Friday, October 12, 2012

8 อาหารใจที่ลูกต้องการจากพ่อแม่






การเลี้ยงดูเด็กที่เหมาะสมมีส่วนอย่างมากในการทำให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ ทั้งกายและใจ วิธีอบรมเลี้ยงดูเด็กเพื่อให้เติบโตอย่างมีสุขภาพจิตและบุคลิกภาพที่ดีนั้น เป็นงานที่ต้องลงทุนทั้งกำลังกาย กำลังใจ ซึ่งต้องใช้เวลาหล่อหลอมหลายปีตั้งแต่เกิดจนเป็นวัยรุ่น ถ้าทำไม่สม่ำเสมอ ขาดๆ เกินๆ จะทำให้เด็กเติบโตมามีข้อบกพร่องในบุคลิกภาพไปในรูปแบบต่างๆ ได้

พญ.ภัทรวรรณ ขันธ์แก้ว จิตแพทย์ทั่วไป โรงพยาบาลมนารมย์ กล่าว ว่า การเลี้ยงลูกเป็นงานที่ต้องลงทุนทั้งกำลังกายและกำลังใจเป็นระยะเวลายาวนาน หลายปีตั้งแต่เกิดจนเป็นวัยรุ่น เป็นงานยากทุกยุคทุกสมัย ตามปัจจัยส่งเสริมกระตุ้นพัฒนาการและปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อพัฒนาการ แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นความยากก็อยู่ในงานนั้น ความง่ายก็มี ความสุขจากการเห็นพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปตามวัยก็ทำให้พ่อแม่มีความสุข ขึ้นมาก

         ไม่ว่ายุคนี้หรือยุคก่อนก็พบอุปสรรคในการเลี้ยงดูเหมือนกัน เพียงแต่มีปัจจัยแวดล้อมที่ควรระมัดระวังแตกต่างกัน สมัยก่อนการสื่อสารมีจำกัด วิทยุ ทีวี จดหมาย โทรศัพท์มีน้อยมาก ปัจจุบันการติดต่อสื่อสารรวดเร็วมาก ทำให้บางสิ่งบางอย่างในชีวิตต้องรวดเร็วไปด้วย คิดเร็ว ทำเร็ว ตัดสินใจเร็ว เพราะฉะนั้นโอกาสผิดพลาดก็อาจมีสูงไปด้วย ส่วนด้านอาหารการกินก็แตกต่างกัน

          ทั้งนี้ พญ.ภัทรวรรณ ได้ให้ข้อแนะนำและหลักในการเลี้ยงลูกที่พ่อแม่ยุคใหม่จะต้องให้ความสำคัญกับ เรื่องของอาหารใจที่ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการส่งเสริมให้เด็กมีสุขภาพจิตและบุคลิกภาพที่ดี โดยแม่จะต้องคำนึงถึงหลักการเลี้ยงลูกหลักๆ 8 ประการ ดังนี้

          1.ความรักความอบอุ่นอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง คือ ความรักทำให้เด็กมีความรู้สึกที่ดีหลายด้าน เช่น รู้สึกตัวเองมีคุณค่า มีความมั่นใจในตัวเอง รักตอบคนอื่นเป็น มีอารมณ์ร่าเริงแจ่มใส พ่อแม่ควรแสดงออกซึ่งความรักต่อเด็กด้วย การโอบกอด การลูบศีรษะบ้าง เพราะการไม่แสดงออกเลย บ่อยครั้งที่เด็กเข้าใจว่าพ่อแม่ไม่รัก พ่อแม่ห่างเหิน ไม่สนใจตนเอง ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกขาดแคลนทางจิตใจ สิ่งที่สำคัญอย่ารักและตามใจแบบไร้ขอบเขตจนกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจ และเข้ากับคนอื่นได้ยาก

          2.ทำให้ครอบครัวมีความสงบสุข หมาย ถึง การสร้างบรรยากาศที่ดีในบ้าน พ่อแม่ควรมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ปรึกษาหารือกัน เพื่อให้เด็กรู้สึกมั่นคง ปลอดภัยในชีวิต และไม่หวาดกลัว

          3.เข้าใจธรรมชาติของเด็กแต่ละวัย เพื่อพ่อแม่จะได้ตอบสนองความต้องการได้เหมาะสม ทำให้เด็กมีความสุขที่ได้รับการตอบสนองและเข้าใจ เพราะเด็กแต่ละช่วงอายุมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง

          4.พยายามเลี้ยงดูอบรมลูกด้วยตัวเองให้มากที่สุด เพราะทำให้เกิดความผูกพันซึ่งกันและกัน เกิดความใกล้ชิด อบอุ่น ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน

          5.ควรช่วยให้เด็กมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น เด็กจะมีความมั่นใจในตนเองได้ ต้องอาศัยปัจจัยข้อนี้มาก เด็กจะรู้สึกว่าตัวเองดีได้ก็ต่อเมื่อพ่อแม่เห็นว่าเขาดีพอ และช่วยส่งเสริมให้เด็กพัฒนาความรู้สึกที่ดีต่อไปได้โดยยอมรับเด็กอย่างที่ เด็กเป็น เวลาลูกทำดีควรให้คำชมเชยหรือชื่นชมในสิ่งที่เด็กทำ เขาจะได้มั่นใจว่าได้ทำสิ่งที่ถูกต้องแล้ว และเมื่อเด็กทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องไม่ควรตำหนิรุนแรง ควรบอกว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ถูกต้องอย่างไร เพราะอะไร และที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร นอกจากนั้นแม่ควรพูดเพราะๆ และสุภาพกับเด็ก รวมทั้งให้ความไว้วางใจเด็กด้วย โดยเฉพาะเวลาให้เด็กทำอะไร ควรปล่อยให้เขาทำตามความสามารถของเขา อย่าไปแสดงความรู้สึกกังวลเกินไป หรือพูดจาคาดคั้นว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้

          6.ควรให้เด็กมีอิสระและตัดสินใจเองตามวัย พ่อ แม่ควรฝึกให้ลูกได้ทดลองทำอะไรด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดประสบการณ์ และได้ฝึกการแก้ปัญหาเพื่อเกิดการเรียนรู้ โดยมีพ่อแม่คอยให้คำปรึกษาและดูอยู่ห่างๆ

          7.ส่งเสริมให้เด็กเห็นความสำคัญของตนเองไม่น้อยกว่าผู้อื่น เพื่อให้เด็กได้เห็นคุณค่าและมองว่าตัวเองก็มีความสำคัญ โดยแม่จะต้องหมั่นชื่นชมลูกตามความเหมาะสม เช่น สอบได้ที่ 1 ควรชื่นชมลูก และมีรางวัล หรือ ลูกเก็บกระเป๋าเงินของเพื่อนแล้วนำไปให้คุณครู แม่ควรชื่นชมว่าลูกเป็นคนดี มีน้ำใจและทำสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยทำให้ลูกเกิดความภาคภูมิใจและเห็นความสำคัญของตัวเอง

          8.ส่งเสริมให้เด็กคิดแบบมีหลักการและเหตุผล เวลาให้เด็กทำอะไรหรือไม่ทำอะไร ควรบอกเหตุผลให้เข้าใจง่ายๆ และสั้นๆ เช่น เล่นของมีคม ควรบอกว่าอย่าเล่นของมีคม เพราะอันตรายพลาดโดนมือแล้วเจ็บมาก สอนให้รู้ว่าเรื่องไหนควรจะอาย เรื่องไหนไม่ควรจะอาย ไม่ใช่เป็นคนขี้อายโดยไร้เหตุผล เช่น ควรละอายเมื่อทำสิ่งที่ผิด เช่น การลักขโมย แต่ไม่ใช่ว่าเกิดพลาดพลั้งหกล้มก็ต้องอายคนรอบข้าง เด็กควรเห็นว่าเรื่องนี้เป็นอุบัติเหตุธรรมดา ไม่ใช่เรื่องน่าอาย

          อ่านแล้ว อย่าลืมให้ความสำคัญกับอาหารใจกันนะคะ

แหล่งที่มา  สสส. และ วิชาการดอทคอม
                  www.thaihealth.or.th 


No comments:

Post a Comment