Monday, October 22, 2012

เกมส์..มหันตภัยใกล้ตัวลูก



         ในยุคสมัยเทคโนโลยีก้าวไกลเช่นทุกวันนี้ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกทั้งหลายเข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตประจำวัน ประจำบ้านเกือบทุกครอบครัว ซึ่งมีผลดีในการเพิ่มความรวดเร็วในการทำกิจวัตรประจำวัน แต่ก็เป็นดาบสองคมเช่นกัน

          ในทางการแพทย์ภาวะติดสิ่งเสพติดต่าง ๆ นั้น ไม่เฉพาะแต่สารเสพติดที่เป็นสารเคมี เช่น เหล้า บุหรี่ ยาบ้า เท่านั้น แต่การกระทำหรือพฤติกรรมก็เป็นสิ่งเสพติดได้ เช่น เกมส์ การพนัน การติดบางอย่างนำพาความเสียหายเข้ามาในชีวิตและครอบครัว  แต่พฤติกรรมการติดบางอย่างก็ทำให้ชีวิตดีขึ้นได้ เช่น ติดการเล่นกีฬา ติดการทำบุญไหว้พระ

          ดังนั้น ทำอย่างไรที่จะทำให้เด็ก ๆ ในครอบครัวของเรามีพฤติกรรมการเสพติดในสิ่งที่ดี เหล่านี้จึงเป็นข้อคิดให้ผู้ปกครอง คุณพ่อ คุณแม่ ทั้งหลายตระหนักและคิดให้รอบคอบก่อนนำอุปกรณ์เทคโนโลยีสูงมาไว้ในบ้าน ว่าจะทำให้ชีวิตของเด็ก ๆ ในบ้านดีขึ้นหรือแย่ลง ถ้าคิดและป้องกันล่วงหน้า วางกฎและตั้งกติกากันก่อน การมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกก็จะนำมาซึ่งความสะดวกสบายจริง ๆ
          ในทางตรงกันข้ามถ้าบางบ้านได้พบกับปัญหาเหล่านี้แล้ว ว่าลูก ๆ ใช้เวลาในแต่ละวันหมดไปกับการเล่นเกมส์ การที่จะนิ่งดูอยู่เฉย ๆ หรือลุกขึ้นมาหาวิธีหยุดยั้งพฤติกรรมเหล่านั้น ขึ้นอยู่กับตัวคุณพ่อคุณแม่เอง
รู้ได้อย่างไรว่าลูกติดเกมส์

          การที่ลูกอยู่ในภาวะติดเกมส์หรือไม่นั้น คุณพ่อ คุณแม่สังเกตได้ว่าลูกมีลักษณะต่อไปนี้เกิน 3 ข้อขึ้นไป (ข้อมูลจาก ICD-10 สถาบันสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข)
1. มีความต้องการมากหรือบ่อยที่จะเล่นเกมส์
2. ควบคุมการเล่นให้อยู่ในเวลาไม่ได้ เช่น การเริ่มเล่น การหยุดเล่น หรือความถี่รวมถึงความยาวนานในการเล่น
 3. ถ้าหยุดเล่นหรือถูกห้ามไม่ให้เล่น จะมีอาการต่าง ๆ เช่น หงุดหงิด ก้าวร้าว อารมณ์ไม่ดี เป็นต้น
4. เกิดภาวะ Tolerance คือ มีความต้องการเล่นเกมส์เพิ่มมากขึ้น ทั้งจำนวนเวลาในการเล่น และจำนวนครั้งในการเล่น
5. ค่อย ๆ เหินห่างไม่สนใจสิ่งที่เคยพึงพอใจอื่น ๆ เช่น การพูกคุยกับครอบครัวหรือเล่นกีฬากับเพื่อน ๆ  เพื่อเอาเวลาเหล่านั้นไปหมกมุ่นอยู่กับการเล่นเกมส์
6. ยังคงเล่นเกมส์อยู่แม้จะมีหลักฐานแสดงถึงผลกระทบที่ไม่ดีแล้ว เช่น ผลการเรียนลดลง สายตาแย่ลง ปวดศีรษะบ่อย ๆ เป็นต้น
          จาก 6 ประการข้างต้น ถ้าลูกหรือบุตรหลานของเราเข้าข่าย 3 ใน 6 ข้อ จัดว่าเข้าเกณฑ์การติดเกมส์แล้ว จำเป็นที่จะต้องยุติ หรือดึงชีวิตเขาออกมาจากภาวะดังกล่าว ซึ่งแน่นอนย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพียงแค่บอกหรือสั่งเท่านั้น คงต้องมีวิธีการอื่น ๆ ทดแทน หมายถึงต้องมีกิจกรรมอื่น ให้เขา ซึ่งสิ่งทดแทนนั้นก็ต้องน่าสนใจพอสมควร  เป็นต้นว่า การให้เขาหันมาติดการออกกำลังกายแทน หรือการไปเที่ยวกันทั้งครอบครัว  โดยกิจกรรมต่าง ๆ ที่มาทดแทนต้องกระทำไปพร้อม ๆ กับการตั้งกฎระเบียบในการเล่นเกมส์ โดยมีระยะเวลาที่แน่ชัด มีแนวทางที่คุมได้ เช่น ถ้าไม่เล่นในเวลาที่ตั้งไว้ จะต้องถูกยุติการมีเกมส์อยู่ในบ้าน
          ทั้งนี้ผู้ใหญ่ในบ้านต้องมีบทบาทในการคุมเกมส์ให้เป็นไปตามกฎที่ตั้งขึ้น  ความยากลำบากก็คงอยู่ตรงนี้ เพราะผุ้ใหญ่บางคนยอมตัดความรำคาญในการยื้อเถียงกับเด็ก โดยการปล่อยให้เล่นตามที่เด็กต้องการเพื่อความสงบในบ้าน หรือยิ่งไปกว่านั้นเพราะบางบ้าน คุณพ่อ คุณแม่ก็ติดเกมส์ซะเอง
          คงเป็นเรื่องยากที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ หากกฎมีไว้ฝ่าฝืน และผู้ใหญ่เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีซะเอง หากจะคุยกันเรื่องเด็กติดเกมส์ คงต้องคุยกัน 3 วัน 3 คืน ไม่จบ 
บทความโดย  พ.ญ.หัทยา ดำรงค์ผล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
                        www.chaophyachildrenhospital.com


No comments:

Post a Comment