Thursday, May 1, 2014

10 วิธีบริหารสมอง ส่วนการเรียนรู้



ช่วงแรกเกิด -3 ขวบปีแรก สมองมีการพัฒนาและเจริญเติบโตเร็วที่สุด หากคุณพ่อคุณแม่เข้าใจ ส่งเสริมอย่างถูกวิธี ก็เท่ากับได้กระตุ้นเซลล์สมอง ส่วนการเรียนรู้ให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ในฉบับนี้ เรามีกิจกรรมการเรียนรู้ของลูกน้อย ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปใช้มานำเสนอค่ะ

วิธีบริหารสมอง ส่วนการเรียนรู้ลูกเบบี๋

       
1. สบตาแล้วส่งยิ้มให้ลูกหรือทำหน้าตาให้ลูกเลียนแบบ เพื่อกระตุ้นความสนใจ ให้ลูกเรียนรู้เรื่องการสังเกตใบหน้าของคุณพ่อคุณแม่

       
2. ให้ลูกเรียนรู้การใช้สายตาในการสังเกตและมองสิ่งต่าง ๆ เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น เช่น แสงแดดที่ส่องลงมา ยังต้นไม้ ทำให้เกิดเงาบางส่วน ก็สามารถช่วยให้ลูกเรียนรู้เข้าใจหลักการเรื่องเงา

       
3. การพูดคุย ร้องเพลงหรืออ่านหนังสือนิทาน (พร้อมท่าทางประกอบ) ของพ่อแม่ จะช่วยพัฒนาทักษะการฟังและภาษา เพราะข้อมูลเหล่านี้ จะถูกเก็บสะสมเก็บไว้ ในสมอง และเชื่อมโยงเป็นเรื่องราว พัฒนาต่อไปในอนาคตได้เป็นอย่างดี

       
4. กระตุ้นความสนใจ ให้ลูกเรียนรู้ความแตกต่างเรื่องเสียงต่าง ๆ จากเสียงเหตุการณ์รอบตัว เช่น เสียงรถ, เสียงสัตว์, เสียงนาฬิกา หรือของเล่นมีเสียงที่บ้าน

       
5. การให้ลูกสัมผัส หยิบจับ วางซ้อนหรือต่อบล็อกผ้า, จิ๊กวอว์ (ชิ้นใหญ่) จะช่วยให้ลูกเรียนรู้เรื่องทิศทางการสังเกตได้ดี และยังช่วยฝึกฝนทักษะการใช้ประสาทสัมผัสและการมองเห็น ให้ทำงานประสานสัมพันธ์กันได้ดีด้วยค่ะ

       
6. เมื่อลูกกินอาหารได้หลากหลายแล้ว ควรใช้โอกาสนี้ ส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องรสชาติ ลักษณะอาหารแบบต่างๆ เช่น กล้วยสุก แตงกวาปอกเปลือก หรือมะละกอ โดยหั่นเป็นชิ้นให้ลูกหยิบจับได้ง่าย

       
7.การเรียนรู้เรื่องกลิ่น ควรให้ลูกคุ้นเคยกับกลิ่นใกล้ตัวก่อน เช่น กลิ่นตัวของแม่ (ขณะที่อุ้มให้นม), กลิ่นอาหาร จากนั้นจึงค่อย ๆ ให้ลูกเรียนรู้กลิ่นที่แตกต่าง เช่น กลิ่นดอกไม้ที่ไม่ฉุนเกินไป หรือกลิ่นปรุงแต่งของสารเคมี น้ำหอม

       
8. การอุ้มลูกพร้อมกับลูบไล้ตามแขนหรือลำตัวลูก เป็นการกระตุ้นประสาทสัมผัส เรียนรู้เรื่องความรู้สึกที่สำคัญ สัมผัสความรู้สึกนี้ยังส่งผลดีต่อจิตใจและอารมณ์ในทางบวกของลูกค่ะ

       
9. เกมสนุกที่คุณเล่นกับลูก ก็เป็นวิธีง่าย ๆ ที่ช่วยให้ลูกเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ได้หลายส่วนค่ะ เช่น ภาษาจากเกมสัมผัสอวัยวะ (พร้อมกับบอกชื่อ) เป็นต้น

       
10. การหาของเล่นในลักษณะต่าง ๆ เช่น สำลี, ผ้าขนหนู, น้ำ, ทราย, ดิน มาเป็นผู้ช่วย ให้ลูกหยิบจับ สัมผัสกับวัตถุนั้น ๆ เพื่อให้ลูกเรียนรู้เรื่องผิวสัมผัส

ลูกเรียนรู้ได้ดี เพราะอะไร

            สมอง ของลูกน้อยมีการทำงานอยู่ตลอดเวลา จึงส่งผลให้เซลล์ประสาทในสมองก็ทำงานด้วย และการที่สมองสามารถเรียนรู้ได้ดีนั้น ก็เกิดจากการที่เซลล์สมองมีการส่งผ่านข้อมูล ซึ่งกันและกัน จนมีการสื่อสาร เชื่อมโยง แตกขยายเซลล์สมองออกไปเรื่อยๆ ดังนั้น ยิ่งเซลล์ประสาทได้รับข้อมูลมาก ยิ่งใช้มาก การเรียนรู้ของลูกน้อยก็เกิดได้เร็วและดีตามไปด้วย แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าจุดเชื่อมต่อของเซลล์ประสาทไม่มีการกระตุ้นให้ทำงาน (การกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5) การแตกแขนงของเซลล์สมองก็จะค่อย ๆ น้อยลงไป จนขาดหายไปในที่สุด

แหล่งที่มา  M&C แม่และเด็ก, http://women.kapook.com/view13703.html
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

No comments:

Post a Comment