Wednesday, March 27, 2013

6 เทคนิคฝึกลูกรักการอ่าน



หลังจากที่ทราบผลสำรวจเรื่องการอ่านในบ้านเรา ผลที่ออกมาช็อกคนไทยไม่น้อย ว่าคนไทยกลับอ่านหนังสือเฉลี่ยปีละไม่เกิน 10 เล่ม ทั้งที่ผลวิจัยจากต่างประเทศก็ชี้ชัดอยู่ว่า การอ่านหนังสือ ให้ลูกฟังทุกวัน เพียง 5-15 นาที ทำให้สมองของเด็กวัย 3 ปีแรกพัฒนาถึง 70 % นอกจากนี้การอ่านยังเป็นการสร้างจินตนาการที่สำคัญ แถมยังเป็นประตูสู่โลกกว้างสำหรับเจ้าตัวเล็กอีกด้วย มาส่งเสริมลูกให้รักการอ่านกันเถอะ

6 เทคนิคง่ายๆ ฝึกลูกรักการอ่าน

1. การอ่านหนังสือให้ลูกฟังบ่อยๆ เป็นการปลูกฝังความรักต่อหนังสือและการอ่านที่ดีไม่น้อย โดยเฉพาะการอ่านนิทาน ที่คุณสามารถเสริมจินตนาการด้วยท่าทาง น้ำเสียง ซึ่งทำให้เรื่องราวมีความน่าสนใจและสนุกยิ่งขึ้น ก็จะยิ่งทำให้การอ่านเข้าไปอยู่ในใจของลูกได้ไม่ยาก

2. สังเกตว่าลูกชอบหรือสนใจสิ่งใดหรือเรื่องใดเป็นพิเศษ แล้วเชื่อมโยงเข้ากับการอ่าน โดยหาหนังสือที่มีเรื่องราวหรือสิ่งของที่ลูกชอบมาให้ นอกจากความประทับใจแล้ว ยังอาจสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกได้อีกทาง

3. สอดแทรกการอ่านเข้ากับกิจวัตรประจำวัน เช่น การชี้ชวนให้ลูกอ่านป้าย ฉลากบนบรรจุภัณฑ์ กระทั่งเมนูอาหาร ขณะที่ออกไปทานข้าวนอกบ้านก็ยังได้

4. บรรยากาศแห่งการอ่านสร้างได้ โดยเลือกมุมใดมุมหนึ่งของบ้าน จัดเป็นมุมหนังสือ มีหนังสือหลากหลายแบบให้ลูกเลือกอ่านหรือเพื่อให้คุณอ่านให้ฟัง ซึ่งควรวางอยู่ในที่ที่ลูกเห็นและสามารถหยิบเองได้ เป็นอีกมุมกิจกรรมที่ควรมีเก้าอี้หรือโซฟานั่งสบายสำหรับเอนหลังชวนกันอ่าน

5.การพาลูกไปเลือกซื้อหนังสือเล่มโปรดด้วยตัวเอง เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่สร้างการมีส่วนร่วม และเข้ากับพัฒนาการของเด็กวัยนี้ที่เริ่มเป็นตัวของตัวเอง นอกจากร้านหนังสือแล้ว อาจพาลูกเข้าห้องสมุดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อซึมซับบรรยากาศแห่งการอ่าน

6. อ่านผ่านการเล่น นี่เป็นอีกวิธีที่ได้ทั้งความสนุกและการเรียนรู้ อาจะเป็นการทายคำ หาคำจากภาพ หรือจับคู่คำกับภาพที่เห็นก็ได้ โดยเป็นคำง่ายๆ ที่ใช้บ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน
อย่าลืมว่าคุณคือบุคคลสำคัญ ที่มีอิทธิพลต่อการอ่านของลูก นอกจากเทคนิคต่างๆ แล้ว การเป็นแบบอย่างของหนอนหนังสือสามารถส่งผ่านไปถึงลูกได้ ผ่านการกระทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกนั่นเองค่ะ

เลือกหนังสือให้เจ้าตัวเล็กวัย 1-3 ปี
สำหรับ เด็กวัยนี้ ยังมีความสนใจหนังสือนิทาน ที่มีภาพและสีสันสดใส ซึ่งดึงดูดใจเป็นอย่างดี อาจมีตัวหนังสือบ้าง แต่ไม่มากนัก และอาจมีหลายแบบ ทั้งแบบที่มีเสียง มีผิวสัมผัสที่หลากหลาย มีลักษณะของป๊อบอัพ มีกลิ่น หรือเป็นหนังสือแบบเรืองแสง ก็จะยิ่งเพิ่มความตื่นตาได้มากขึ้น

Concern
+มุม สำหรับอ่านหนังสือไม่ควรมีสิ่งอื่นที่ดึงดูดความสนใจของลูก อย่างวิทยุ ทีวี หรือคอมพิวเตอร์ เนื่องจากสิ่งของเหล่านี้ป็นอุปสรรคสำคัญในการอ่าน
+ฝึก ลูกรักการอ่านเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลา และเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่าคาดหวังว่าลูกจะกลายเป็นเด็กรักการอ่านในเร็ววัน เพราะนั่นเท่ากับเป็นการกดดันลูกโดยที่คุณไม่รู้ตัว

Tips
+เริ่มการอ่านด้วยการอ่านหนังสือให้ลูกฟังทุกวัน วันละนิด แล้วค่อยๆ เพิ่มเวลาเมื่อลูกเริ่มเปิดรับ
+บรรยากาศ การอ่าน ที่นอกจากจะสนุกและตื่นเต้นแล้ว หากมีอุปกรณ์ใกล้ตัวที่สามารถนำมาใช้ในการอ่านนิทานให้ลูกฟังได้ ก็จะเพิ่มอรรถรสให้เรื่องน่าสนใจมากขึ้น

 
แหล่งที่มา  http://www.momypedia.com

No comments:

Post a Comment