Tuesday, April 30, 2013

เรียนรู้พัฒนาการด้านภาษาวัยทารก


   แม้ว่าลูกจะอยู่ในวัยเบบี๋ ยังพูดคุยกับคุณแม่ไม่ได้ แต่เชื่อไหมคะว่าตลอดระยะเวลาในการเติบโตของลูกน้อย เขากำลังมีพัฒนาการทางด้านภาษาอยู่ โดยเฉพาะภาษาพูด ในระยะ 6 เดือนแรกเด็กทั่วโลกจะมีขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงคล้ายคลึงกัน  โดยเริ่มจากการทำเสียงในลำคอคล้ายเสียงสระ เช่น อู อา และจะเริ่มมีเสียงสระอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น  

    บางครั้งลูกอาจเริ่มส่งเสียงร้องที่บ่งบอกถึงความต้องการที่แตกต่างกันได้ เช่น การร้องซึ่งหมายถึงหิว ร้องเมื่อต้องการให้มีผู้อื่นมาสนใจหรือเล่นด้วย การส่งเสียงร้องที่แตกต่างกันเหล่านี้เป็นขั้นตอนแรกที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตและตอบสนองหรือสื่อสารกลับ เพื่อเป็นการเริ่มต้นสอนการสื่อสารให้แก่ลูกได้  นอกจากการทำเสียงคล้ายพูดคุยโต้ตอบกับลูกแล้ว คุณแม่ควรมีปฏิสัมพันธ์อื่นๆ ร่วมไปด้วย ได้แก่ การสัมผัส มองหน้าสบตา สังเกตลักษณะหรือสีหน้าท่าทางของลูก เพราะจะช่วยให้การสื่อสารดีขึ้น 

     เมื่อลูกย่างเข้าเดือนที่ 4 เขาจะเริ่มทำเสียงที่ใช้ริมฝีปากซึ่งจะทำให้ออกเสียงเป็นพยัญชนะอื่นๆ ได้เพิ่มมากกว่าเสียง อ.อ่าง อาจเกิดขึ้นทีละเสียงและฟังไม่ชัดเจน แต่จะค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น และเป็นเสียงซ้ำๆ เช่น ปาปา มามา คุณแม่จะตอบสนองต่อเสียงเหล่านี้ ไปตามความเข้าใจของวัฒนธรรมหรือภาษาของตน โดยเข้าใจว่าลูกออกเสียงฟังดูคล้ายๆ เรียกพ่อหรือแม่ คนส่วนใหญ่จึงมักจะค่อยๆ มีการสอนให้ลูกเรียกพ่อหรือแม่ก่อนคำอื่นๆ
  เด็กทารกมักมีความสนใจต่อเสียงที่ค่อนข้างแหลม ซึ่งใกล้เคียงกับเสียงผู้หญิงหรือผู้ที่เป็นแม่มากกว่าเสียงทุ้ม จะเห็นได้จากคนส่วนใหญ่มักคุยกับเด็กทารกด้วยโทนเสียงที่ค่อนข้างแหลม และพูดคุยในลักษณะภาษาเหมือนเด็ก เพื่อดึงความสนใจจากเด็ก นอกจากนี้การทำเสียงสูงๆ ต่ำๆ ตลอดจนมีน้ำเสียงที่มีลักษณะต่างกัน จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ความหมายของการสื่อสารที่บอกถึงอารมณ์ความรู้สึกแตกต่างกันไป ซึ่งคุณแม่ควรค่อยๆ ลดการใช้ภาษาเด็กในการพูดคุยกับลูกหลังจากที่ลูกอายุ 6 เดือน และควรใช้คำพูดอย่างชนิดที่ใช้กับเด็กโตหรือผู้ใหญ่เพิ่มมากขึ้น จะค่อยๆ ช่วยให้ลูกเรียนรู้ภาษาในระยะต่อไปได้เป็นอย่างดีค่ะ 

แหล่งที่มา  http://www.enfababy.com

No comments:

Post a Comment