Monday, September 1, 2014

ฝึกลูกกินง่าย อยู่ที่อาหารมื้อแรก




        ตื่นเต้นกันมั้ยคะ เมื่อรู้ว่าใกล้ถึงเวลาที่เจ้าตัวเล็กจะต้องกินอาหารเสริมแล้ว แต่ก็คงมีความกังวลกันอยู่ไม่น้อยด้วยว่า จะให้ลูกกินอะไร กินอย่างไร กินแค่ไหนถึงจะดี อย่ามัวกังวลค่ะ เพราะถ้าเราเตรียมพร้อมดี การกินอาหารของลูกก็เป็นเรื่องง่าย ๆ แล้วค่ะ

เตรียมพร้อมก่อนถึงเวลาอาหารเสริม มื้อแรก

         เด็กเล็กเมื่อถึงเวลากินอาหารเสริม ครั้งแรกอาจมีปฏิเสธบ้าง เนื่องจากไม่คุ้นชิน ประกอบกับการกินนมแม่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้รับอาหารอื่นเลย เมื่อโตขึ้นถึงวัยที่จะต้องกินอาหารเสริม ลูกจึงปฏิเสธการกินได้ เป็นเรื่องธรรมดาค่ะ

         ดังนั้น เมื่อลูกอายุ 3 เดือนขึ้นไป คุณพ่อคุณแม่ควรนวดเหงือก ให้ลูกบ่อย ๆ เพื่อฝึกให้ลูกรู้จักสัมผัสสิ่งที่แปลกใหม่ และถึงแม้องค์การอนามัยโลกจะบอกว่าเด็กทารกควรกินนมแม่เพียงอย่างเคียว แต่การให้ลูกได้สัมผัสน้ำอุ่นน้ำเย็นเล็กน้อย แตะสัมผัสที่เหงือกและนวดไปพร้อมกัน ก็ช่วยฝึกการรับสัมผัสในช่องปากของลูกได้ เมื่อถึงเวลาอาหาร ลูกก็จะยอมรับสิ่งแปลกใหม่ได้ง่ายขึ้น

         สิ่งสำคัญของอาหารมื้อแรกของลูก ไม่ใช่เรื่องที่ลูกกินได้มาก แต่เป็นการฝึกให้ลูกได้รับรส และมีลิ้นสัมผัสสิ่งที่แตกต่างไปจากนม เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรคาดหวังว่าลูกจะต้องกินให้ได้ในปริมาณมาก ๆ ให้ชิมเพียงแค่ 1-2 ช้อน ก็พอค่ะ

อาหารเสริมตามวัย กินอย่างไรจึงจะดี

         ในช่วงขวบปีแรก นมคืออาหารหลักของลูกรัก ฉะนั้น เมื่อเจ้าตัวเล็กสามารถชันคอได้ดี ประคองคอได้แข็งแรง และมีน้ำหนักตัวเป็น 2 เท่าของน้ำหนักตัวแรกเกิด คุณแม่ก็สามารถเริ่มอาหารเสริมให้ลูกได้แล้ว เพียงแค่อาหารของลูกจะต้องมีความเหมาะสมตามวัยของเขาค่ะ

        
วัย 4-6 เดือน อาหารของลูกควรจะมีเนื้อสัมผัสที่นิ่มเนื้อละเอียด เช่น กล้วยครูค หรือข้าวบด โดยให้เริ่มทีละอย่างก่อน เนื่องจากเด็กเล็กมีโอกาสแพ้อาหารได้ง่าย และหากเริ่มไปแล้ว สักระยะ ลูกไม่มีการแพ้ใดใด คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถเริ่มอาหารอย่างที่ 2 ให้ลูกได้

        
วัย 6-8 เดือน เพื่อให้เด็ก ๆ ได้รับสัมผัสของอาหารและฝึกกล้ามเนื้อปาก คุณพ่อคุณแม่อาจหั่นอาหารให้มีรูปร่างต่างกัน ให้ลูกได้ฝึกกินบ้าง เช่น เส้นสปาเก็ตตี้กลม ๆ หั่นสั้น ๆ กล้วยหอมหั่นกลม ๆ หรืออาหารบางอย่างที่สามารถหั่นเป็นรูปทรงต่าง ๆ ได้ หรืออาจให้ลูกได้ฝึกกินอาหารที่มีความกรอบ ความเหนียว เพื่อให้ลูกได้ฝึกการเคี้ยว เช่น ข้าวตังหรือข้าวเหนียว เป็นต้น

         เพราะเด็กวัยนี้เริ่มมีฟันงอกขึ้นมาบ้างแล้ว ทั้งรู้สึกมีความสุขกับการกินเมื่อได้มีส่วนร่วมในอาหารมื้อนั้น ๆ ดังนั้นถ้าหากคุณแม่ให้ลูกลองจับ สัมผัส ดม เล่น หรือขยำอาหารบ้าง ก็จะช่วยให้เขารู้สึกสนุกและมีความสุขกับการกินอาหารมากขึ้น เพียงแต่ก่อนกิน อย่าลืมล้างมือของลูกให้สะอาดด้วยนะคะ

        
วัย 8-12 เดือน ช่วงนี้ลูกสามารถกินได้ 2-3 มื้อต่อวัน และอาหารที่จะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อปากของลูกเป็นอย่างดีก็คือ อาหารจำพวกฟิงเกอร์ฟู้ดส์ เช่น แครอท ฟักทอง แตงกวาหั่น ขนมปังกรอบ แครกเกอร์ เป็นต้น

        
วัย 12 เดือนขึ้นไป สามารถกินข้าวเป็นอาหารหลักได้แล้ว และลูกสามารถกินอาหารของผู้ใหญ่บางอย่างได้ด้วย แต่ต้องเน้นที่มีลักษณะนุ่ม ๆ รสไม่จัด เช่น ข้าวผัด ข้าวปั้น ต้มจืด แซนด์วิช แพนเค้ก หรือมะกะโรนี เป็นต้น

เคล็ดไม่ลับสำหรับเจ้าหนูกินยาก

         เมื่อลูกโตขึ้นพ่อแม่หลายคนมักบ่นว่าลูกกินยาก ทราบหรือไม่คะว่าปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการที่คุณพ่อคุณแม่ละเลยพัฒนาการช่วง วัย 0-1 ปี ของลูกไป โดยไม่ได้ฝึกตั้งแต่ยังเล็ก ซึ่งสามารถป้องกันและแก้ไขได้ดังนี้ค่ะ

         ฝึกให้ลูกรู้จักเคี้ยวอาหารทุกครั้ง เพราะคุณพ่อคุณแม่ ส่วนใหญ่ไม่ชอบฝึกให้ลูกเคี้ยวอาหาร และมักจะทำอาหรแบบเละ ๆ ให้ลูกกิน ทั้งที่ความจริงลูกสามารถเคี้ยวอาหารได้ตามวัยของเขา ดังนั้นเมื่อลูกนำอาหารเข้าปากคุณพ่อคุณแม่ต้องเคี้ยวให้ดูแล้วชวนให้ลูก เคี้ยวตามค่ะ

         ให้ลูกได้กินอาหารที่หลากหลาย คุณพ่อคุณแม่หลายคนชอบเน้นอาหารสำเร็จรูป หรืออาหารทดแทนมื้อนม ซึ่งมักจะมีกลิ่นของความเป็นนมอยู่ อาจทำให้ลูกรู้สึกเบื่อหน่ายได้ จึงควรสลับเมนูอาหารของลูกบ้าง โดยต้องมีแป้ง ก๋วยเตี๋ยวเส้นนิ่ม ๆ ข้าว หรือขนมปัง อยู่ในจานประมาณ 2 ใน 4 ของอาหารที่ให้ลูกกิน ส่วนที่เหลือค่อยเป็นเนื้อสัตว์และผักผลไม้อีกอย่างละครึ่ง และเพื่อหลีกเลี่ยงสารพิษที่ตกค้างอยู่ในเนื้อปลา ภายใน 2 วัน ควรให้ลูกได้กินปลาสัก 1 มื้อ โดยสลับชนิดกัน เนื่องจากปลาแต่ละสายพันธุ์กินอาหารที่แตกต่างกันนั่นเอง

         ไม่คะยั้นคะยอ หรือบังคับลูกจนเกินไป เพราะท่าทีของคุณพ่อคุณแม่จะทำให้ลูกรู้สึกอึดอัด และไม่มีความสุขในการกิน การที่ลูกจะกินอาหารอร่อยคุณพ่อคุณแม่ต้องให้ลูกกินร่วมโต๊ะกับผู้ใหญ่ และสร้างบรรยากาศการกินให้ลูกมีความสุขด้วย ที่สำคัญไม่ควรให้ลูกใช้เวลาในการกินอาหารนานเกินไป หากเกิน 30 นาที ลูกไม่ยอมกินต่อ คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถเก็บจานชามได้เลยค่ะ

         ก่อนให้ลูกกิน ลองชิมอาหารลูกก่อน แม้จะไม่ได้ปรุงรสให้ลูก แต่ก่อนที่จะให้ลูกกินอาหารคุณพ่อคุณแม่ควรชิมอาหารที่ทำให้ลูกก่อนว่ารส ชาติเป็นอย่างไร อ่อนหรือแข็งเกินไปไหม กลิ่นของอาหารเป็นอย่างไร คาวหรือไม่ หากพบข้อบกพร่องมื้อต่อไปจะได้แก้ไขถูก

         เพราะอาหารมื้อแรกเป็นมื้อที่สำคัญ ลูกจะตอบรับหรือปฏิเสธ ก็ขึ้นอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ว่าจะช่วยฝึกพัฒนาการของลูกอย่างไร ถ้าเริ่มต้นดีก็มีชัยไปกว่าครึ่ง และจะไม่มีเสียงบ่นว่าลูกกินยาก ภายหลังด้วยค่ะ

เรื่อง : เกื้อกูล เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ พญ.นลินี เชื้อวณิชชากร กุมารเวชด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก โรงพยาบาลกรุงเทพ
แหล่งที่มา  รักลูก, http://baby.kapook.com
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

No comments:

Post a Comment