Friday, July 12, 2013

ทำอย่างไรเมื่อลูกไม่ยอมนอนกลางวัน




ช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงที่เด็กนอนกลางวันในแต่ละวัน ส่งผลต่อทั้งพฤติกรรมและการเรียนรู้กับเด็กอย่างคาดไม่ถึง แต่จะทำอย่างไร เมื่อลูกรักไม่ชอบและไม่ยอมนอนกลางวันเลย เรามีคำแนะนำเกี่ยวกับการนอนกลางวันของลูกมาฝากค่ะ
 
เด็กคนใดนอนง่าย ไม่ว่าจะเป็นนอนกลางวันหรือกลางคืน จะสร้างความสบายกายสบายใจให้กับทั้งคุณพ่อคุณแม่และคุณครู หากเด็กคนใดนอนยากหรือไม่ยอมนอน จะเป็นที่หนักใจกันทีเดียว เด็กบางคนนอนกลางคืนไม่เป็นปัญหา มาเป็นปัญหาเอาที่การนอนกลางวัน คำถามประจำวันของคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกเริ่มเข้าโรงเรียนใหม่ๆ หรือเมื่อลูกมีอาการป่วนยามเย็นบ่อยครั้ง คือลูกนอนกลางวันไหมคะ นอนนานหรือเปล่า เราจะมาพูดถึงเรื่องนี้กันค่ะ
นอนกลางวัน สำคัญไฉน
คุณ ครูจะเห็นได้ชัดว่าเด็กที่ไม่นอนตอนกลางวัน โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ ตั้งแต่ 3-4 ขวบ ลงมามักจะมีอาการอิดโรย และแสดงอาการหงุดหงิดตอนบ่ายและตอนเย็น สดชื่นน้อยกว่าเด็กที่นอนกลางวันแล้วตื่นมาทำกิจกรรมกับคุณครูในภาคบ่าย เพราะเด็กเล็กยังต้องการเวลาในการพักผ่อนหลังจากทำกิจกรรมมาตลอดช่วงเช้า คุณครูจึงพยายามหาวิธีที่จะเชิญชวนและจัดเวลาให้เด็กนอนกลางวันกัน
อาการที่แสดงว่าเด็กพักผ่อนไม่พอ คืออารมณ์หงุดหงิดง่ายในเรื่องไม่เป็นเรื่อง ซึมเหม่อลอย ไม่อยากออกกำลังกายวิ่งเล่นยามเย็น คราวนี้ยุ่งกันใหญ่ เวลาเริ่มไม่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตเสียแล้ว ถึงเวลารับประทานอาหารเย็นก็แทบจะนั่งหลับ แล้วนอนในช่วงเย็น ตื่นมาตอนพลบค่ำ จากนั้นกว่าจะเข้านอนอีกทีก็ดึกมาก พอนอนดึกมากก็ตื่นสาย พอตื่นสาย กลางวันเวลาคุณครูให้นอนก็ยังไม่ง่วง บ่ายซึม ตกเย็นเอาอีกหลับช่วงเย็น วนเวียนอยู่อย่างนี้
วิธีแก้ไข คือต้องปรับเวลากันใหม่ ถ่วงเวลาหาอะไรให้ทำก่อน อย่าพยายามให้นอนตอนเย็น ปรับเป็นให้นอนเร็วกว่าปกติ นอนแต่หัวค่ำจะได้ตื่นเช้าได้ ทุกอย่างจะเข้าที่
ทำไมหนูน้อยไม่ยอมนอนกลางวัน
หลาย ครั้งพบว่าเหตุมาจากการนอนดึก ตื่นสายนั่นเอง บ้านที่คุณพ่อคุณแม่มักจะกลับบ้านดึก ลูกจะรอแล้วไม่ยอมนอน บางรายกลับดึกชอบปลุกลูกมาเล่นเพราะคิดถึง เด็กบางรายติดวิดีโอ ดูทีวีไม่เลิก ทำให้ตื่นสาย พอกลางวันจึงไม่ง่วง ล้วนสร้างความปวดศีรษะให้กับคุณครูที่โรงเรียน เพราะเด็กที่ไม่นอนกลางวันจะยุกยิก แหย่เพื่อนที่กำลังนอน หากคุณครูบังคับว่าทุกคนต้องนอนให้หลับ เด็กที่ไม่นอนกลางวันเหล่านี้ก็จะถูกดุ ต่างๆ นานา บางรายถึงกับร้องไห้ไม่ยอมไปโรงเรียน พอถามว่าเพราะอะไร คำตอบที่ได้ คือ ไม่อยากนอนกลางวัน ครูชอบบังคับให้นอนกลางวัน
ทำอย่างไรดีเมื่อหนูไม่ยอมนอนกลางวัน
การ สร้างบรรยากาศก่อนนอนเป็นเรื่องสำคัญ บางโรงเรียนปิดม่านให้มืดหน่อย เล่านิทานเบาๆ เรื่องไม่ตื่นเต้นนักหรือเปิดเพลงนุ่มๆ ให้เด็กเคลิ้ม

แต่ในแต่ละห้องจะมีเด็กที่ไม่ยอมนอนหรือนอนยาก ถ้ามีเหตุจากการตื่นสายก็แก้ที่นั่น แต่จะมีเด็กบางคนที่เริ่มโตและนอนกลางคืนยาว หรือต้องการการพักผ่อนตอนกลางวันน้อยลง ไม่ว่าคุณครูจะบังคับอย่างไรก็ไม่หลับ ดังนั้นจึงควรจัดให้เด็กที่นอนเก่ง เริ่มนอนเร็วกว่า จัดที่นอนให้กลุ่มนอนยากกระจายกันหน่อย เพื่อไม่ให้มาเล่นรบกวนเด็กอื่น หรือจัดให้อยู่ใกล้ๆ คุณครูที่ดูแล ให้เด็กเหล่านี้นอนเล่นพักผ่อนสักพัก พอเพื่อนๆ เริ่มหลับก็หากิจกรรมให้ทำสงบๆ บนที่นอน ที่ดีก็เห็นจะเป็นการอ่านหนังสือ ฟังเทปนิทาน เด็กบางคนพลังเยอะ คุณครูอาจให้ออกกำลังให้มากหน่อยช่วงเช้า พอตกกลางวันจะได้นอนหลับเรียกแรงคืนกลับมาใหม่ในช่วงบ่าย

สำหรับเด็กที่เข้าโรงเรียนใหม่ๆ มีปัญหานอนกลางวันมาก ไม่อยากนอนที่โรงเรียนเพราะไม่คุ้นเคย ไม่อยากหลับตา ไม่อยากอยู่กับคนยังไม่ไว้วางใจยามง่วงนอน จึงฝืนทน ก็หนูเคยมีคุณแม่คุณยายที่รู้ใจไปหมดคอยกล่อมนอน ที่นอนก็ไม่ใช่ที่นอน หมอนที่นอนมาตั้งแต่เด็ก จึงพบว่าเด็กใหม่ๆ บางรายหลับพับคาของเล่น หลับกลางสนามทราย น่ารักน่าสงสารเสียจริงๆ เมื่อเด็กเริ่มไว้ใจโรงเรียน ปรับตัวได้ ก็จะนอนได้ดีขึ้น
เด็กหลายคนคุณแม่บ่นว่ากว่าจะหลับต้องกล่อมกันนาน ทำไมมาโรงเรียนนอนง่ายเชียว ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ที่โรงเรียนมีกิจกรรมที่เด็กๆ ได้วิ่งเล่นออกกำลังกาย มีกิจกรรมที่ได้คิด ได้แก้ปัญหา ทำให้เด็กเพลีย อ่อนล้า และต้องการการพักผ่อนมาก หากอยู่บ้านเด็กเล่นแต่ในบ้านกับของเล่นกุ๊กกิ๊ก หรือใช้เวลามากกับหน้าจอทีวีเด็กมักจะไม่ง่วงนอน นอกจากนี้ที่โรงเรียน ครูครูมีความคงที่ในเรื่องของเวลานอน ฝึกให้เด็กรู้เวลารู้หน้าที่ เด็กทุกคนรู้ว่าเป็นเวลานอนไม่มีของเล่นในมือ ไม่วิ่งไปไหนมาไหน นอนนิ่งๆ หลับตาเดี๋ยวเดียวก็หลับ หากอยู่บ้านก็อยากทำโน่นทำนี่ หากไม่ง่วงจริงๆ ไม่ค่อยจะยอมมานอนแต่หากฝึกกันดีๆ ตั้งแต่เล็กให้ลูกรู้เวลา รู้หน้าที่ ก็จะช่วยลูกนอนหลับได้ง่ายด้วยตนเอง และช่วยลดภาระคุณครูได้มาก
นอนได้ต่อเมื่อได้ม้วนผมแม่เล่น
มี เด็กหลายคนเด็กก่อนเข้าโรงเรียนจะติดของบางอย่างเพื่อช่วยให้ตัวเองหลับ เช่น กอดผ้าเปื่อยๆ ผืนนี้ กอดตุ๊กตาหมีตัวเก่ง บางรายฝึกมาให้ต้องลูบหลัง ตบก้น บางรายลำบากหน่อยเพราะติดม้วนผมคุณแม่เล่น ดึงติ่งหูคุณแม่ คุณครูต้องรู้ลีลาของแต่ละคน สร้างความลำบากให้คุณครู ซึ่งมีลูกศิษย์หลายคนที่ต้องเรียนรู้และพยายามทำให้คล้ายๆ กับลีลาที่บ้าน ผ่อนปรนกันไป แล้วค่อยๆ ฝึก จนในที่สุดเด็กๆ ก็จะนอนได้ด้วยตนเอง
การติดสิ่งของบางอย่างหรือท่าทางบางอย่าง บางทีเกิดจากผู้ใหญ่เองต่างหากที่สร้างความเคยชินให้ลูกน้อย เช่น ลูบผม เกาหลัง หรือเตรียมตุ๊กตาหมีให้เป็นประจำ ทำอย่างนี้จนลูกติด พอไม่มีพี่หมี หรือลืมเอาพี่หมีมาด้วย คราวนี้เดือดร้อนค่ะ เพราะติดไปแล้ว
สำหรับเด็กเหล่านี้เมื่อมาโรงเรียนในระยะแรกคุณครูให้เอามานอนกอดให้อุ่น ใจด้วย ต่อมาจะค่อยๆ ให้ห่างตัวจนสามารถนอนได้เอง ยังมีบางบ้านที่ลูกไม่ติดของอะไรเลยก่อนนอน แต่พอลูกเริ่มเข้าโรงเรียน เป็นห่วงลูกมากกลัวลูกเหงา กลัวลูกไม่ยอมนอน ก็เลยหอบหมอนใบที่บ้านบ้าง หอบตุ๊กตามาให้ลูกถ้าลูกไม่ติดอะไรมาก่อนก็ไม่จำเป็นต้องเอามาให้ลูก ลูกก็สามารถหลับได้ด้วยตนเองค่ะ
การนอนกลางวันของเด็กๆ
น.พ.บุญรัตน์ ภัทรากุลพิเชษฐ์ กุมารแพทย์ ซึ่งมีลูกอยู่ในวัยอนุบาล กล่าวถึงชั่วโมงการพักผ่อนของเด็กๆ ไว้ดังนี้
  • เด็กอนุบาลหนึ่งอายุประมาณ 3 ขวบ และเด็กเนิร์สเซอรี่ จะนอนทั้งวันประมาณ 12 ชั่วโมงต่อวัน โดยนอนตอนกลางวันประมาณ 1 ชั่วโมง
  • เด็ก 3-6 ขวบ จะนอนประมาณ 8-12 ชั่วโมง ขึ้นกับเด็กแต่ละคนและขึ้นกับกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน ว่าสร้างความอ่อนเพลียขนาดไหน
ที่โรงเรียนเราจึงอาจพบเด็กอนุบาล 2 บางคน หรืออนุบาล 3 อายุ 5-6 ขวบ จำนวนมากที่ไม่นอนกลางวันจึงไม่ต้องกังวล หากเด็กพักผ่อนตอนกลางคืนอย่างเต็มที่ แต่กิจกรรมในช่วงบ่ายก็ควรเป็นกิจกรรมเบาๆ ผ่อนคลาย

โดย อ.ธิดา พิทักษ์สินสุข
จาก : Kidscovery
เรียบเรียง : momypedia.com





No comments:

Post a Comment