Thursday, August 30, 2012

คว่ำ หงาย..อย่างไรดี


จะให้ลูกนอนหงาย  กลัวหัวไม่สวยแล้วยังอาจสำลัก อาหารไปอุดหลอดลมได้ แต่จะให้ลูกนอนคว่ำก็กลัวไหลตายเสียอีก เอ๊ะ..พ่อแม่จะทำยังไงดี  ตั้งแต่โบราณนานมา ปู่ย่าตายายของไทยเรา ให้ทารกเกิดใหม่นอนหงายกันทุกราย ทำเอาหัวแบนราบกันไปหมด ไม่เคยได้ยินว่าคนโบราณให้ลูกหลานนอนคว่ำยุคต่อมาอีกหน่อย นิยมให้ทารกน้อยนอนคว่ำ หัวจะได้ทุยสวย ยุคนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องขัดแย้งกับคุณย่าคุณยาย ที่กลัวหลานหายใจไม่ออก บางบ้านใช้กลยุทธิ์ "ยายอยู่นอนหงาย ยายไปนอนคว่ำ"

ยุคใหม่เปลี่ยนอีกแล้ว  กุมารแพทย์แนะนำให้ทารกนอนหงาย  คุณพ่อคุณแม่ชักงง  เอ..ทำไมคุณหมอพูดกลับไปกลับมา สร้างความงุนงงสงสัยเช่นนี้  หมอนิตจึงต้องไปหาความรู้ในเรื่องนี้จนพบว่า ตอนนี้เหตุที่กุมารแพทย์แนะนำให้ทารกนอนหงาย เพราะมีรายงานทางการแพทย์พบว่า อุบัติการการเกิดโรค sudden infant death syndrome (SIDS) นั้น พบได้บ่อยในเด็กนอนคว่ำ บ่อยกว่าในเด็กนอนตะแคง และพบต่ำสุดในเด็กนอนหงาย

โรค SIDS นั้น พูดง่ายๆ ว่าทารกนอนหลับแล้วตายไปเฉยๆ อันเป็นโรคที่ทุกวันนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน เรียกว่าอยู่ในระหว่างตามล่าหาความจริงเขาศึกษากันมากมายว่า เด็กที่นอนหลับตายไปเฉยๆ นั้น พบบ่อยในเด็กประเภทใดบ้าง ผลการศึกษาค้นคว้าหลายๆ รายงานพบว่า ในเด็กที่เป็น SIDS ตาย ส่วนใหญ่เป็นพวกเด็กนอนคว่ำมากกว่าพวกนอนหงาย แต่ยังสรุปไม่ได้หรอกนะคะว่า การนอนคว่ำเป็นต้นเหตุให้เด็กตาย


อย่างไรก็ดี อย่าเสี่ยงดีกว่า
อ้าว..แล้ว ทำไมแต่ก่อนให้นอนคว่ำล่ะตอบแบบกำปั้นทุบดิน คือ ตอนนั้นยังไม่รู้นี่นา ว่าโรค SIDS พบในเด็กนอนคว่ำมากกว่าเด็กนอนหงาย ก็การศึกษาเรื่องนี้ในสมัยนั้นยังมีน้อยอยู่


ข้อดีของการนอนคว่ำ
แต่นอนคว่ำมันก็มีข้อดีอยู่เหมือนกัน เพราะปอดจะทำงานได้ดีกว่า เนื่องจากไม่ถูกหัวใจกดทับ ทำให้ปอดขยายตัวได้ดีเวลาเด็กหายใจ มีผลให้ออกซิเจนในเลือดเด็กสูง เม็ดเลือดแดงก็นำเอาออกซิเจนนี้ไปให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายต่อไป นอกจากนี้ในเด็กที่มีการท้นและสำรอกบ่อยๆ ซึ่งอาจเป็นจากหูรูดตรงรอยต่อของกระเพาะอาหารกับหลอดอาหารยังทำงานไม่ดีนัก ถ้าให้เด็กนอนคว่ำ อาหารหรือนมที่ท้นขึ้นมาจะได้แหวะกันออกไปให้หมดเรื่องหมดราวเลย อย่างมากก็เปลี่ยนผ้าปูที่นอนกันใหม่เท่านั้น แต่ถ้าจับนอนหงาย อาหารอาจย้อนเข้าหลอดลม ทำให้สำลัก เศษอาหารอาจไปอุดตันหลอดลม เกิดปอดแฟบ ปอดอักเสบตามมาได้ แต่ถ้ามาชั่งใจกันตอนนี้ ซึ่งเรารู้ข้อมูลละเอียดกว่าก่อนแล้ว ว่าถ้าจะให้เลือกระหว่างเสี่ยงสำลักนมกับเสี่ยงตาย ทุกคนคงเลือกเสี่ยงสำลักนม ใช่ไหมคะ


ข้อดีของท่านอนหงาย
มีรายงานจาก European journal of Pediatric แนะนำว่า ในเด็กที่มีปัญหาเรื่องอาหารที่มักท้นหรือสำรอก การรักษาโรคนี้ด้วยการนอนคว่ำ ในท่าที่ยกหัวสูง 30 องศา แม้จะได้ผลดี ลดการสำรอก สำลักลงได้ แต่เพราะพบว่าอุบัติการของโรค SIDS สูงในเด็กนอนคว่ำ จึงไม่แนะนำให้ใช้การนอนคว่ำเป็นการรักษาหลักของโรคอาหารท้นหรือสำรอกนี้ แต่จะใช้การรักษาอย่างอื่น (เช่น ให้ยา) ด้วย และจะใช้การนอนคว่ำรักษาเฉพาะในเด็กโตพ้นวัยที่จะเป็น SIDS (เด็ก 6 เดือนขึ้นไปไม่ค่อยเป็น SIDS) แล้วเท่านั้น แต่ในเด็กเล็กที่มีอาการปกติ ไม่มีปัญหาการท้น สามารถนอนหงายได้เลยค่ะ และใน ปีพ.ศ. 2539 American Academy of Pediatrics ได้มีคำแนะนำให้เด็กทารกนอนหงาย โดยยกเหตุผลว่า ท่านอนหงายมีโอกาสเกิดโรค SIDS ต่ำกว่าท่านอนตะแคงและท่านอนคว่ำ


นอกจากข้อดีของการนอนหงายที่เกี่ยวกับโรค SIDS แล้ว ยังพบว่าการนอนหงายยังมีข้อดีอีกเรื่อง คือ ในเด็กที่มีปัญหา ขาบิด ขาเก ที่มีต้นเหตุมาจากการที่หัวกระดูกต้นขาหมุนไม่ถูกต้อง ถ้าเราจับเด็กนอนหงาย เด็กจะสามารถยกแข้ง ยกขา ขยับเขยื้อน ออกกำลังขาได้อย่างอิสระ มีโอกาสให้ขาที่บิด บิดน้อยลง เรียกว่า ดีกว่าท่านอนคว่ำ ที่นอนเอาตัวเด็กทับขาไว้ ขยับไม่ค่อยจะได้ค่ะ เอ..ฟังไปฟังมา นอนหงายนี่ก็เข้าท่าดีนะ ไม่เสี่ยงมากแต่เดี๋ยวก่อน งั้นลูกก็จะหัวแบนกันหมดซิ ทำผมทรงอะไรๆ ไม่ค่อยจะสวยไม่เป็นไร..คนหัวแบนๆ หน้าบานๆ นี่แหละ โหงวเฮ้งดีนักละดูพวกอาเสี่ยซิ มีหน้าแหลมเป็นปลาดจวดซะที่ไหนเห็นแต่บานๆ กลมๆ ทั้งนั้น..


อย่างไรก็ตาม ที่พูดมาเหล่านี้หมายถึงท่านอนหลับนะคะ แต่หากลูกตื่นอยู่การได้ให้ลูกได้นอนคว่ำจะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อส่วนคอ โดยลูกจะเรียนรู้การใช้มือผลักยันและพัฒนากล้ามเนื้อส่วนไหล่ข้อศอก มือ และหลังให้แข็งแรงขึ้น และจะพยายามพลิกตัวจากที่คว่ำให้เป็นท่านอนหงายให้ได้ต่อไป และนอกจากนี้นอนคว่ำยังจะช่วยพัฒนาการมองด้วย เพราะลูกสามารถกวาดสายตามองไปรอบๆ ข้างได้ ไม่เหมือนท่านอนหงายที่เอาแต่จ้องเพดานอย่างเดียวได้ข้อมูลอย่างนี้แล้ว ช่วงหลับ ช่วงตื่น จะท่าไหนก็ขึ้นอยู่กับพ่อแม่แล้วล่ะค่ะ


นอนคว่ำ
ข้อดี

* ปอดทำงานได้ดีกว่า
* ไม่เสี่ยงต่อการสำลักอาหาร
ข้อเสีย
* เสี่ยงต่อการเกิดโรค SIDS ตาย

นอนหงาย
ข้อดี

* ไม่เสี่ยงต่อการเกิดโรค SIDS
* ช่วยให้ขาที่บิด บิดน้อยลงได้
ข้อเสีย
* เสี่ยงต่อการที่อาหารไหลย้อนเข้าหลอดลมหรือไปอุดตันหลอดลม (ในเด็กที่มีอาการ)

พ.ญ.วรรณรัตน์ ประเสริฐสม กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเด็กแรกเกิด รพ.ปิยะเวท ผู้ให้ข้อมูลบางส่วน


แหล่งข้อมูลที่มา  Momypedia



No comments:

Post a Comment