Friday, December 13, 2013

ปกป้องลูกให้พ้นจากฝันร้าย




           คุณแม่คงพอจะทราบกันแล้วว่า เจ้าหนูน้อยในวัยนี้ก็มีความฝันกับเค้าเหมือนกัน หากเป็นฝันดีคุณแม่ก็คงไม่หวั่นใจ แต่ถ้าเป็นฝันร้ายล่ะ คุณแม่คงกังวลเป็นห่วงเจ้าตัวเล็กไม่น้อยเลยใช่มั้ยล่ะคะ ดังนั้นเรามาปกป้องลูกน้อยจากฝันร้ายกันเถอะค่ะ

ฝันร้ายแก้ไขได้นะ

           การ ที่ลูกน้อยนอนสะดุ้งตื่น ที่จริงแล้วก็เป็นเรื่องปกติค่ะ แต่ถ้าหากเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า คุณแม่ก็ต้องหาสาเหตุกันแล้วล่ะ เช่น ดูว่าในเวลากลางวัน มีอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาเกิดความขัดแย้งทางจิตใจและร่างกาย ทำให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัย หรือมีเรื่องอื่นที่ผิดปกติหรือไม่ เช่น นมไม่ย่อย หรือเติมสารอะไรที่ลูกแพ้ เพราะเด็กบางคนแพ้นมวัว บางคนไม่มีน้ำย่อยสลายแลคโตส หรือมีอะไรอยู่ในอาหารเสริมที่ได้รับหรือเปล่า จึงทำให้เกิดภาวะนี้ขึ้น

ช่วยเจ้าตัวน้อยคลายจากฝันร้าย

           หากเจ้าตัวเล็กนอนฝันและสะดุ้งตื่น แล้วมีอาการหวาดกลัว งอแงตกใจ หายใจแรง เหงื่อออก นั่นเป็นสัญญาณเตือนคุณแม่แล้วล่ะ ว่าช่วงการหลับฝันของลูก ทำให้เขาเกิดการปรับตัวที่รับไม่ได้ เขาจึงสะดุ้งตื่น ซึ่งเป็นการบอกให้คุณแม่ทราบอีกทางหนึ่งว่า ลูกน้อยต้องการความอบอุ่น การปลอบใจ หากคุณแม่ทำให้เขารู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย เขาก็จะหลับไปอีกครั้งค่ะ

วิธีทำให้ลูกน้อยหลับฝันดี

           คุณแม่ต้องทำให้เขาสบายตัว กล่าวคือ สุขภาพร่างกายต้องดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ สภาพแวดล้อมที่เขานอน อากาศต้องถ่ายเท อุณหภูมิในห้องไม่ร้อนเกินไปหรือหนาวเกินไป แสงไฟและเสียงรอบข้างต้องทำให้เขาสบายใจ ต้องไม่มีสภาพแวดล้อมที่ทำให้ลูกน้อยกลัว แม้แต่รูปภาพติดฝาผนังก็มีผลด้วยนะคะ แต่สิ่งที่ช่วยแก้ฝันร้ายได้ดีที่สุดก็คือ ความอุ่นใจ ที่ได้รับการสัมผัสถึงความอ่อนโยนและห่วงใยของคุณพ่อคุณแม่ การมีคุณพ่อคุณแม่อยู่ข้าง ๆ ส่งลูกน้อยเข้านอนถือเป็นการปูพื้นให้เขาฝันดีค่ะ

ฝันร้ายชนิดน่ากลัวในเด็ก

           ความฝันชนิดนี้ เรียกว่า night terrors เกิดขึ้นในช่วง non-REM sleep โดยเฉพาะในระยะแรกของช่วงที่หลับ เช่น ภายในหนึ่งหรือสองชั่วโมงแรก มักเกิดในเด็กอายุ 4 - 12 ปี ฝันน่ากลัวกินเวลานาน 5 - 10 นาที ซึ่งดูเหมือนลูกน้อยยังไม่หลับ แต่จริงๆ หลับไปแล้ว เช่น อาจเห็นลูกลุกขึ้นยืน ร้องเสียงดัง เด็กที่ฝันน่ากลัวจะจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ อาการตระหนกตกใจตอนกลางคืนชนิดฝันร้ายน่ากลัวเกิดตอนหัวค่ำ พบมากในเด็ก แต่อาการจะหายเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น อาการที่สำคัญคือ ตกใจตื่น ร้องกรี๊ดลั่น บอกไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น เหงื่อออก หายใจแรง ปัสสาวะรดที่นอน ละเมอพูด แต่ถ้าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันในผู้ใหญ่ ต้องพิจารณาถึงความผิดปกติในสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง การบาดเจ็บของสมอง

แหล่งที่มา  http://women.kapook.com, M&C แม่และเด็ก
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

No comments:

Post a Comment