Saturday, June 12, 2010

สมาธิสั้น

พฤติกรรมต่างๆ ดังต่อไปนี้  อาจจะช่วยให้พ่อแม่และครูตัดสินใจได้คร่าวๆ ว่าเด็กมีปัญหาหรือไม่  ถ้าไม่แน่ใจก็คงจะต้องปรึกษาแพทย์

สำหรับเด็กระดับชั้น ป. 1 หรือในเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป  ก็จะพบอาการต่างๆ ซึ่งจะแบ่งออกเป็นอาการสำคัญ 3 ด้านใหญ่าๆ เห็นได้ชัดในเด็กโตมากกว่าเด็กเล็ก คือ

1อาการไม่มีสมาธิ (Inattention)

*  มีความสะเพร่า เลินเล่อ ผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ทั้งๆ ที่รู้ เพราะไม่ใส่ใจในรายละเอียดของงาน เช่น งานที่โรงเรียน การบ้านหรือกิจกรรม และมักเกิดขึ้นเสมอๆ

*  ไม่มีสมาธิที่จะทำงานได้นาน เหม่อลอย เล่นได้ไม่นาน แต่บางครั้งหากเป็นวีดีโอเกมหรือรายการโทรทัศน์ที่สนใจมากๆ อาจจะตั้งใจเป็นเวลาหลายๆ ชั่วโมงได้

*  ดูเหมือนไม่ฟังเวลาพูดด้วยหรือสอน จะจำไม่ได้ ขี้ลืมมากกว่าเด็กทั่วไป

*  ทำงานไม่เสร็จ งานในห้องเรียนชั่วโมงเรียนไม่เสร็จ ทำงานช้า ช้ามากเพราะมัวแต่เหม่อลอยบางครั้ง ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน หรือบางครั้งอาจจะลุกเดินไปมา บางครั้งอาจจะเหม่อลอย

*  ชอบทำของหายบ่อยๆ เช่น ของเล่น การบ้าน ดินสอ หนังสือ ยางลบ ฯลฯ

*  วอกแวกกับสิ่งแวดล้อมได้ง่ายมาก

*  ดูเหมือนไม่ค่อยมีความรับผิดชอบ

2อาการอยู่ไม่สุข (Hyperactivity)

*  ชอบเดินไปมาในห้อง หรือออกนอกห้อง ถ้าไม่เดินก็จะนั่งหยุกหยิกที่โต๊ะ หยิบโน่นหยิบนี่ หมุนเก้าอี้ บางครั้งมุดใต้โต๊ะ

*  วิ่งเล่นหรือปีนป่ายในสถานที่ที่ไม่ควร เช่น ในวัดนั่งนิ่งไม่ได้ บางครั้งก็จะเล่นอย่างน่ากลัว โดยไม่มีทีท่าว่าจะหวาดกลัวต่ออันตรายที่จะเกิดขึ้น เช่น วิ่งข้ามถนนโดยไม่มองรถ หรือปีนขึ้นไปบนหลังคา

*  เล่นเสียงดังตึงตัง

*  ดูเหมือนจะมีพลังงานอยู่ตลอดเวลา ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

*  ชีวิตขาดระบบระเบียบ

*  ผลการเรียนขึ้นๆ ลงๆ ไม่สม่ำเสมอ บางครั้งตอนเล็กๆ เรียนดีใช้ได้ แต่เมื่อเลื่อนขึ้นชั้นสูงขึ้น ผลการเรียนก็แย่ลง แต่ละปีคะแนนแต่ละวิชาก็ไม่เท่ากัน บางปีวิชานี้คะแนนดี ปีถัดไปวิชานี้คะแนนแย่ลง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับครูและสิ่งแวดล้อมในห้อง

*  ไม่ค่อยมีเพื่อน แต่ในบางครั้งก็จะเป็นเด็กที่มีเพื่อนมาก เพื่อนรัก

*  ครูมักจะบ่นว่าเป็นเด็กขี้เกียจ เป็นเด็กที่ไม่ตั้งใจ เป็นเด็กเหม่อลอย เป็นเด็กขาดแรงจูงใจ เป็นเด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม

3ขาดความยับยั้งชั่งใจ อดรนทนรออะไรไม่ได้  (Impulsive)

*  พูดมากจนเกินควร โพล่งคำตอบทั้งๆ ที่คำถามยังไม่ทันจบ ชอบพูดแทรกคนอื่น

*  รอไม่เป็น ไม่ยอมรอ เช่น เข้าแถวรอหรือผลัดกันเล่นเกมไม่สามารถรอได้

*  บางครั้งทำอะไรรวดเร็วโดยที่ไม่คิด

เด็กบางคนอาจจะมีพฤติกรรมที่สำคัญทั้ง 3 ด้าน แต่บางคนอาจจะมี 1 หรือ 2 ด้านก็ได้ เช่น เด็กบางคนอาจจะไม่ซน อาจจะอดรนทนรอได้ ยับยั้งชั่งใจได้ แต่ไม่มีสมาธิ จะนั่งเฉย ใจลอย เหม่อลอย วอกแวกง่าย ก็เป็นไปได้ และก็มีผลต่อการเรียนเช่นเดียวกัน

เด็กบางคนอาจจะแสดงลักษณะอาการตั้งแต่อายุยังน้อยๆ ตั้งแต่ในระดับก่อนเข้าอนุบาลหรืออนุบาล แต่ส่วนใหญ่แล้วจะวินิจฉัยได้ก็ต่อเมื่อเด็กอยู่ในระดับประถมขึ้นไป ทั้งนี้เด็กจะแสดงพฤติกรรมที่เป็นปัญหามากที่สุดเมื่อต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นระเบียบและต้องอยู่ร่วมกับเด็กอื่นๆ เป็นจำนวนมาก

บทบาทของผู้ปกครอง

ผลของความช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญๆ ดังนี้ คือ ผู้ปกครอง สิ่งแวดล้อมที่บ้าน ครู สิ่งแวดล้อมในห้องเรียน และตัวเด็กเอง ผู้ปกครองเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด หากผู้ปกครองไม่เข้าใจ ไม่ให้ความร่วมมือ เด็กจะไม่สามารถดีขึ้นได้เต็มตามศักยภาพ สิ่งต่างๆ ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำสำหรับผู้ปกครองที่จะนำไปปฏิบัติให้ความช่วยเหลือต่อบุตรหลานที่มีปัญหาสมาธิสั้น

1.  การสร้างความรัก ความเข้าใจว่่าเด็กที่มีสมาธิสั้นและอยู่ไม่สุขนี้ไม่ใช่เป็นเพราะเขาแกล้ง ไม่ใช่เป็นเพราะเขาเป็นเด็กไม่ดี หรือเป็นเด็กดื้อ แต่เนีื่องจากเด็กไม่สามารถควบคุมตนเองได้ เพราะความไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง เมื่อมีความรักความเข้าใจ คำพูดในทางบวก คำชม การกอด รางวัลเล็กๆ น้อยๆ เมื่อเขาทำความดีก็จะช่วยให้เขาพยายามที่จะควบคุมตัวเองมากขึ้น

2.  จัดกิจวัตรประจำวันให้เป็นเวลา ช่วยเขาจัดระบบระเบียบ เช่น อาจจะต้องทำตารางติดไว้ที่ผนังบ้าน ประตูหรือตู้เย็น ว่าหลังกลับจากโรงเรียนแล้ว เขาควรจะต้องทำอะไรบ้าง เช่น ไปอาบน้ำก่อน หรือวิ่งเล่นก่อน หลังจากนั้นรับประทานอาหารแล้วจึงทำการบ้าน เป็นช่วงๆ ของเวลา ก็จะทำให้เขาสามารถที่จะจัดระบบเองได้และถ้าหากเขาสามารถที่จะดูแลตนเอง รับผิดชอบตนเองได้ ก็ทำตารางให้ดาว คือการให้รางวัล เป็นสติ๊กเกอร์รูปดาวตามจำนวนที่เขาสามารถจะทำได้ รวมทั้งมีข้อตกลงกันด้วยว่า ถ้าหากทำได้กี่ดาวจะได้สิ่งที่เขาต้องการ ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจภายนอกที่จะช่วยให้เขาพยายามที่จะบังคับตนเองให้มีระบบระเบียบมากขึ้น กฎระเบียบต่างๆ เหล่านี้จะต้องให้ชัดเจน สม่ำเสมอ และปฏิบัติตามกฎนั้นอย่างเคร่งครัด

3.  การออกกำลังกาย จะพบว่าเด็กกลุ่มนี้มีพลังงานมากมหาศาล การออกกำลังกาย เช่น การว่ายน้ำ การเล่นกีฬาอื่นๆ ก็จะทำให้สมาธิดีขึ้นได้ และการออกกำลังกายสม่ำเสมอยังเป็นผลดีต่อสุขภาพด้วย

4.  หากิจกรรมที่เพิ่มสมาธิ เช่น การปั้นดินน้ำมัน การวาดรูป หรือนั่งสมาธิ

5.  ลดสิ่งเร้าต่างๆ เช่น การดูโทรทัศน์ที่มากจนเกินไปอาจมีผลทำให้เด็กสมาธิสั้นได้ จึงควรจะจำกัดเวลาดูไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากนั้นเวลาทำการบ้านที่บ้าน ต้องหามุมสงบที่เงียบไม่มีสิ่งรบกวน เช่น ไม่นั่งทำการบ้านท่ามกลางเสียงโทรทัศน์ ของเล่น ที่จะทำให้เขาวอกแวกได้ง่ายมาก

6.  ให้แน่ใจว่าลูกรับทราบเวลาพ่อแม่พูดด้วย โดยจะต้องเรียกร้องความสนใจเขาก่อน แล้วให้เขาหันมาจ้องหน้า สบตา มองตา และออกคำสั่งช้าๆ ชัดๆ สั้นๆ ให้ทำอะไร และอย่าสั่งหลายขั้นตอน ให้ค่อยๆ สั่งทีละอย่าง เมื่อเสร็จแล้วค่อยสั่งต่อ

7.  ต้องฝึกให้เด็กมีระเบียบวินัยในตนเอง ช่วยเหลือตนเอง เช่น กิจวัตรประจำวัน อาบน้ำ แต่งตัว ทำการบ้านเอง จากการวิจัยพบว่าเด็กที่พ่อแม่ช่วยดูแลการบ้าน ดูว่าลูกทำการบ้านอะไรบ้าง เรียนอะไรบ้าง แต่ไม่ใช่ช่วยทำการบ้านให้ ก็คือดูแลใกล้ชิด จะพบว่าเด็กกลุ่มนี้มีเชาวน์ปัญญาสูงกว่าเด็กที่พ่อแม่ปล่อยปละละเลย ไม่ได้สนใจดูการบ้านลูก

ที่สำคัญที่สุดคือพ่อแม่จะต้องตั้งความคาดหวังให้เหมาะสมกับความสามารถของเด็ก จะต้องดูว่าถ้าเด็กได้พยายามทำงานอย่างเต็มที่แล้ว คะแนนเท่าไรก็เป็นที่ยอมรับได้ทั้งสิ้น อย่าไปมุ่งเน้นว่าจะต้องทำคะแนนให้ดีที่สุด เพราะเด็กแต่ละคนจะมีความสามารถแตกต่่างกัน เด็กบางคนอาจจะเรียนได้ระดับกลางๆ แต่ประสบความสำเร็จ เพราะมีความเป็นอัจฉริยะทางด้านอื่น ให้เน้นที่ความพยายามไม่ใช่ที่ผลสอบ

ที่มา:

ผู้แต่ง :  คุณศันสนีย์ ฉัตรคุปต์
            คู่มือครูและผู้ปกครองสำหรับเด็กสมาธิสั้น
            กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2546, (หน้า 5 - 8 และ 15 - 18)

No comments:

Post a Comment