Thursday, January 24, 2013

ลูกขี้น้อยใจ ขี้งอน ทำอย่างไรดี?



เด็กในวัยอนุบาลเป็นวัยที่กำลังน่ารัก จึงเป็นที่รักและเป็นขวัญใจของคุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย หรือผู้ใหญ่ในครอบครัว ความรักทำให้ผู้ใหญ่ตามใจเด็กและมองข้ามนิสัยเอาแต่ใจ หรือ ขี้งอนที่เกิดขึ้นกับลูกวัยนี้ได้ค่ะ

โดยธรรมชาติของเด็กๆ อนุบาล มักนำอารมณ์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง ใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล จึงแสดงพฤติกรรมออกตามความต้องการของตัวเอง แต่เด็กในวัยนี้ จะเริ่มเรียนรู้และรับรู้อารมณ์ของผู้อื่น รู้จักปรับตัวที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น แต่ถ้าได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง ถูกวิธี เมื่อเติบโตขึ้น เขาจะอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข

การเลียนแบบจากผู้ที่อยู่ใกล้ อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ลูกมีนิสัยขี้งอนและขี้น้อยใจค่ะ  เนื่องจากเด็กๆ เลียนแบบผู้ที่อยู่ใกล้ เวลาแก้ไขนิสัยของลูก ถ้ามีพี่น้องที่ขี้งอน คุณแม่ก็ควรแก้ไขควบคู่กันไปนะคะ

การแก้ไขพฤติกรรมของลูกต้องใช้เวลา ใช้วิธีที่มีทิศทางเดียวกันทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ใช้ความอดทนต่ออารมณ์ที่เด็กแสดงออก ครูหมูขอแนะนำดังนี้ค่ะ

·       ฟังดนตรี ร้องเพลง หรือ ออกกำลังกาย ให้ลูกได้ฟังเพลง ร้องเพลง เล่นเครื่องดนตรี กิจกรรมต่างๆ ที่กล่าวมาจะช่วยให้ลูกมีอารมณ์ที่ผ่อนคลาย และมีอารมณ์ดีได้ค่ะ
·       เลือกนิทานที่มีตัวละครเกี่ยวกับนิสัยขี้งอน เล่าให้ลูกฟัง พูดคุยกับลูกเกี่ยวกับเรื่องราวในนิทาน ใช้คำสอนในนิทานช่วยขัดเกลานิสัยของลูกได้
·       ฝึกให้ลูกรับรู้อารมณ์ของตนเอง ครูหมูเคยถ่ายภาพเด็กที่ชอบร้องไห้ เวลาที่เขาเลิกร้องแล้วนำภาพนั้นมาให้เขาดู เขาก็ไม่ร้องไห้อีกเลย ลองใช้วิธีนี้ดูก็ได้ค่ะ  คุณแม่อาจนำวีดีโอที่มีตัวการ์ตูนนิสัยขี้งอน ขี้น้อยใจมาให้ดู พูดคุยกับลูก   คุณแม่อาจจะได้รู้ความรู้สึกของลูกด้วยนะคะ
·       ให้บทเรียนกับลูก เป็นบทเรียนที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนโดยจัดโอกาสให้ลูกเล่นรวมกลุ่มเด็กในวัยอนุบาล ถ้าลูกขี้งอน ขี้น้อยใจ เพื่อนๆ ก็จะไม่เล่นด้วยค่ะ ใช้โอกาสที่เกิดขึ้นแนะนำลูกให้ปรับตัว ปรับอารมณ์ เพื่อจะได้เล่นกับเพื่อนๆ ให้สนุก
·       ถ้าลูกแสดงพฤติกรรมขี้น้อยใจ ผู้ใหญ่ต้องแข็ง ไม่ควรให้ความสนใจจนเกินเหตุ แสดงพฤติกรรมของผู้ใหญ่ตามปกติที่เคยทำ เด็กจะค่อยๆ รับรู้ว่าสิ่งที่เขาทำไม่ช่วยให้คนสนใจ แต่ถ้าลูกงอนน้อยลง ไม่งอนเมื่อทำอะไรไม่ได้ดั่งใจ รู้จักรอคอย ต้องรีบชมเชยเด็กทันที เขาก็จะค่อยๆ ทำตามค่ะ

เด็กๆ เรียนรู้ได้ดีค่ะ ว่าจะแผลงฤทธิ์กับใครได้ ผู้ใหญ่ต้องตกลงพูดคุยกันในเรื่องวิธีแก้ไขพฤติกรรมให้มีทิศทางเดียวกัน พูดคุยโดยใช้เหตุผลกับลูกในขณะที่ลูกมีอารมณ์ที่ดี ให้ลูกได้บอกความรู้สึกกับพ่อแม่ ความใกล้ชิด ความผูกพัน ความรัก เป็นตัวตั้ง ผลลัพธ์ที่ได้เราจะได้ลูกที่เป็นเด็กคิดเชิงบวกค่ะ

แหล่งที่มา   คัดลอกบทความส่วนใหญ่มาจากนิตยสาร Mother & Care


No comments:

Post a Comment