Thursday, May 16, 2013

เจ้าหนูอารมณ์อ่อนไหว




          คุณแม่มือใหม่สังเกตไหมคะว่า ตอนลูกอายุ 3-4 เดือนนั้น เขาจะอารมณ์ดีร่าเริงยิ้มเก่ง แต่พอถึงช่วงวัย 6 เดือน เขากลับงอแง ขี้หงุดหงิด และอารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ง่าย แล้วจะทำยังไงกันดีนะ

เข้าใจอารมณ์หนูหน่อย

          หลัง 6 เดือนแรกของชีวิต คุณจะพบว่าเจ้าตัวเล็กที่ยิ้มแย้มเป็นมิตรกับใครต่อใคร กลับมีอาการแปลกไป โดยทั่วไปเด็กวัยหลัง 6 เดือนมักจะขี้ใจน้อย ตกใจ เมื่อคุณแม่ไม่อยู่ใกล้ ๆ และโกรธ เมื่อเห็นคุณแม่มีทีท่าสนใจคนอื่น หรืออย่างอื่นมากกว่า

          อาการแบบนี้ แสดงให้เห็นว่าเจ้าตัวเล็กของคุณมีพัฒนาการด้านอารมณ์ที่หลากหลายขึ้น ทั้งรู้จักรักและหวงคนที่เขารัก แถมยังรู้จักกลัวการพลัดพรากจากคนรวมไปถึงสิ่งของที่เขารักด้วย

หงุดหงิดเมื่อของคู่กายหาย

          เด็กวัยนี้เกือบทุกคนจะมีของชิ้นโปรดที่ต้องนำติดตัวไปทุกที่ ไม่เคยให้ห่างกาย แม้ยามหลับ อาจจะเป็นตุ๊กตา หมอน หรือผ้าอ้อม เพราะในช่วงวัยนี้เขาจะงอแง ขี้หงุดหงิด และอารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ง่าย จึงต้องการเครื่องมือปลอบประโลม ที่ช่วยปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกของเขาได้

          ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องให้ความสำคัญกับของชิ้นโปรดของลูกให้มาก ระวังอย่าให้ของเล่นชิ้นโปรดของเขาหาย และหากเป็นไปได้ ควรหาของเล่นชิ้นโปรดนี้สำรองไว้อีกชิ้นหลัง เพราะหากของนั้น หายไปล่ะก็ เจ้าหนูอาละวาดชนิดบ้านแตกแน่

ความสนใจหลากหลายขึ้น

          นอกจากของเล่นชิ้นโปรดแล้ว ลูกวัยนี้ยังมีความสนใจที่หลากหลายมากขึ้น เขาจึงต้องการของเล่นเพิ่มขึ้น ซึ่งของเล่นที่เหมาะกับลูกวัยนี้คือของเล่นที่ใช้มือสัมผัส เนื่องจากตอนนี้มือของเขารับความรู้สึกได้ดีขึ้นแล้ว คุณแม่จึงควรเลือกของเล่นชนิดเดียวกันที่สัมผัสแล้วให้ความรู้สึกต่าง ๆ กัน ให้ลูกได้ ลองจับ หลาย ๆ อย่าง เช่น ลูกบอล ผ้านุ่ม ๆ ลูกบอลยาง ลูกบอลพลาสติก เพื่อที่เขาจะได้เรียนรู้ว่า วัตถุที่มีรูปทรงเหมือน ๆ กันเมื่อสัมผัสแล้วไม่ได้ให้ความรู้สึกสักที่เหมือนกันเสมอไป

นั่งไม่เก่งแต่อยากยืนแล้ว

          หลังจากที่สนุกกับการพลิกคว่ำพลิกหงายมาได้ระยะหนึ่ง ในวัย 6 เดือนนี้ เขาจะพยายามใช้ข้อมือยันตัวขึ้นสู่ท่านั่งได้ชั่วครู่ แต่คุณแม่ยิงต้องคอยช่วยประคอง จนอายุครบ 8 เดือน เขาจึงนั่งได้อย่างมั่นคง แต่หากคุณแม่ลองจับเขายืน เขาจะเริ่มลงน้ำหนักที่เท้าได้แล้วล่ะค่ะ

ไขว่คว้าของที่อยากได้

          เด็กวัย 7 เดือน จะสามารถแปลภาพลักษณะคร่าว ๆ ของวัตถุที่เห็นได้เพียง 3 อย่าง คือ ทรงกลม สามเหลี่ยม และสี่เหลี่ยม นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เด็ก ๆ โปรดปรานของเล่นอย่างลูกบอล และบล็อกไม้สีสันสดใสเป็นพิเศษ แต่ถ้าให้เขาเลือกหยิบสิ่งของที่มีรูปทรงเดียวกัน ไม่ว่าจะลูกบอลหรือบล็อกไม้ที่มีขนาด และระยะทางที่วางต่างกัน เขาจะเลือกคว้าของชิ้นเล็กที่อยู่ใกล้ มากกว่าของชิ้นใหญ่ที่อยู่ไกลออกไป เพราะเขายังกะระยะการเอื้อมมือไปจับสิ่งของให้ได้ไม่เก่ง หากคุณแม่ฝึกให้เขาใช้มือบ่อย ๆ พออายุ 8-9 เดือน เขาจะใช้มือได้คล่องขึ้น และสามารถใช้สายตากะระยะสิ่งของได้อย่างแม่นยำ และจะเริ่มใช้หัวแม่มือและนิ้วชี้หยิบของเล็ก ๆ ขึ้นมาแทนการใช้ฝ่ามือตะปบแบบเดิม

ใจร้อนเหลือเกิน

          แม้เจ้าตัวเล็กจะใช้มือหยิบของเก่งแล้ว แต่ลักษณะการ "หยิบ" ของ ของเขาจะเป็นแบบการใช้ฝ่ามือตะปบ แล้วหยิบขึ้นมาเพราะเขายังใช้ปลายนิ้วได้ไม่คล่องนั่นเอง เขายังกะระยะในการตะปบได้ไม่เก่ง แถมยังใจร้อน จึงมักเสียหลักหน้าทิ่มหรือหงายหลังลงพื้นอยู่บ่อย ๆ ดังนั้น คุณแม่ควรประคองขาอยู่ใกล้ ๆ หรือถ้าจะปล่อยเขานั่งเล่นคนเดียว ควรหาผ้านุ่ม ๆ มาปูไว้บริเวณที่ลูกนั่งเล่นด้วยนะคะ ให้เวลาเขาสักนิด ปล่อยให้เขาคว้า สิ่งของต่าง ๆ มาเล่นบ่อย ๆ ถือเป็นการช่วยให้เขาฝึกสายตาให้ประสานกับมือได้ดีขึ้น การคว้าพลาดจนล้มเจ็บตัวก็จะน้อยลงค่ะ

ขี้ตกใจและกลัวสารพัด

          เด็ก ในวัย 7-9 เดือน ไม่ชอบอะไรที่ทำให้เขาแปลกใจมากเกินไป เขาจะตกใจกับสิ่งใหม่ ๆ ได้ง่าย เราจะสังเกตได้ว่า ลูกวัยนี้ชอบการเล่นซ้ำไปซ้ำมา และจะทำในสิ่งที่ทำได้อย่างไม่รู้เบื่อ หากคุณมีของเล่นชิ้นใหม่ให้ลูก ก็ควรช่วยให้เขาทำความคุ้นเคยกับของเล่นชิ้นนั้นก่อน อย่าเพิ่งสอนเขาเล่น หรือเล่นให้เขาดู แต่ควรปล่อยให้ลูกได้จับ ได้หัดเล่น หัดลงมือทดลองเล่นด้วยตนเองจะดีกว่าค่ะ

          นอกจากขี้ตกใจ ลูกวัยนี้จะเริ่มรู้จักความกลัว อย่างเวลาคุณชวนเพื่อน ๆ มาที่บ้านแล้วอยากจะได้เจ้าตัวเล็ก ยิ้ม ปรบมือ บ๊ายบาย เขาอาจไม่ยอมทำ และแสดงทำทีกลัวคนแปลกหน้าออกมา ซึ่งเรื่องนี้คุณแม่ไม่ต้องกังวลค่ะ เพราะนี่เป็นการแสดงให้เห็นว่าเขารู้จักแยกแยะผู้คนได้แล้ว อ้อ....นอกจากกลัวคนแปลกหน้า เขาอาจจะมีอาการกลัวสิ่งที่ไม่คุ้นเคยอย่างสุนัข แมว กลัวเสียงดัง ๆ ด้วยนะคะ

จับอารมณ์คุณแม่ได้เก่ง

          ลูกวัยนี้นอกจากมีอารมณ์ที่หลากหลายแล้ว เขายังจับอารมณ์คุณแม่ได้เก่งด้วย สังเกตง่าย ๆ หากเขาร้องไห้งอแง แล้วคุณแม่ไปอุ้มด้วยอารมณ์ที่หงุดหงิด โมโห เขาจะยิ่งร้องไห้ไม่หยุดค่ะ

          การเล่นกับลูกก็เช่นกันค่ะ หากคุณแม่เล่นกับเขาด้วยอารมณ์หงุดหงิด เขาจะรู้สึกได้ทันที แต่ถ้าคุณแม่อารมณ์ดีล่ะก็เขาจะเล่นได้อย่างสนุกและมีความสุขค่ะ

เรื่อง : ทพ.ญ.สันทนา โลหาภิรัตน์ (M&C แม่และเด็ก) 
แหล่งที่มา  http://baby.kapook.com

No comments:

Post a Comment