Wednesday, January 23, 2013

นิทานภาพ...เครื่องมือในการเลี้ยงลูก



           นพ.อุดม เพ็ชรสังหาร นักจิตวิทยาเยาวชน กล่าวว่า การเล่านิทานให้เด็กฟังกับการอ่านหนังสือให้เด็กฟังแตกต่างกัน การเล่านิทานให้เด็กฟังไม่จำเป็นต้องใช้หนังสือเพราะสิ่งที่อยากให้เด็กคือ ให้เขาเกิดจินตนาการตามสิ่งที่พ่อแม่เล่า ไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ ไม่ต้องมีเครื่องมือ และที่สำคัญ การเล่านิทานก็เป็นภาษาพูด ไม่ใช่ภาษาอ่าน ส่วนนิทานภาพเป็นการช่วยเสริมเพื่อให้เด็กได้เห็นภาพ และเริ่มมีวิธีคิดจินตนาการ " หมอมีหูฟังเป็นเครื่องมือ พ่อแม่ก็ต้องมีหนังสือภาพเป็นเครื่องมือในการเลี้ยงลูก" คุณหมอว่าอย่างนั้น 

            ส่วนพ่อแม่ที่บอกว่าไม่มีเวลา คุณหมอมองว่าอาจเป็นเพียงข้ออ้างมากกว่าแต่ " ต้องไม่ลืมว่า การทำมาหากินก็คือหน้าที่ การเลี้ยงลูกก็คือ หน้าที่ผู้ปกครอง บางคนปฏิเสธความรับผิดชอบด้วยการให้ลูกดูทีวีนั้น ถ้าสิ่งนี้กอดลูกเราได้ก็ดี หากแต่เพราะบรรยากาศในการเล่านิทาน หรือการอ่านหนังสือให้ลูกฟังตรงนั้น ไม่ใช่เพียงเสียงให้เข้าไปสัมผัสเด็ก ความรู้สึกได้รับจากเสียงที่พ่อแม่พูดคุยเวลาที่เขาเกิดปฎิสัมพันธ์ซึ่งเป็น สิ่งที่ทำให้เกิดอีคิว บุคลิกภาพของเด็ก สมมุติถ้าเป็นเทปให้เด็กฟัง แล้วเขาพัฒนาได้ครบถ้วนก็ไม่ต้องมีพ่อแม่ ที่สำคัญเด็กๆ ไม่ได้ต้องการแค่เล่านิทานสนุกๆ อย่างเดียว แต่เขาต้องการพ่อแม่ด้วย"

            ส่วนใครหลายคนสงสัยว่าทำไมต้องเป็นนิทานก่อนนอนด้วย งานนี้เรามีคำตอบจากคุณหมออุดมว่า " เป็นเวลาผ่อนคลายที่สุดไม่ต้องเร่งรีบจะหยุดเมื่อไหร่ก็ได้ อ่านแล้วเคลิบเคลิ้มก็หลับไปทั้งพ่อแม่และลูกถ้าอ่านก่อนไปโรงเรียนเดี๋ยวต้องรีบกุลีกุจอ กลางคืนเป็นเวลาที่ดีที่สุดก่อนที่ทุกคนจะเข้านอน" นั่นเอง 

           เมื่ออ่านถึงตรงนี้แล้ว....

           คืนต่อไปเราคงได้เห็นภาพคุณพ่อคุณแม่กอดลูกไว้ในอ้อมแขนพร้อมเสียงอันอบอุ่นที่ดังว่า...กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว.............นะคะ

แหล่งที่มา  http://www.oknation.net


No comments:

Post a Comment