Sunday, October 21, 2012

เรื่องนอนๆ ของเจ้าหนู



การนอน  สำหรับลูกเล็กควรมีพัฒนาการการนอนที่เป็นไปตามวัย รวมถึงนอนหลับได้สนิทและเพียงพอ เช่น แรกเกิดยังนอนไม่เป็นเวลา ตื่นบ่อยมากินนม แต่พอลูกเริ่มโตขึ้นแต่ละเดือน การนอนของลูกก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ชั่วโมงการนอนอาจจะน้อยลง แต่เริ่มนอนและตื่นเป็นเวลามากขึ้น ซึ่งพ่อแม่ควรคอยสังเกตพัฒนาการเรื่องนี้ของลูก เพื่อช่วยให้ลูกเติบโตมีพัฒนาการสมวัย

ตามไปดู...พฤติกรรมการนอนของลูก

     อายุแรกเกิด   1 สัปดาห์ ลูกจะนอนประมาณ 16.30 ชม.ต่อวัน และนอนไม่เป็นเวลา มักจะตื่นบ่อย นอน 2-3 ชม. ตื่นอยู่ 1-2 ชม. ก็หลับต่ออีก ซึ่งไม่ต้องกังวลเพราะเป็นเรื่องปกติของเด็กแรกเกิด ที่สมองกำลังพัฒนาปรับตัวให้รู้จักการนอนที่เป็นเวลามากขึ้นเรื่อยๆ

     1 สัปดาห์   1 เดือน นอนประมาณ 16 ชม.ต่อวัน ยังนอนไม่เป็นเวลาและตื่นบ่อยคล้ายตอนแรกเกิด

     1 เดือน   2 เดือน นอนประมาณ 15.30 ชม.ต่อวัน เริ่มจะนอนหลับเป็นเวลามากขึ้น ยังคงตื่นบ่อยค่ะ แต่ลูกจะเริ่มเรียนรู้เรื่องการนอนและตื่นเป็นเวลามากขึ้นเรื่อยๆ

     2 เดือน   3 เดือน นอนประมาณ 15 ชม.ต่อวัน จะตื่นมากินนมประมาณทุกๆ 3-4 ชม. กลางคืนจะนอนประมาณ 10 ชม. กลางวันนอน 5 ชม.

     3 เดือน   6 เดือน นอนประมาณ 14.30 ชม.ต่อวัน กลางคืนนอน 10.30 ชม. กลางวันนอน 3.45 ชม. ลูกจะเริ่มตื่นกลางคืนน้อยลง จะงีบหลับตอนกลางวันประมาณ 3 รอบ

     6 เดือน   9 เดือน นอนประมาณ 14 ชม.ต่อวัน ช่วงนี้ลูกจะนอนกลางคืนยาวขึ้น เด็กบางคนจะนอนรวดเดียวจนเช้าได้ แต่ถ้าลูกยังตื่นมากินนมตอนกลางคืนอยู่ ควรจะเริ่มฝึกให้ลูกนอนตอนกลางคืนยาวนานขึ้นเรื่อยๆ เช่น อาจจะตื่นมากินนมมื้อดึกแค่ 1 ครั้ง แล้วก็นอนยาวไปจนถึงเช้ามืด สักหกโมงเช้าจึงให้นมอีกครั้ง และให้งีบหลับตอนกลางวันได้ประมาณ 2-3 รอบได้ค่ะ

     9 เดือน   12 เดือน นอนประมาณ 13.45 ชม.ต่อวัน เริ่มรู้จักกลางวันกลางคืน นอนกลางคืนยาวรวดเดียวได้ และตื่นเป็นเวลา กลางวันจะนอนน้อยลงเรื่อยๆ นอนกลางวันเหลือแค่ 2 รอบ  

     การนอนหลับสนิทเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก เพราะในช่วงที่ลูกนอนหลับเซลล์ต่างๆ ในสมองจะพักผ่อนและฟื้นฟูตัวเอง พร้อมสร้างเครือข่ายเส้นใยประสาทขึ้นมา อีกทั้งฮอร์โมนการเจริญเติบโต (GROWTH HORMONE) จะหลั่งออกมาได้ดีในช่วงที่ลูกหลับสนิทนั่นเอง

     นอนอย่างนี้ผิดปกติไหม

     นอนละเมอ บางครั้งลูกอาจจะนอนละเมอ ขยับตัวไขว่คว้าหรือส่งเสรียงระหว่างที่หลับ แต่ไม่ได้ตื่นขึ้นมา หากไม่บ่อยมากหรือละเมอจนตื่นก็ถือว่าลูกยังหลับสนิทอยู่ ไม่ต้องปลุกหรือทำอะไรกับลูกนะคะ เพียงแต่ว่าถ้าเป็นบ่อยอาจต้องหาสาเหตุว่าเพราะอะไร เช่น ถูกแกล้ง หรือมีอะไรตื่นเต้นเกิดขึ้นกับลูกมากเกินไปหรือไม่ แล้วไปแก้ที่สาเหตุนั้น

     นอนผวา ลูกแรกเกิดถึงอายุ 2-3 เดือนแรก จะนอนผวาได้โดยระบบประสาทอัตโนมัติที่สมองทำงาน ถ้ามีอะไรมากระตุ้นลูกก็จะผวา หรือขยับตัวนิดหน่อยได้ ถ้าลูกผวามากอาจจะให้ลูกนอนคว่ำ หรืออีกวิธีหนึ่งคือหาผ้าห่มหนาหน่อยมาห่มทับหน้าอกลูกไว้ก็จะช่วยให้ลูกผวา น้อยลงได้

     นอนกรน ไม่ค่อยพบว่าลูกขวบแรกนอนกรน แต่ถ้าพบนอนกรนหรือมีเสียงครืดๆ แสดงว่ามีอะไรผิดปกติในระบบทางเดินหายใจ ควรพาลูกไปพบคุณหมอค่ะ

     นอนลืมตา หรือที่เราเรียกว่าตากระต่าย เวลานอนเปลือกตาลูกจะปิดไม่สนิท อันนี้เป็นธรรมชาติของเด็กแต่ละคน ไม่มีผลเสียอะไรต่อเด็กค่ะ

     นอนดึก พอถึงวัยประมาณ 8-9 เดือน ที่ลูกเริ่มจะกลัวการพลัดพรากจากพ่อแม่ หรือเริ่มโตติดเล่น ลูกจะไม่อยากเข้านอน อยากอยู่เล่นกับพ่อแม่จนดึกดื่น คุณพ่อคุณแม่ควรจะค่อยๆ ฝึกนิสัยในการนอนของลูก พยายามหาสาเหตุว่า ลูกไม่ยอมนอนเพราะอะไร เช่น ก่อนนอนเล่นสนุกมากไป พยายามแก้ที่สาเหตุ และค่อยๆ ปรับพฤติกรรมการนอนของลูกให้เข้าที่เข้าทาง

แหล่งที่มา   Mothers’ Digest บันทึกคุณแม่


No comments:

Post a Comment