Saturday, June 12, 2010

การอบรมเลี้ยงดูลูกน้อย



ถ้าถามคุณพ่อคุณแม่ว่าอยากให้ลูกเติบโตขึ้นมามีคุณสมบัติอย่างไร  และเป็นคนแบบไหน  เกือบทุกคนก็คงตอบเหมือนกันว่า  อยากให้ลูกเป็นคนดี  มีความสุขหรือเป็นเด็กเก่งเฉลียวฉลาด  ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าการอบรมเลี้ยงดูที่เหมาะสมมีส่วนอย่างมากที่จะทำให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพทั้งกายและใจ  การพัฒนาของร่างกายคนเรามีปัจจัยที่เกี่ยวข้องคือ  ปัจจัยภายใน  (ทางชีวภาพ)  และปัจจัยภายนอก  (ทางสภาพแวดล้อม)

ปัจจัยภายในหรือทางชีวภาพเป็นสิ่งที่ลูกได้รับถ่ายทอดมาจากคุณพ่อคุณแม่ทางพันธุกรรม  ซึ่งเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก  แต่ปัจจัยภายนอกเป็นสิ่งที่เรากำหนดได้และสามารถส่งเสริมให้ปัจจัยทางพันธุกรรมถูกนำไปใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพของลูก  การอบรมเลี้ยงดูลูกจึงเป็นปัจจัยทางสภาพแวดล้อมที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อพัฒนาการของลูก


ข้อควรปฏิบัติในการอบรมเลี้ยงดูลูก


คำกล่าวที่ว่า "ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก"  นั้นถูกต้องทีเดียว  การอบรมเลี้ยงดูลูกนั้นเป็นงานที่ต้องทุ่มเททั้งกายและใจเป็นเวลานานกว่าจะได้คุณสมบัติที่ต้องการและยังต้องใช้เวลาหล่อหลอมอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอตลอดวัยพัฒนาการของลูกด้วย


การปฏิบัติโดยรวมที่จำเป็นต่อการพัฒนาบุคลิกภาพมีดังนี้


1.  ให้ความเข้าใจธรรมชาติของลูกในแต่ละวัย

ในขวบปีแรกหรือวัยทารกเป็นวัยที่สำคัญมากและจะเป็นรากฐานของการพัฒนาบุคลิกภาพต่อไป  นอกจากนี้วัยดังกล่าวยังเป็นวัยที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดด้วย


2.  ให้ความรักและความอบอุ่นอย่างเหมาะสมต่อเนื่อง

เป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่จะทำให้เด็กพัฒนาบุคลิกนิสัยที่ดี  มีความมั่นใจในตนเอง  มีอารมณ์แจ่มใส  รักตอบผู้อื่นเป็น  มองชีวิตในทางที่ดี  ซึ่งจะเป็นรากฐานให้เด็กมีคุณธรรมต่อไป  ตัวอย่างการแสดงออกถึงความรักต่อลูก  เช่นการโอบกอด  การลูบศีรษะด้วยความเอ็นดู  ให้ความสนใจต่อปัญหาของลูก ฯลฯ  แต่ต้องระวังอย่าให้ความรักแบบไม่เหมาะสม  คือรักและตามใจโดยไร้ขอบเขตจนเป็นเด็กที่เอาแต่ใจตนเอง  โดยเฉพาะเด็กช่วงอายุก่อนวัยเรียน  คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นผู้ตัดสินว่าสิ่งใดควรทำ  สิ่งใดไม่ควรทำ  เพราะเด็กวัยนี้ตัดสินใจเองไม่ได้ในบางเรื่อง


3.  ทำให้ครอบครัวมีความสงบสุข

คุณพ่อคุณแม่ควรมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน  มีการปรึกษาหารือในการช่วยกันแก้ไขปัญหา  ซึ่งจะทำให้เกิดบรรยายกาศที่ดีในครอบครัว  ทำให้ลูกรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในชีวิต  และมีอารมณ์ดี


เพียงเท่านี้  ลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่ก็จะเติบโตขึ้นเป็นเยาวชนที่มีคุณภาพตามที่คุณพ่อคุณแม่คาดหวังแล้ว



ข้อมูลอ้างอิง

ผู้แต่ง  นพ. สมชาย เกยูรวิเชียร
          ภาควิชากุมารแพทย์ โรงพยาบาลเมืองสมุทร
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/sepm/cute-little-kids/

No comments:

Post a Comment