Saturday, October 27, 2012

เมื่อลูกอยากเลี้ยงสัตว์ พ่อแม่ควรทำอย่างไร



เป็นเรื่องที่ต้องคิดหนักกันพอสมควร เมื่อลูกสุดที่รัก ร่ำร้องอยากเลี้ยงสุนัข แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ยังไม่แน่ใจว่าลูกของเรานั้นมีความสามารถพอที่จะเลี้ยง สัตว์เลี้ยงได้หรือยัง หรือที่อยากได้เป็นเพียงแค่แป๊บๆ เดี๋ยวก็เลิก realparenting.com มีข้อมูลดีๆ มาแนะนำ

ก่อนมีสัตว์เลี้ยง....ควรรู้อะไร

เข้าใจลูกก่อน พ่อแม่ควรทำความเข้าใจอุปนิสัยเฉพาะตัวของลูก ได้แก่ ความสามารถในการดูแลรับผิดชอบของลูก และวิธีที่ลูกเล่นหรืออยู่กับสัตว์ เขามักเป็นอย่างไร ทำอะไร มีอะไรที่ควรหรือไม่ควร

เข้าใจสัตว์ตามมา พ่อแม่ควรเลือกสัตว์ที่มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ และรู้จักนิสัยสัตว์นั้น ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร (ซึ่งตรงนี้น่าจะถามเจ้าของฟาร์มได้ว่า ลักษณะสัตว์ที่สุขภาพดี ดูจากอะไรบ้าง เช่น ดวงตา ขน ลักษณะโดยรวม นิสัยสัตว์นั้นๆ และสัตว์มีท่าทางหรืออาการแบบไหน ควรหลีกเลี่ยง/ระวัง) เลือกให้เหมาะสมกับอายุ และอุปนิสัยของลูก รวมถึงสภาพแวดล้อมของครอบครัว เช่น สถานที่เลี้ยง มีคนป่วยหรือไม่จะได้เลือกสัตว์ที่เหมาะสม เป็นต้น

หาความรู้เรื่องโรคต่างๆ ของสัตว์เลี้ยง เพื่อการหลีกเลี่ยงและป้องกัน (ถามเจ้าของฟาร์มได้อีก สุนัข
พันธุ์นั้นควรระวังโรคอะไร)

เมื่อเจอสุนัขครั้งแรก หรือสุนัขที่ยังไม่รู้จัก/ไม่คุ้น หัดให้ลูกยืนนิ่งๆ ปล่อยให้สุนัขดม ไม่นานมันก็ไป และอธิบายให้ลูกเข้าใจว่า ถ้าเจอสุนัขแล้วลูกวิ่งหนี สุนัขอาจจะคิดว่าเล่นด้วยและวิ่งไล่จนล้มได้

เมื่อตัดสินใจแล้ว ควรสอนอะไรลูก....
- เรื่องจำเป็น ต้องตกลงให้ดี การรักษาความสะอาดทั้งของลูก และสัตว์เลี้ยง
- เรียนรู้วิธีการเลี้ยง และการดูแล (ตรงนี้น่าจะถามเจ้าของฟาร์ม สุนัขพันธุ์ที่เลือกนั้นมีนิสัยและควรดูแลอย่างไร มีอะไรเป็นพิเศษที่ควรรู้) เพื่อจะได้สอนลูกให้ถูกต้อง อีกทั้งพ่อแม่ต้องคอยเป็นพี่เลี้ยงแก่ลูกด้วย ไม่ควรมอบภาระให้ลูกเพียงลำพัง เพราะพ่อแม่คือตัวอย่างที่ดี พ่อแม่ทำอย่างไรลูกก็จะทำอย่างนั้น หากพ่อแม่ไม่ทำ ไม่นานเมื่อลูกหายเห่อเขาก็จะละเลยไป
- พาสุนัขไปรับการฝึกนิสัยดีๆ
- มีกรงให้สำหรับสุนัข และควรแยกให้ห่างออกจากบริเวณที่ลูกอยู่
- แสดงให้ลูกรู้วิธีการมอบความรักแก่สัตว์ที่ถูกต้อง
- ปฏิบัติต่อสัตว์เหมือนคนที่ต้องการความใส่ใจ เหมือนอย่างที่เราให้ลูก

คำแนะนำในการเลี้ยงสัตว์ (สุนัข)
- ไม่ควรให้ลูกวิ่งไล่ หรือทำให้ตื่นกลัว ตกใจ
- ไม่ควรให้ลูกจับไปขัง ทั้งโดยตั้งใจและโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
- ไม่ควรให้ลูกยื่นอาหารให้ หรือนำอาหารไปให้เองคนเดียว
- ไม่ควรให้ลูกเล่นประชิดตัว กอดปล้ำ หรือกระทำความรุนแรงกับมัน
- ไม่ควรให้ลูกไปยุ่งกับมัน ถ้าสุนัขตัวนั้นเป็นแม่ลูกอ่อน
- ไม่ควรให้ลูกจ้องตาขู่สุนัข เพราะจะเป็นการยั่วโมโหมันได้ 
- ไม่ควรให้ลูกไปแย่งอาหารจากปาก
พาสุนัข/สัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อพิษสุนัขบ้าตั้งแต่อายุ 2-3 เดือน
สุนัขไม่ว่าจะนิสัยดีหรือไม่ดีอย่างไร ห้ามปล่อยให้อยู่กันโดยลำพัง
 - การทำหมัน (ตอนมันอายุได้ประมาณ 5 เดือน) ช่วยให้สุนัขสงบลงได้

Q ข้อดี และข้อเสีย ลูกจะได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการเลี้ยงสัตว์ 
ข้อดี....- สัตว์เลี้ยงสามารถเป็นเพื่อนเล่นแก้เหงาให้กับลูกได้ 
- ฝึกความรับผิดชอบ การให้ความรัก และการดูแลเอาใจใส่จากการเลี้ยงสัตว์ของลูกได้
ข้อเสีย....
- หากนำมาเลี้ยงในบ้าน ปล่อยให้อยู่คลุกคลีกับลูกจะเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค อาทิ พยาธิ เห็บ หมัดทั้งหลายได้
- เมื่อพ่อแม่ทำอย่างไรกับสัตว์เลี้ยง ลูกก็จะจำและทำตามอย่างนั้น ควรหลีกเลี่ยงการดุ ตวาด การทำร้ายสัตว์ เพราะลูกก็จะเรียนรู้ท่าทีก้าวร้าวแบบนั้นไปด้วย

Q เด็ก 5 ขวบ น่าจะทำอะไรได้บ้าง ถ้าเขามีสัตว์เลี้ยง
- เด็กวัยนี้มีสามารถรับผิดชอบสัตว์เลี้ยง เป็นลูกมือในการทำความสะอาดกรง และอาบน้ำสัตว์เลี้ยงได้ด้วยตัวเอง
- เด็กวัยนี้เริ่มรู้จักการเล่นสนุกกับสัตว์เลี้ยง เช่น การโยนลูกบอลให้สัตว์เลี้ยงไปคาบ เล่นเป่าฟองสบู่ หรือสนุกกับการออกคำสั่งง่ายๆกับสัตว์เลี้ยง เช่น การสั่งนั่ง หรือขอมือ เป็นต้น 
- เป็นวัยที่เริ่มเรียนรู้ถึงการระมัดระวังเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย เช่น รู้ที่จะไม่ดึงไม่แย่งอาหารจากปากสัตว์เลี้ยง ซึ่งอาจทำให้ถูกกัดได้ และรู้จักที่จะล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังจากที่สัมผัสสัตว์เลี้ยง

Q ถ้าลูกถูกสุนัขกัด ควรทำอย่างไร
- ล้างและทำความสะอาดแผลด้วยแอลกอฮอล์ หรือยาฆ่าเชื้อโรคให้เร็วที่สุด
- ผู้ถูกกัดควรไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และกักสุนัขไว้คอยสังเกตอาการ ถ้ามีเชื้อพิษสุนัขบ้า สัตว์จะตายภายใน 10 - 14 วัน (ในกรณีที่สุนัขได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว หรือไม่เป็นโรค ผู้ถูกกัดไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้ครบ)

อ้างอิง : นิตยสาร Real Parenting ฉบับที่ 13 มีนาคม 2549
              www.realparenting.com

No comments:

Post a Comment