Wednesday, October 27, 2010

ลักษณะของเด็กที่มี EQ สูง

เวสตัน แอนด์ เวสตัน (Weston and Weston 1996) กล่าวถึงคุณลักษณะที่ควรสร้างขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อให้มี EQ สูงและมีความสุขในการดำเนินชีวิตในสังคม คือ

* รักความยุติธรรม ซื่อสัตย์ มีเมตตากรุณา

* เคารพกฎหมายและรับฟังเสียงส่วนใหญ่

* มีจิตใจเป็นอิสระและเปิดกว้าง

* มีคุณภาพชีวิตและมีหลักการในการดำเนินชีวิต

* เป็นที่ไว้วางใจและน่านับถือ

* รักและมีเมตตาผู้อื่น

* มีระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ

* มีความรู้ดีและมีแรงจูงใจสูง

* เอาใจใส่ดูแลสุขภาพร่างกายของตนเอง

* มีความสามารถในการแก้ปัญหาทั้งใหญ่และเล็กได้

* มีความสุขกับชีวิตและสนุกสนาน

* มีการสื่อสารที่เปิดเผย ตรงไปตรงมา และเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น

* เป็นคนดี


ทักษะพื้นฐานที่จะสร้างคุณลักษณะสำคัญของเด็ก

1.  ศักยภาพส่วนบุคคล ได้แก่ การรู้จักตนเอง (self knowledge) การมีความนับถือตนเอง (self esteem) และการสร้างแรงจูงใจที่ดีต่อตนเอง

2.  การตระหนักรู้ตนเอง (self awareness) ได้แก่ การบริหารจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง การหยั่งรู้ความรู้สึกของตนเองอย่างแจ่มแจ้งและมีการแสดงออกที่สอดคล้องกับการรู้จักตนเอง ตลอดจนเข้าถึงญาณทัศนะในการหยั่งรู้ถ่องแท้ในตนเอง (intuition)

3.  การเข้ากับสังคมได้ดี ได้แก่ มีทักษะในการเข้าสังคม มีความสามารถทางสังคมและการสร้างทีมงาน

4.  ความสามารถในการรับความรู้สึกได้ไว มีศีลธรรม รับผิดชอบ มีการตัดสินใจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรม และการคิดอย่างมีอิสระ (มีเสรีภาพในการคิด)

5.  การมีความพึงพอใจกับชีวิต ได้แก่ ความสนุกสนาน ร่าเริง มีวิธีจัดการกับความเครียดและการแสวงหาความสงบด้านในของตนเอง

6.  ความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ จัดการกับวิกฤติการณ์และความขัดแย้งต่างๆ ได้

7.  มีมนุษยธรรม เห็นอกเห็นใจ รู้จักเคารพ นับถือ ชื่นชม และพึงพอใจผู้อื่น


ดังนั้นในการที่จะพัฒนา EQ  ให้กับนักเรียน
จึงเป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง และครู
ในการที่จะหาวิธีการและกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะ EQ ที่จำเป็น
ดังต่อไปนี้


* การพัฒนาความเห็นอกเห็นใจและเอื้ออาทร

   คุณลักษณะของ EQ ในด้านความเห็นอกเห็นใจและเอื้ออาทรที่จะพัฒนาให้เด็กๆ นั้นมีอยู่แล้วในหลักคำสอนของทุกศาสนา และนอกจากนี้ควรให้เด็กได้มีโอกาสทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์และทำงานให้กับสังคมในห้องเรียน ในโรงเรียน และในชุมชน รวมทั้งให้เด็กมีหน้าที่รับผิดชอบในครอบครัว ตามวัยของเด็ก นอกจากนี้หากมีโอกาสควรให้เด็กได้เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเดือดร้อนจากเหตุการณ์ต่างๆ ตามสมควร

* การพัฒนาความซื่อสัตย์และคุณธรรม

   การสอนให้เด็กรู้จักผิด-ถูก เมื่อเด็กกระทำผิด เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเพราะจะพลาดโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาในเรื่องคุณธรรมและความซื่อสัตย์

* การพัฒนาทักษะการคิด

   การฝึกให้เด็กๆ มีการคิดที่สอดคล้องกับความเป็นจริง (Realistic Thinking) ซึ่งอาจจะใช้วิธีการเล่านิทาน การเล่าชีวประวัติบุคคลสำคัญ ตลอดจนการให้โอกาสเด็กเผชิญกับความจริงในชีวิต การคิดในแง่บวก จะเป็นการพัฒนาทักษะการคิดนี้ได้

* การฝึกทักษะแก้ปัญหา

   ผุ้ใหญ่สามารถช่วยพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้ โดยให้เวลาพูดคุยกับเด็กๆ แสดงความสนใจและมีความไวต่อการรับรู้ปัญหาของเด็ก จะทำให้เด็กเชื่อมั่นและปรึกษาผู้ใหญ่เมื่อมีปัญหา ดร.อาร์โนลด์ โกลด์สไตน์ ชี้แนะการสอนให้เด็กแก้ปัญหาซับซ้อนตามขั้นตอน 7 ขั้น ดังนี้
1. ให้เด็กเห็นความสำคัญของปัญหา โดยครุ่นคิดถึงสาเหตุและการแก้ไขปัญหา

2. ให้เด็กรู้จักความหมายและลักษณะเฉพาะของปัญหานั้น เช่น ความกังวล ความกลัว ฯลฯ

3. ให้เด็กแสดงความรู้สึกของตนเองต่อปัญหานั้น

4. ให้เด็กฟังทัศนะของผู้อื่นต่อปัญหานั้น

5. ให้เด็กพิจารณาขั้นตอนการแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ให้ลุล่วง

6. ให้เด็กรู้จักประเมินผลจากการตัดสินใจ สิ่งที่จะเกิดขึ้น สิ่งที่จะตามมา

7. ฝึกการแก้ปัญหาจนสำเร็จลุล่วง อาจมีการให้รางวัลเพื่อเป็นกำลังใจ

* การพัฒนาทักษะสังคม

สิ่งที่ต้องคำนึงในการพัฒนาทักษะสังคมของเด็ก คือ 

1. การสอนทักษะทางสังคมต้องทำอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เช่น การเป็นผู้ฟังที่ดี การสื่อสารกับผู้อื่น

2. ผู้ใหญ่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพและมีการแสดงออกที่ดีต่อทุกคน ซึ่งเด็กจะได้เลียนแบบ

3. การผิดหวัง ความคับข้องใจ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้

4. ความขัดแย้ง ควรแก้ด้วยการประนีประนอม ถ้อยทีถ้อยอาศัย โดยใช้อารมณ์ขันและความรักซึ่งกันและกัน

5. ชี้ให้เด็กเห็นว่าความก้าวร้าวและความรุนแรงไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ดี และควรสอนให้เด็กๆ รู้จักช่วยเหลือสังคมดีกว่าต่อต้านสังคม

6. สำหรับเด็กขี้อาย วิธีฝึกทักษะในการสื่อสารให้พยายามแสดงบทบาทสมมุติ ฝึกการแสดงความคิดเห็น รวมถึงการรู้จักใช้วิธีการสื่อสารโดยไม่ใช้คำพูด

* การสร้างแรงจูงใจและทักษะสู่ความสำเร็จ

   สอนเด็กๆ ใ้ห้คาดหวังต่อความสำเร็จ โดยเปิดโอกาสให้เด็กเป็นผู้ควบคุมตนเองในโลกใบเล็กของเขา ศึกษาในสิ่งที่เป็นความสนใจของเด็ก สอนเด็กให้เห็นคุณค่าของความพยายาม รวมทั้งการเผชิญหน้ากับปัญหาและเอาชนะความล้มเหลว

* การพัฒนาทักษะควบคุมอารมณ์

   การช่วยให้เด็กๆ ควบคุมตนเองอย่างได้ผล ควรฝึกทั้งอารมณ์ความรู้สึกและการนึกคิดต่างๆ เพราะจะให้มัผลต่อสมองส่วนอารมณ์และสมองส่วนควบคุมความคิด


แหล่งข้อมูลอ้างอิง  :   หนังสือ พัฒนา EQ เด็กได้อย่างไร
                               โดย ผศ. อุสา สุทธิสาคร

                               เอกสาร ข่าวสารงานแนะแนว
                               โรงเรียน อัสสัมชัญ แผนกประถม
                           


No comments:

Post a Comment