Friday, April 10, 2015

พัฒนาการเด็กและการส่งเสริมเด็กวัย 1-2 ปี




         ลูกสามารถเดินและยืนได้เองอย่างมั่นคง อย่างเช่น สามารถเก็บของเล่นที่อยู่ที่พื้นและเดินเตาะแตะนำไปเก็บเข้าที่ได้ หากเจอสถานที่ที่ไม่เรียบ เขาจะคลานเหมือนหมี ปีนข้ามที่กีดขวางโดยลงน้ำหนักที่มือหรือเท้าพร้อมกับยกเข่าสูง ควบคุมร่างกายได้ดีขึ้นมากโดยมีการเพิ่มความเร็วและหยุดได้เมื่อเจอบางสิ่ง ที่น่าสนใจ มีการกะระยะและควบคุมอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้ดีขึ้นมาก

         ด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กลูกสามารถหยิบจับสิ่งของหลายๆ ชิ้นได้ในมือเดียว มีการกำแน่นไม่ปล่อยหากมีคนมาแย่ง แต่ก็จะเดินนำของเล่นไปให้คนที่ตนเองถูกใจด้วย และนอกเหนือจากการหยิบจับแล้ว วัยนี้จะเริ่มดึง ฉุด ลาก สิ่งที่เขาชอบและเข้าใจการทำงานของของเล่นแบบดึงลาก ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้นด้วย

        
การเดินบ่อย ๆ จะช่วยให้กล้ามเนื้อขาและการทรงตัวแข็งแรง ไม่ล้มง่าย วิ่งกระโดดได้ดีคล่องแคล่ว

        
การเดินช่วยพาเจ้าหนูไปยังพื้นสัมผัส (Sensory) ที่แตกต่างกันออกไป ได้เรียนรู้เรื่องทิศทางในการออกสู่โลกใหม่

        
การเล่นในสถานที่และสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างออกไป ทำให้เด็กได้ฝึกคิดต่อ มีความคิดสร้างสรรค์ว่าจะเล่นอะไรกับสิ่งแวดล้อมใหม่นี้ดี

        
การสำรวจพบสิ่งใหม่ ๆ ด้วยตัวเอง อย่างแรกที่ได้คือความภูมิใจ มีทั้งความสนุก ความตื่นเต้น จนบางครั้งออกอาการขี้อวดหยิบสิ่งที่ไปเจอเอามาให้คุณแม่ด้วย

        
เมื่อลูกเริ่มก้าวเดินได้ ความใส่ใจอย่างแรกเห็นทีจะเป็นเรื่องความปลอดภัยนะคะ คุณควรทำบ้านให้รัดกุม มีที่กั้นระหว่างบันไดหรือประตู ยิ่งบ้านไหนมีสระน้ำแล้วยิ่งต้องระมัดระวังให้มาก

        
ควรจะเลือกของเล่นที่เหมาะกับพัฒนาการ เพิ่มทักษะ และความคิดสร้างสรรให้ลูกได้ เช่น ตัวต่อ สีเทียนสีไม้ พลั่วขุดดินและกระป๋องอันจิ๋ว อุปกรณ์บทบาทสมมุติ รถลาก ฯลฯ และไม่ต้องมีเยอะแยะจนเกินความจำเป็น

พัฒนาการเด็กทางอารมณ์ จิตใจ และการส่งเสริม

         เด็ก ๆ ที่ใกล้วัย 2 ขวบจะเริ่มมีพัฒนาการที่เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ซึ่งบางครั้งคุณพ่อคุณแม่จะมองว่าเป็นเด็กดื้อ (Terrible Two) เพราะลูกจะเชื่อฟังเราน้อยลง และมีพฤติกรรมใหม่ ๆ ที่ท้าทายให้คุณแก้ปัญหาด้วย ซึ่งเหตุผลของความดื้อและเจ้าอารมณ์นั้นมักเกิดจากสาเหตุดังนี้

        
อยากรู้อยากเห็น - เพราะหนูกำลังเรียนรู้และค้นพบสิ่งใหม่ๆ ด้วยการลงมือทำ หนูจึงชอบกดปุ่มโทรศัพท์เล่น ดึงหางแมว ใช่ว่าจะเอาแต่ใจตัวเองหรือเอาแต่ซนซะหน่อย

        
เรียกร้องความสนใจ - ด้วยความเหงา เบื่อ เซ็ง ที่พอหนูทำตัวดีแล้วทุกคนก็หายไปทำธุระตัวเองกันหมด สู้กินข้าวหก ทำของแตกไม่ได้ คุณแม่เป็นต้องวิ่งปรู๊ดมาดูก่อนใคร ถึงจะมีเสียงดุว่าตามมาก็ยังดีกว่าอยู่คนเดียว

        
ท้าทาย - ยิ่งตอนหนูอายุ 14-22 เดือน หนูกังวลมากว่าพ่อแม่จะตีจากหนูไป ไม่รักกันเหมือนเคย หนูจึงอยากรู้นักว่าถ้าโดนห้ามก็ยังจะท้าทายทำต่อซะอย่าง แล้วจะมีอะไรหรือเปล่า

        
ไม่มีเหตุผล - หนูอยากทำเพราะอยากทำ ถึงจะยังทำเองไม่ได้ เพราะมีข้อจำกัดทางร่างกาย และมีคนคอยห้ามโน่นห้ามนี่ น่าจะลองให้หนูทำอะไรเองบ้างนะ ถ้าไม่อันตรายเกินไป

        
เหนื่อย - วัยอย่างหนูชอบงีบกลางวัน แต่บางครั้งต้องไปนอกบ้านกับคุณแม่ทั้งวัน เลยพาลหงุดหงิดเอาง่าย ๆ

        
หิว - อารมณ์หิวไม่ปราณีใคร หนูต้องการเติมพลังบ่อยครั้งกว่าผู้ใหญ่ อย่ายึดมื้ออาหารตามแบบผู้ใหญ่ ต้องมีมื้อของว่างให้หนูบ้าง

พัฒนาการเด็กทางภาษาและการส่งเสริม

         ลูกสามารถใช้คำ 2 คำพูดเชื่อมต่อกันได้แล้ว เข้าใจคำศัพท์ของสิ่งของที่อยู่ใกล้และสามารถหยิบตามที่คุณพ่อคุณแม่บอกได้ ถูกต้อง ชี้ไปที่อวัยวะต่าง ๆ พร้อมบอกความต้องการของร่างกายได้ ใช้คำพูดพอ ๆ กับการสื่อสารด้วยท่าทาง ลูกยังไม่ชอบการฟังนิทานเป็นเรื่องหรือการพูดยาว ๆ และจะชอบนิทานภาพเป็นภาพ ๆ ไปเท่านั้น และสนใจฟังเมื่อผู้ใหญ่กำลังอธิบายภาพที่ตนเองชอบ รวมทั้งการเริ่มสนใจรายการสำหรับเด็กในโทรทัศน์

เสริมพัฒนาการเด็กด้านภาษาให้เด็กวัย 2-3 ปี

        
เป็นแบบอย่างที่ดี - อะไรก็ตามที่พ่อแม่แสดงออกไปเด็ก ๆ ก็เลียนแบบหมด อาทิ พ่อแม่พูดเร็ว ลูกก็พูดเร็ว เพราะฉะนั้นพูดกับลูกช้า ๆ ชัดถ้อยชัดคำ สบตาลูก ออกอักขระให้ชัดเจนด้วย

        
ชวนลูกพูดคุย - คุณพ่อคุณแม่ต้องพูดคุยกับลูกเยอะ ๆ อย่าทิ้งให้ลูกต้องเล่นของเล่นอยู่คนเดียวหรือขลุกอยู่กับพี่เลี้ยง ทั้งวัน เพราะถ้าพี่เลี้ยงบางคนที่พูดไม่ชัด ลูกอาจจะพูดตามสำเนียงของคนที่เขาอยู่ด้วย

        
อย่าเร่งให้ลูกพูดพ่อแม่บางคนกลัวว่าลูกจะพูดช้า อย่าไปดุหรือใจร้อน โมโหใส่ลูก เพราะจะทำให้ลูกเครียด เพราะเด็กแต่ละคนการพัฒนาช้าเร็วจะไม่เท่ากัน

        
อย่ารำคาญ - เวลาที่ลูกกลายเป็นเด็กช่างซัก ให้ตอบทุกคำถาม ตอบแบบง่าย ๆ ไม่ต้องยาว เพราะนี่คือการช่วยฝึกพัฒนาการในเรื่องภาษาให้ลูกได้อีกวิธีหนึ่ง

        
อย่าต่อว่าเวลาลูกพูดผิด - ให้ช่วยแก้ไขด้วยการพูดให้ลูกฟังซ้ำแบบช้า ๆ ชัด ๆ

        
อ่านหนังสือนิทาน บทกลอน - เปิดเพลงให้ฟังให้ลูก อ่านนิทาน หรือบทกลอนให้ฟังลูกจะได้เรียนรู้คำใหม่ ๆ หัดจำประโยคที่เขาสนใจ

วัย 1-2 ปี พัฒนาการเด็กทางร่างกายเชื่อมโยงสมอง

        
ลูกจะพยายามหัดยืนและเดิน และทำได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ

        
ปีนขึ้นบันไดได้แต่ต้องมีคนช่วย ลงบันไดโดยการคลานถอยหลัง ถ้าเดินลงต้องช่วยจับแขน กระโดดสองขาได้

        
ชอบลาก ผลัก ดันสิ่งต่าง ๆ ลากเก้าอี้ไปยังชั้นวางของและพยายามปีนป่ายหรือเอื้อมหยิบของ

        
ต่อบล็อกได้ 3-4 ชิ้น

        
ชอบวิ่ง ปีนป่าย กระโดดอยู่กับที่

        
เดินทีละก้าวบนกระดานไม้แผ่นเดียวได้

        
ขี่จักรยาน 3 ล้อได้

        
เริ่มถนัดใช้มือข้างใดข้างหนึ่งแล้ว เช่น ร้อยลูกปัดเม็ดใหญ่ ๆ ได้

แหล่งที่มา  momypedia, http://baby.kapook.com (คัดบทความบางส่วน)
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

No comments:

Post a Comment