Thursday, September 5, 2013

ช่วยจัดสรรเวลาเล่นให้ลูกน้อย



 

เจ้าตัวน้อยของคุณแม่ในวัยนี้ เขามีพลังงานที่จะเล่นและเคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีความกระหายที่จะสำรวจสิ่งต่างๆ อย่างไม่มีขีดจำกัด จึงอาจจะทำให้ลูกถูกกระตุ้นมากเกินไปจากการเล่นของตัวเอง และปัญหาก็คือ ลูกยังเล็กเกินกว่าที่จะสามารถควบคุมตัวเองให้หยุดเล่นได้ เขาจะเล่นต่อไปเรื่อยๆ ถ้าคุณแม่ไม่จัดการให้ลูกหยุดกิจกรรมหรือการเล่นนั้น เขาก็จะเล่นต่อจนเหนื่อยเกินไป และจะเริ่มหงุดหงิดอารมณ์เสียจนกว่าจะยอมแพ้และหมดเรี่ยวแรงไปเองในที่สุด 

     สัญญาณที่จะบ่งบอกให้คุณแม่รู้ว่า ลูกเล่นเยอะเกินไปแล้ว หรือว่าสมองของลูกถูกกระตุ้นมากเกินไป จนเจ้าหนูเริ่มไม่ไหวแล้ว มีดังนี้

     สมาธิต่ำ โดยปกติในเด็กเล็กก็มีสมาธิขึ้นๆ ลงๆ อยู่แล้ว แต่การกระตุ้นหรือการเล่นมากเกินไป จะทำให้ความสามารถในการจดจ่อของเด็กลดต่ำลงไปอีกค่ะ

     อยู่ไม่สุข ลูกจะกลายเป็นเด็กอยู่ไม่สุข จนกว่าคุณแม่จะป้อนการกระตุ้นเรื่องใหม่ให้เขา เพราะลูกเรียนรู้ที่จะให้คุณแม่กระตุ้นความสนใจของเขาตลอดเวลา

     หงุดหงิดงอแงง่าย เพราะถูกกระตุ้นมากเกินไป ลูกจึงกลายเป็นเด็กขี้หงุดหงิด เหนื่อยโดยไม่รู้ตัว และจะร้องไห้งอแงขึ้นมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยค่ะ

     โต้ตอบช้า ถ้าได้รับการกระตุ้นมากเกินไปจนเหนื่อยล้า ลูกจะหมดความกระตือรือล้นแต่การเรียนรู้หรือของเล่นใหม่ เขาอาจกลายเป็นเด็กที่ชอบแต่จะนั่งมองเฉยๆ โดยไม่มีปฏิกิริริยาโต้ตอบอะไรเลย 

     เมื่อเห็นสัญญาณต่างๆ ที่บ่งบอกว่าลูกเริ่มที่จะไม่ไหวแล้ว คุณแม่ควรจัดสรรเวลาในตารางกิจวัตรประจำวันของลูก ให้มีการสลับกันระหว่างการพักผ่อน การกระตุ้น (การเล่น) และการปฏิสัมพันธ์ (กับผู้คน) การจัดตารางกิจวัตรประจำวันที่ได้ผลดีที่สุดคือ การจัดให้สอดคล้องกับจังหวะตามธรรมชาติของลูก คุณแม่จะรู้จักจังหวะตามธรรมชาติของลูกได้จากการสังเกตในแต่ละวัน เช่น ช่วงเวลาที่ลูกมักงอแงเพราะความง่วงหรือเหนื่อย หรือคุณแม่อาจจะรู้ว่าเวลากี่โมงที่ลูกจะต้องอารมณ์เสียแน่ๆ ถ้าเขาไม่ได้กินของว่าง จังหวะเวลาของพฤติกรรมและอารมณ์เหล่านี้เป็นตามธรรมชาติอย่างอัตโนมัติ โดยที่คุณแม่หรือลูกไม่ได้เป็นคนกำหนดหรือกะเกณฑ์ไว้ล่วงหน้า 

     หากคุณแม่จัดสรรกิจวัตรของลูกให้มีความสมดุล ราบรื่นและเป็นไปอย่างมีความสุข นอกจากจะทำให้ลูกมีสนุกกับกิจวัตรประจำวันแล้ว ยังจะทำให้ลูกรู้สึกชอบกิจกรรมเหล่านั้นมากขึ้นอีกด้วย เพราะมันเป็นเครื่องยืนยันให้ลูกรู้ว่า คุณแม่กับเขามีความคิดและความรู้สึกที่สอดคล้องไปด้วยกัน ได้อย่างกลมกลืน ลูกจะคิดว่า แม่ของหนู รู้จักหนูดีที่สุดในโลกเลย"

แหล่งที่มา  http://www.enfababy.com

No comments:

Post a Comment