Tuesday, August 21, 2012

หน้าฝนพรำ พรำ...ที่นำโรคร้ายมาให้ลูก



อากาศชื้นและฟ้าที่ครึ้มเกือบตลอดเวลา ในช่วงหน้าฝนสร้างความอืดอาดและเอื่อยเฉื่อยให้กับการทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน แต่เช่นเดิมเหมือนหน้าฝนในทุก ๆ ปีค่ะ สิ่งที่พ่อแม่ ต้องดูและเอาใจใส่เป็นพิเศษคือ สุขภาพของลูกน้อย โดยเฉพาะลูกน้อยวัยเบบี๋ ที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายยังไม่สมบูรณ์นัก และมักป่วยไข้ ได้ง่ายจากโรคตามฤดูกาล 3 โรคนี้นี้เจ้าตัวเล็กมักจะป่วยได้ง่ายในช่วงหน้าฝนนี้ค่ะ

ไข้หวัดใหญ่

           
โรคไข้หวัดใหญ่ หรือ Influenza เป็นโรคที่พบบ่อยในคนทุกเพศทุกวัย พบได้เกือบทั้งปี เพราะไทยอยู่ในเขตร้อนขึ้น แต่จะเป็นมากในช่วงฤดูฝน ซึ่งบางปีอาจจะพบการระบาด ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของอาการไข้ที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน แพทย์มักจะให้การวินิจฉัยเด็กที่มีอาการตัวร้อนมา 2-3 วัน โดยไม่มีอาการอย่างอื่นชัดเจนว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ซึ่งบางครั้งก็อาจพบการผิดพลาดได้ ไข้หวัดใหญ่แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดาตรงที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อาการหลักๆ เด็กจะมีไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ ไอ หรือเจ็บคอ ซึ่งเด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบ ผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง จะมีโอกาสเสี่ยง และมีอาการรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่น

           
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ควรฉีดประมาณ 1-2 เดือนก่อนฤดูกาลระบาดของโรคในทุกๆ ปี และสามารถฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป การป้องกันที่ดีที่สุด คือ ผู้ป่วยพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่คนอื่น รวมถึงใส่หน้ากากล้างมือ และทานอาหารให้ถูกสุขอนามัย จะเป็นการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

ไข้เลือดออก

           
เป็นโรคที่มียุงลาย เป็นพาหะนำโรค มีโอกาสเป็นได้ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ไม่ว่าจะอยู่ในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด ถ้าได้รับเชื้อแล้ว จะมีไข้สูงเกิน 3 วันขึ้นไป ตาและหน้าจะเริ่มแดง มีความรู้สึกอ่อนเพลีย และปวดท้อง โรคนี้ระบาดได้ทั้งปี โดยเฉพาะในหน้าฝน เพราะโอกาสที่น้ำจะขังมีได้มาก เพราะฉะนั้นอาการที่ให้สงสัยเลยว่า ลูกคุณอาจจะเป็นไข้เลือดออกคือ มีไข้สูงมาก กินยาลดไข้เท่าไหร่ก็ไม่ได้ผล ปวดหัว ปวดกระบอกตา หรือปวดเมื่อยตามตัว มีอาการตาแดง หน้าแดง ปากแดง เป็นต้น นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดภาวะตับอักเสบ ทำให้คนไข้มีอาการปวดท้อง โดยเฉพาะตรงบริเวณชายโครงด้านขวา ซึ่งเป็นตำแหน่งของตับ นั่นเพราะตัวตับโต ขณะเดียวกันจะมีการอาเจียนร่วมด้วย และมีภาวะขาดน้ำ

           
ซึ่งอาการเหล่านี้ ถ้ามาพบแพทย์ได้ทัน จะคาดการณ์ได้ว่า ลูกคุณมีกลุ่มอาการตรงกับไข้เลือดออก และแพทย์จะทำการตรวจสอบต่อไป เช่น รัดแขนที่ความดันระดับหนึ่งเพื่อดูจุดที่มีเลือดออกว่าเกิดขึ้นได้หรือไม่ เป็นต้น การป้องกันที่ดีคือ อย่าให้ยุงกัด และอย่าให้ยุงเกิด ด้วยการจำกัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้หมดสิ้น และอย่ารอให้เกิดอาการที่รุนแรงก่อน แล้วจึงมาพบแพทย์ เช่น เป็นไข้สูงเกินไป ช็อก หรือมีปัญหาเลือดออกง่าย ต้องรีบพาลูกมาพบแพทย์ทันที

ไอพีดี

           
โรคไอพีดี หรือที่เรียกว่า Invasive Pneumococcal Disease คือโรคติดเชื้อชนิดรุนแรงที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ นิวโมคอคคัสทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดและที่เยื้อหุ้มสมอง ซึ่งมีความรุนแรง และอาจทำให้เด็กพิการ หรือเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ถ้าติดเชื้อที่ระบบประสาท เช่น เยื้อหุ้มสมองอักเสบ เด็กจะมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาจเจียน คอแข็ง เด็กเล็กจะมีอาการงอแง ซึม และชักได้ ส่วนการติดเชื้อในกระแสเลือดเด็กจะมีไข้สูง งอแง ถ้ารุนแรงอาจทำให้ช็อก และเสียชีวิตได้

           
อย่างไรก็ดีถ้ามีอาการดังกล่าวควรรีบพามาพบแพทย์ทันที จากข้อมูลการประเมินขององค์กรอนามัยโลก และยูนิเซฟพบว่า ปอดบวมเป็นโรคที่คร่าชีวิตเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เป็นอันดับ 1 ของโลก โดยมีเด็กที่เสียชีวิตจากโรคนี้สูงถึง 2 ล้านคนต่อปี ซึ่งมากกว่าโรคเอดส์ มาลาเรีย และหัดรวมกัน ปัจจุบันมีวัคซีนฉีดให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง ส่วนในทารกควรเริ่มฉีดเมื่ออายุได้ 2 เดือนขึ้นไป และฉีดเข็มต่อไปเมื่ออายุได้ 4, 6 และ 12-15 เดือน โดยเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง วัคซีนจึงมีส่วนสำคัญ สำหรับการป้องกันควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และสร้างสุขอนามัยที่ดีกับลูกเป็นตัวช่วยที่สำคัญที่สุด

 แหล่งที่มา  กระปุกดอทคอม / Pregnancy & BABY


 เสื้อผ้าเด็ก


No comments:

Post a Comment