Sunday, January 6, 2013

ทำไมเจ้าหนูต้องทำไม?



          คุณเคยรู้สึกตอบไม่ถูกเวลาลูกถามหรือไม่ แล้วเคยรู้สึกสงสัยว่าทำไมลูกเราถึงสงสัยอะไรได้ทุกเรื่องขนาดนี้ทั้ง ๆ ที่เราก็เพิ่งตอบไป แต่ลูกก็ยังถามต่ออีกจนบางครั้งตอบไม่ถูกแล้วคุณพ่อคุณแม่ทำอย่างไร
   
          "
ดุลูกบอกไม่ต้องถาม"
          "
บอกลูกว่า พ่อแม่ก็ไม่รู้เหมือนกัน"
          "
อารมณ์เสีย แล้วบ่นว่า ทำไมลูกถามเยอะจัง"
          "
ตอบทุกเรื่องที่ลูกถาม แต่ตอบแบบผ่าน ๆ"
          "
ตอบแบบตั้งใจ และชวนลูกคิดต่อ"

         
คุณรู้หรือไม่ว่า การถามของเด็กและการตอบของพ่อแม่จะมีผลยิ่งใหญ่แค่ไหนกับลูก

รู้จักธรรมชาติของเจ้าหนูทำไม

         
ส่วนใหญ่เจ้าหนูทำไมจะอยู่ที่วัย 3-5 ขวบ เพราะเป็นช่วงที่เด็กมีคำศัพท์ในสมองอยู่พอสมควร พูดเป็นประโยค เป็นช่วงของการเรียนรู้ทำความรู้จักสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เมื่อเด็กพูดได้ ก็ต้องการจะพูดเป็นเรื่องธรรมดา และเมื่อเห็นอะไร ก็อยากรู้จักอยากทดลองอยากรู้ผลลัพธ์ของสิ่งนั้น ๆ มีการแสดงความเป็นเจ้าของเด่นชัดขึ้น และเป็นการพัฒนาทักษะด้านภาษาอีกด้วย

         
การถามในสิ่งที่อยากรู้ จึงเป็นเรื่องธรรมดาของเด็กวัยนี้ สิ่งที่พ่อแม่ควรจะใส่ใจ คือการตอบคำถามการต่อยอดสิ่งที่ลูกอยากรู้ และการสังเกตุสิ่งที่ลูกถาม

         
การตอบคำถามแบบขอไปที หรือดุลูกเวลาลูกถาม จะทำให้ลูกหมดความมั่นใจ ไม่อยากตั้งคำถามอีก เป็นการลดทอนการเรียนรู้ ความอยากรู้อยากเห็น ทำให้ลูกเสียโอกาสในการเรียนรู้เป็นอย่างมาก

การถามแสดงถึงอะไรบ้าง

         
การถามของเด็กวัยนี้ หลายคำถามทำให้พ่อแม่หลายคนวุ่นวายใจ เพราะไม่รู้จะตอบอย่างไร หรือบางครั้งก็รู้สึกว่าทำไมลูกถามอะไรซ้ำ ๆ ทั้ง ๆ ที่ตอบไปแล้ว เราลองมาดูกันว่า ส่วนใหญ่แล้วที่ลูกถามมีสาเหตุจาก

1. 
อยากรู้จริง ๆ

         
เมื่อไม่รู้จึงต้องถาม เป็นเรื่องปกติสามัญมากที่เมื่อเราไม่รู้ก็ต้องถามโดยเฉพาะกับเด็กวัยนี้ คนที่จะไขข้อข้องใจของลูกได้ ก็ต้องเป็นคนที่ลูกไว้ใจและใกล้ชิดที่สุด และการถามก็เป็นวิธีการแรก ๆ ที่เด็กสามารถหาคำตอบได้

2.
  อยากคุย

         
ในบางครั้ง การถามของลูกอาจเป็นเพียงต้องการชวนคุณพ่อคุณแม่คุย ลูกอาจไม่ต้องการคำตอบในเชิงลึกมากมาย เหมือน ๆ กับการเคยชินในการพูดคุย แต่ออกมาในรูปของประโยคคำถาม เพราะรู้ว่าถ้าพูดประโยคนี้พ่อแม่จะคุยตอบกลับมา แต่ถ้าถามออกไปแล้วได้ประโยคชนิดที่ว่า "จะถามทำไม","ถามเยอะจัง","แม่ขี้เกียจตอบแล้ว" ก็เท่ากับเป็นการตัดโอกาสในการพูดคุยของลูก รวมถึงเรื่องที่ลูกอยากรู้จริง ๆ

3.
  ทบทวนให้ตัวเองฟัง

         
บางทฤษฎีกล่าวว่า บางคราที่เด็กถามคำถามเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ก็ไม่ได้หมายความว่า ลูกกวน หรือจำไม่ได้ แต่เป็นการย้ำความเข้าใจของตัวเอง

จะตอบคำถามลูกอย่างไรดี

 1.
  ฟังคำถามลูกให้ดี

         
การถามของลูกบางครั้งนำไปสู่การต่อยอดเรื่องราวต่าง ๆ ได้มากมาย หรือบางครั้งพ่อแม่อาจจะถามกลับลูกว่าแล้วลูกคิดว่าอย่างไร ก็กลายเป็นประเด็นแลกเปลี่ยนกันและกัน ทำให้พ่อแม่ได้รู้ด้วยว่าลูกมีความเข้าใจเรื่องนั้น ๆ ได้ดีแค่ไหน

 2.
  ไม่จำเป็นต้องยัดเยียดคำตอบ

         
บางคำถามของลูก เช่น คำถามแนววิทยาศาสตร์ พ่อแม่หลายท่านอยากให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับลูกก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ก็จำเป็นต้องดูวัยของลูกเป็นสำคัญด้วย เพราะถ้าขืนอธิบายหลักการยาก ๆ ให้ลูกวัย 2-3 ขวบฟัง แทนที่จะเป็นเรื่องน่ารู้จะกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อไปเสียก่อน

 3.
  ใช้ภาษาให้เหมาะสม

         
การใช้ภาษาอธิบายความหมายให้ลูกฟัง ก็สำคัญไม่แพ้กัน เช่น ถ้าลูกถามว่า "ทำไมฝนตก?" พ่อแม่ก็อาจจะตอบว่า "เพราะว่าก้อนเมฆตัวหนักแบกไม่ไหวแล้ว ต้องปล่อยเป็นน้ำฝนลงมา" ท่องคาถาไว้ว่า พูดให้เข้าใจง่าย ๆ เข้าไว้

 4.
  ถ้าไม่รู้ ไม่ต้องตอบทันทีก็ได้

         
บางคำถามของลูก อาจทำให้ผู้ใหญ่งงไปได้เหมือนกัน บางทีอาจจะรู้แต่ลืมไปแล้ว ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่สามารถให้คำตอบลูกได้ ให้บอกลูกไปเลยว่า พ่อแม่ก็ไม่รู้เหมือนกัน แล้วไปช่วยหาคำตอบด้วยกัน หรืออาจจะรู้ แต่คุณเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้ทักษะอื่น ๆ ในการเรียนรู้ เช่น ต้องสัมผัส ต้องเห็น ก็ลงมือทำกันเลย

          
สิ่งที่สำคัญ คือ พยายามอย่าลืม หรือ ปล่อยผ่านไปเพราะคิดว่าเดี๋ยวลูกก็ลืม ถึงแม้ลูกจะลืมไปจริง ๆ แต่เราก็สามารถทำกิจกรรมกับลูกในวันที่โอกาสดี ๆ ได้

         
การตอบคำถามลูก อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก ตอบอะไรไปก็ได้ เพราะคำตอบที่ลูกได้ฟังเข้าไปสู่จิตใจ สู่สมองของลูกแล้ว ฉะนั้นเมื่อลูกถึงวัยเป็นเจ้าหนูทำไม ก็นับเป็นโอกาสที่พ่อแม่จะปลูกฝังให้ลูกเป็นเด็กช่างคิด ช่างสงสัย และค้นหาคำตอบ เพื่อให้ลูกรักการเรียนรู้ไปตลอดชีวิต


แหล่งที่มา   กระปุกดอทคอม / Mother&Care 

No comments:

Post a Comment