Thursday, November 29, 2012

เทคนิคน่ารู้ ก่อนพาลูกไปหาหมอฟัน


            คุณแม่คนไหนที่กำลังจะพาลูกน้อยไปหาหมอฟันแล้วล่ะก็ เพื่อเป็นการเตรียมตัวให้พร้อม มาทำความรู้จักกับข้อมูลต่างๆ ในการทำฟันกันดีกว่า เวลาลูกถามจะได้ตอบข้อสงสัยได้ แถมยังเป็นความรู้เล็ก ๆ น้อยๆ ที่คุณแม่สามารถนำไปบอกต่อได้อีกด้วยค่ะ

             อุดฟัน คือ การกรอส่วนที่ผุออกแล้วปิดด้วยวัสดุอุดฟัน ซึ่งมีอยู่หลายแบบนะคะ ขึ้นอยู่กับลักษณะการผุ ขนาดของฟันที่ผุ และอายุของเด็ก โดยวัสดุที่ใช้จะมี 2 กลุ่ม คือ สีเงิน และสีเหมือนฟัน

             ถอนฟัน ควรถอนฟันเมื่อมีความจำเป็นที่รักษาวิธีอื่นไม่ได้แล้ว เช่น ปวด บวม การอักเสบลุกลามมาก มีหนอง มีการติดเชื้อเยอะ หรือไม่สามารถรักษารากฟันได้แล้วก็จำเป็นต้องถอนออก แต่การถอนฟันน้ำนมออกอาจต้องใส่เครื่องมือกันฟันไม่ให้ล้มลงมา เพื่อรักษาสภาพหาช่องว่างให้ฟันแท้ขึ้นอย่างถูกที่ด้วย

             การเคลือบหลุมร่องฟัน เป็นการป้องกันฟันผุอีกแบบหนึ่ง โดยเฉพาะบริเวณฟันกราม เพราะการแปรงฟันไม่สามารถเข้าไปได้อย่างทั่วถึง การเคลือบหลุมร่องฟัน จึงช่วยปิดหลุดและร่องฟันที่ลึกนี้ไม่ให้สิ่งสกปรกลงไป สะสมได้

             การตรวจฟันซ้อน ฟันที่ขึ้นซ้อนกัน อาจเป็นเรื่องที่ไม่แปลกนักสำหรับเด็กๆ แม้ว่าส่วนใหญ่ฟันน้ำนมจะหลุดได้เอง แต่จะมีกรณีที่ฟันแท้ขึ้นมาแล้ว แต่ฟันน้ำนมยังไม่หลุด ต้องให้คุณหมอตรวจดูก่อนว่า ฟันน้ำนมซี่นั้นมีแนวโน้มที่จะหลุดได้เองหรือไม่ ถ้าไม่คุณหมอก็มักจะพิจารณาให้ถอนออก

             การรักษารากฟัน วิธีการรักษานี้ค่อนข้างยุ่งยากทีเดียว โดยเริ่มจากฉีดยาชา ใส่เครื่องมือกันน้ำลาย เพื่อให้ทำงานได้สะอาดและสะดวกมากขึ้น ไปจนถึงการเปิดราก ขยายราก ล้างรากฟัน และใส่ยา แล้วพิจารณาดูว่าจะอุดรากฟันได้เมื่อไหร่ จากนั้นจึงทำการอุดรากฟัน เมื่ออุดเสร็จส่วนใหญ่มักจะครอบฟัน เพราะฟันที่รักษารากจะเปราะง่าย การรักษารากฟันของเด็กๆ จึงขึ้นอยู่กับสภาพของช่องปากที่คุณหมอตรวจพบ

             การเคลือบฟลูออไรด์ เป็น การป้องกันฟันผุอีกแบบหนึ่ง สำหรับเด็ก 6 ขวบปีแรก ที่ไม่ค่อยได้ใส่ใจกับการดูแลความสะอาดของช่องปาก โดยจะแบ่งการเคลือบออกเป็น 3 แบบด้วยกัน คือ แบบทา แบบเคลือบ และแบบยาเม็ดสำหรับอม

             ยาชา มีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือแบบเจลเอาไว้ทา และแบบฉีด ซึ่งคุณหมออาจใช้ยาชาแบบเจลทาให้ก่อนแล้วจึงใช้ยาชาแบบฉีด ฉีดเข้าไปอีกที ซึ่งจะช่วยให้เด็กๆ เจ็บน้อยลง โดยยาชาจะใช้ร่วมกับการรักษาบางประเภท เช่น กรอฟัน ถอนฟัน รักษารากฟัน อุดฟัน รักษาประสาทฟัน เป็นต้น

แหล่งที่มา   กระปุกดอทคอม / Women's story 


No comments:

Post a Comment