Friday, August 29, 2014

บ๊ายบาย ลำไส้อักเสบ




          ภาวะลำไส้อักเสบเป็นปัญหาที่พบบ่อยใน เด็กวัยขวบปีแรก ส่งผลให้ลูกน้อยมีอาการอาเจียนและถ่ายอุจจาระเหลว เด็กบางคงอาจมีอาการไม่รุนแรง เพียงดูแลรักษาตามอาการก็จะดีขึ้นจนหายไปได้เอง แต่บางรายอาจมีอาการมากจนทำให้ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรง อาจทำให้ช็อกและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

ต้นเหตุลำไส้อักเสบ

          
ไวรัสวายร้าย : เกิดจากเชื้อโรคหรือพิษของเชื้อโรค ในเด็กเล็กมักเกิดจากเชื้อไวรัส โดยไวรัสที่พบบ่อยที่สุดคือไวรัสโรตา (Rotavirus) ซึ่งติดต่อโดยการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ จากการคลุกคลีกับผู้ป่วยโดยตรงหรือแฝงตัว อยู่ตามสิ่งของ เช่น ของเล่นเด็ก และสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานหลายชั่วโมง อยู่ได้นานเป็นวัน ๆ ซึ่งหากลูกน้อยนำสิ่งของหรือมือที่เปื้อนเชื้อโรคเข้าทางปากก็จะทำให้รับ เชื้อไวรัสนี้เข้าไปได้อย่างง่ายดาย

          
แบคทีเรียตัวแสบ : ส่วนเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุ ได้แก่ เชื้อไทฟอยด์ (Salmonella) อีโคไล (E coli) เชื้อบิด (Shigella) มักเกิดจากการกินอาหารจำพวกสัตว์ปีก ไข่ น้ำดื่มหรือนมที่มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียหรือพิษของเชื้อโรค
ภาวะที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

           ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการติดเชื้อลำไส้อักเสบง่าย ได้แก่ อายุน้อย ทุพโภชนาการ ไม่ได้รับนมแม่ กินอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง การเดินทางไปยังแหล่งที่มีการระบาดของเชื้อ รวมทั้งการเข้าอยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็ก

CONCERN!!! อาการแบบนี้พบหมอด่วน

           มีอาการของภาวะขาดน้ำรุนแรง คือ ไม่เล่น ไม่ร่าเริง นอนซึม กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ปากแห้งมาก ร้องไห้ ไม่มีน้ำตา ปัสสาวะน้อยลงหรือปัสสาวะสีเหลืองเข้ม เบ้าตาโหล อาเจียนและถ่ายเหลวมาก ถ่ายมีมูกเลือด ปวดท้องมาก ไม่ยอมกินน้ำและนมเลย ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อให้สารน้ำทดแทนทางหลอดเลือด

อาการของหนูเมื่อลำไส้อักเสบ

          
ระยะฟักตัว : เมื่อลูกได้รับเชื้อดังกล่าว จะใช้ระยะฟักตัวหลังการสัมผัสโรคจนแสดงอาการ อาการใช้เวลาสั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงจนถึง 2 วัน เริ่มต้นด้วยอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ กรณีอาการไม่รุนแรง มักจะหายได้เองภายใน 3-5 วัน

          
อาการที่พบบ่อย : ได้แก่ มีไข้อาเจียน หากเป็นเชื้อไวรัสจะถ่ายเหลวเป็นน้ำหรือถ่ายเป็นฟองหลาย ๆ หน รอบก้นแดง บางคนอาจมีน้ำมูกไหลและไอร่วมด้วย แต่ถ้าเป็นเชื้อแบคทีเรีย มักมีมูกเลือดในอุจจาระ อาจมีไข้สูงร่วมด้วย อาการท้องเสียอาจเป็นนานได้ถึง 7-10 วัน ถ้าสูญเสียน้ำมาก จะมีอาการปากแห้ง เบ้าตาลึก กระหม่อมบุ๋ม ปัสสาวะออกน้อยลง ซึม เป็นต้น

ทำอย่างไรเมื่อลูกป่วย

          
ให้เกลือแร่ช่วยขาดน้ำ : การ ดูแลเบื้องต้นที่สำคัญที่สุดได้แก่ การแก้ไขและทดแทนภาวะขาดสารน้ำและเกลือแร่ในกรณีที่ลูกขาดน้ำไม่มาก คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลเองที่บ้านได้ โดยการให้กินเกลือแร่ ORS สำหรับเด็กร่วมกับให้อาหารเหลวภายใน 4-6 ชั่วโมงหลังได้รับน้ำเกลือแร่ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะทุกคน เนื่องจากสาเหตุส่วนใหญ่ในเด็กมักเกิดจากเชื้อไวรัสและทำให้เชื้อโรคอยู่ใน ลำไส้นานมากขึ้น

วิธีการให้น้ำเกลือแร่ ORS

           ให้ลูกจิบหรือใช้ช้อนตักป้อนน้ำเกลือแร่ทีละน้อยแต่บ่อย ๆ แล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเท่าที่เด็กจะรับได้ ปริมาณ ORS ที่ลูกต้องได้รับอาจจะกะจากปริมาณอุจจาระที่ถ่ายออกไป ถ้าถ่ายออกไปเท่าไรก็ให้สารน้ำทดแทนเท่านั้น ไม่ควรใส่ขวดนมให้ลูกดื่มครั้งละมาก ๆ เพราะจะอาเจียนหรือถ่ายเหลวออกมาหมด ไม่ให้น้ำหวาน น้ำอัดลมหรือน้ำเกลือแร่สำหรับผู้เสียเหงื่อจากการเล่นกีฬา เนื่องจากสัดส่วนของเกลือแร่และความเข้มข้นของน้ำตาลที่ไม่เหมาะสม จะทำให้เสียสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย และท้องเสียมากขึ้น

          
ดูแลอาหารการกิน : การให้อาหาร สำหรับเด็กที่ยังกินนมแม่ สามารถให้นมได้ตลอดตามความต้องการของลูกน้อย ไม่ต้องงดนมแม่ เนื่องจากนมแม่จะช่วยให้โรคหายเร็วขึ้นและยังช่วยส่งเสริมภาวะโภชนาการให้ดี ขึ้นอีกด้วย แนะนำให้ป้อนข้าวบด โจ๊ก ข้าวต้ม 1 มื้อ ตามแต่จะรับได้ โดยให้หลังจาก 4 ชั่วโมงแรกหลังได้รับน้ำเกลือแร่อย่างเพียงพอ ส่วนเด็กที่กินนมผสมให้เริ่มนมสูตรปกติและไม่ควรชงนมจาง ในเด็กบางคนที่ถ่ายอุจจาระเป็นฟอง ท้องอืด แลรอบก้นแดง แสดงว่ามีภาวะดูดซึมน้ำตาลแลคโตสบกพร่อง อาจจะเปลี่ยนเป็นนมสูตรนมถั่วเหลือง หรือสูตรที่ไม่มีน้ำตาลแลคโตสแทน

ป้องกันลำไส้อักเสบ

          
สุขอนามัยดี : คุณแม่ควรล้างมือให้ลูกน้อยบ่อย ๆ ก่อนหยิบจับอาหารเข้าปาก ดูแลสุขภาพอนามัยของสมาชิกในบ้าน และหมั่นล้างของเล่นเสมอ ๆ รวมถึงการเตรียมนม น้ำและอาหารของลูกน้อยก็ต้องให้สุก สะอาด ถูกสุขอนามัย โดยการผ่านความร้อน ขวดนมเด็กก็เหมือนกันควรต้มด้วยน้ำเดือดอย่างน้อย 15 นาที หลังจากนั้นผึ่งให้แห้งและเก็บให้มิดชิด

          
นมแม่เกราะป้องกัน : "นมแม่" จะช่วยให้ลูกมีภูมิคุ้มกันถึงแม้จะติดเชื้อไวรัสโรตาก็จะไม่มีอาการหรือมี น้อย เพราะภูมิคุ้มกันในนมแม่ช่วยในการกำจัดเชื้อได้

         
วัคซีนช่วยหนูได้ : ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไวรัสโรตาเป็นวัคซีนชนิดรับประทาน ให้ในเด็กอายุ 2 และ 4 เดือนซึ่งเป็นวิธีป้องกันลำไส้อักเสบโรตาที่มีประสิทธิภาพสูงและปลอดภัยอีก ด้วยนะคะ

           รู้อย่างงี้แล้วเห็นทีโรคลำไส้อักเสบคงจะเข้าป่วนเจ้าตัวเล็กของคุณแม่ได้ไม่ง่าย ๆ แล้วล่ะค่ะ

เรื่อง : พญ.พรรณพัชร พิริยะนนท์ กุมารแพทย์เชี่ยวชาญระบบทางเดินอาหารเด็ก โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
แหล่งที่มา  modernmom, http://baby.kapook.com
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

No comments:

Post a Comment