กอยากทำ การบอกซ้ำๆ หรือคะยั้นคะยอ จะทำให้เด็กต่อต้าน ผู้ใหญ่ไม่ควรคาดหวังให้เด็กทำตามทันที ควรให้เวลาแก่เด็กบ้าง
 
        - หลีกเลี่ยงการต่อล้อต่อเถียงซึ่งจะนำไปสู่การทะเลาะวิวาท
 
        - ผู้ใหญ่ควรมีท่าทีจริงจัง ผู้ใหญ่ทำให้เด็กดื้อโดยไม่รู้ตัวบ่อยๆ เช่น เมื่อสั่งแล้วเด็กไม่ทำ ผู้ใหญ่ก็ทำให้เอง เด็กจะกลายเป็นคนเพิกเฉย ไม่ใส่ใจคำพูดของผู้ใหญ่
 
        - ไม่พูดถึงเด็กในทางลบบ่อยๆ เด็กจะรู้สึกเป็นจริงตามที่ผู้ใหญ่พูด เช่น หนูเป็นเด็กดื้อไม่ฟังใครแต่ควรส่งเสริมให้เด็กเห็นข้อดีด้านบวกของตนเอง เช่น หนูเป็นเด็กมีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น” 

        - สร้างสัมพันธภาพและความเข้าใจอันดีอยู่เสมอ การที่เด็กรู้ว่ามีคนรักและเข้าใจเขา เด็กจะรู้สึกมั่นคงว่ามีความรักตอบสนอง ทำให้เคารพและเชื่อฟัง
 
        - เมื่อเด็กว่าง่ายและเชื่อฟัง ควรกล่าวคำชมเชยและให้กำลังใจเด็ก
 
        การค้นหาสาเหตุที่แท้จริงว่า เด็กแสดงอาการดื้อนั้นเกิดจากอะไร และแก้ไขในสาเหตุนั้น โดยพ่อแม่หรือผู้ใหญ่พยายามเข้าใจเด็กและพูดคุยกับเด็กด้วยภาษาง่ายๆ ให้เหมาะสมตามวัย จะช่วยให้พฤติกรรมของเด็กดีขึ้น บางครั้งพ่อแม่หรือผู้ใหญ่จะต้องใช้ความอดทน ไม่ใช่การเอาชนะเด็ก ควรทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็ก มิใช่ว่าผู้ใหญ่หรือพ่อแม่เอาแต่ใจตนเอง เด็กก็จะจดจำภาพนั้นและเลียนแบบตามค่ะ

บรรณานุกรม
เชิดชู อริยศรีวัฒนา (2548). พ่อแม่ต้องรู้เพื่อดูแลลูกรัก. กรุงเทพฯ : แปลนพริ้นติ้ง.
ปัญญานันทภิกขุ (มปป). รักลูกให้ถูกทาง. กรุงเทพฯ: บริษัทพิมพ์ดี จำกัด.
พรอนงค์ นิยมค้า (2548). สารานุกรม การเลี้ยงดูเด็ก เล่ม 2 (พิมพ์ครั้งที่ 14). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน.
หน่วยจิตเวชเด็ก (มปป). เลี้ยงลูกรักให้ฉลาดและมีวินัย. ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล.
http://www.thaikidclinic.com

No comments:

Post a Comment