Thursday, January 30, 2014

ถอดรหัสพัฒนาการของลูกน้อยจากเรื่องเล่น ๆ ของเขา



          วัยเด็กเป็นวัยของการเรียนรู้ ตั้งแต่ก้าวแรกที่ลืมตาออกมาดูโลกก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิด ประสบการณ์การมีชีวิตของเขาแล้ว โดยเฉพาะเมื่อเขาเติบโตมาในช่วงขวบปีแรกเป็นต้นไป เขาก็จะเริ่มซึมซับและเรียนรู้โลกใบใหม่จากสิ่งที่อยู่รอบตัว รวมทั้งเรื่องเล่น ๆ ของเขาด้วย ซึ่งเด็กในแต่ละช่วงวัยจะมีพัฒนาการผ่านการเล่นอย่างไรบ้าง อยากให้คุณแม่มาดูข้อมูลที่เราถอดรหัสออกมาตามนี้ค่ะ

ช่วงเลียนแบบพฤติกรรมและทำซ้ำ

           เด็กในช่วง 4 เดือนจะเริ่มเรียนรู้การเคลื่อนไหวของร่างกาย ด้วยการขยับแข้งขาเป็นวงกลม และออกแรงถีบอากาศ หรือถีบของรอบตัวไปเรื่อย แต่พอเริ่มโตขึ้นจนมีอายุระหว่าง 4-8 เดือน เด็กจะเริ่มฝึกนั่งด้วยตัวเอง และเมื่อนั่งได้ก็จะพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวผ่านสิ่งแวดล้อมรอบข้างไปด้วย แต่ก็อาจจะยังคงพฤติกรรมปัดป่ายไปทั่วอยู่เช่นเดิม และค่อย ๆ พัฒนาจากกการนั่งเป็นพยายามตั้งไข่ จนกระทั่งเริ่มหัดเดินอย่างตั้งอกตั้งใจในเวลาต่อมา เมื่อเขาสามารถยืนได้อย่างมั่นคง และเริ่มออกก้าวเดิน เขาก็จะมีโอกาสซุกซนเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น เช่น ได้เรียนรู้ว่าเวลาที่ใช้มือตีกระดิ่งที่ห้อยอยู่ด้านบนเก้าอี้นั่ง กระดิ่งเหล่านั้นจะสั่น หรือเมื่อออกแรงดึงหางน้องหมาน้องแมว สัตว์มีขนปุกปุยพวกนี้ก็จะมีปฏิกิริยาตอบโต้ เป็นต้น ซึ่งปฏิกิริยาตอบโต้จากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเหล่านี้นี่ล่ะค่ะ ที่จะสอนให้เขาทำในสิ่งเดิมซ้ำ ๆ และเลียนแบบพฤติกรรมของสิ่งรอบข้างไปด้วยในตัว ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่น่าจะหาซื้อรถหัดเดินที่มีของเล่นกุ๊งกิ๊งประดับอยู่บนราวด้านบนให้ลูกน้อยสักตัว หรือจะหาซื้อเครื่องเขย่าที่มีเสียงเพลง และเสียงกระดิ่งมาให้เขาได้เล่น เพื่อให้เขาได้พัฒนาการเคลื่อนไหวของเขาผ่านเครื่องเล่นกระจุกกระจิกเหล่านี้อย่างสนุกสนานค่ะ


 
ช่วงพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา

           เด็กวัยระหว่าง 8-14 เดือน จะเริ่มเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหา และพัฒนาทักษะด้านนี้ผ่านสิ่งรอบตัวมากขึ้น เริ่มจากเรียนรู้การเคลื่อนสิ่งของเพื่อหาของเล่น หรือเปิดผ้าห่มที่คลุมของเล่นไว้ เพื่อจะได้หยิบของเล่นมาเล่นได้ ส่วนเด็กที่โตกว่านี้ประมาณ 2-3 เดือน จะสามารถเรียนรู้สิ่งที่ซับซ้อนกว่านั้นได้ ยกตัวอย่างเช่น คอยสังเกตพี่เลี้ยง หรือคุณแม่เวลาที่พวกเธอวุ่นวายกับการจับนั่นยกนี่เพื่อหาของเล่นมาให้เขา เด็ก ๆ ก็จะคิดอยู่ในใจว่าถ้าเขาลองเลียนแบบวิธีการหาของเล่นแบบนั้นบ้าง เขาจะสามารถเจอของเล่นเหมือนกันใช่ไหม ดังนั้นเราก็เลยมีโอกาสได้เห็นพฤติกรรมเปิดกล่อง หรือคุ้ยหาของจากเด็ก ๆ ได้นั่นเอง ถือว่าเป็นช่วงเวลาอยากรู้อยากเห็นที่สำคัญช่วงหนึ่งในชีวิตของเด็ก ๆ เลยก็ว่าได้นะคะ ซึ่งพ่อและแม่สามารถส่งเสริมให้เขามีพัฒนาการในทักษะด้านการแก้ปัญหาได้โดย การหาของเล่นชิ้นใหม่ ๆ เอาไปแอบให้เขาได้ลองหา หรือจะซื้อของเล่น เช่น ถ้วยเรียงชั้น หรือาจจะเป็นจิ๊กซอว์สำหรับเด็กเล็ก เพื่อให้เขาได้เรียนรู้วิธีการต่อเรียงของ และพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาเมื่อต่อเรียงของเล่นไม่สำเร็จ



ช่วงพัฒนาทักษะการจดจำสิ่งของ

           แม้ว่าเด็ก ๆ จะมีทักษะเรื่องการค้นหาของและเรียกชื่อสิ่งของติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่เขาก็จะพัฒนาและทำมันได้ดีมาก ๆ ในช่วง 14-18 เดือนของการเจริญเติบโต โดยเขาจะเริ่มเรียนรู้ว่าสิ่งของต่าง ๆ รอบตัวมีชื่อเรียกว่าอะไร และเริ่มจดจำรวมทั้งนึกภาพมันออกได้แม้จะมองไม่เห็นสิ่งของเหล่านั้นก็ตาม ซึ่งในช่วงอายุประมาณ 14 เดือนเป็นต้นไป คุณพ่อคุณแม่สามารถเล่นซ่อนแอบกับเขาได้แล้วนะคะ หรือจะเล่นเกมทายชื่อสิ่งของเพื่อให้เขาสนุกกับการพัฒนาทักษะด้านนี้มากขึ้น ก็ได้

ช่วงเลียนแบบพฤติกรรม

           พ่อ แม่ได้เห็นพัฒนาการหลาย ๆ ด้านของลูกน้อยกันมามากมาย และในช่วงระหว่าง 18-24 เดือน ก็จะเป็นช่วงที่เด็ก ๆ จะพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตทั้งทักษะการเรียนรู้จดจำ ตรรกะ ภาษา จินตนาการ และความเห็นอกเห็นใจคนรอบข้างมากขึ้น ผ่านการเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่ และสภาพแวดล้อมรอบตัว นอกจากนี้เขายังเรียนรู้วิธีแสดงท่าทางและอารมณ์ทั้งจากคนใกล้ตัว และคนรอบข้างได้อีกด้วย ดังนั้นในช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลเขาอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้อธิบายในสิ่งที่เหมาะสม หรือแก้ไขในบางเรื่องที่เขาได้เรียนรู้มาอย่างผิด ๆ เช่น เด็ก ๆ อาจจะเข้าใจว่าช้างเป็นสัตว์ที่อยู่ในน้ำ เพราะไปเห็นช้างเล่นน้ำมา เป็นต้น ซึ่งพ่อแม่ก็ควรต้องอธิบายข้อเท็จจริงให้เขาได้รู้ไว้ รวมทั้งเปิดโอกาสให้เขาได้คลุกคลีกับเด็กวัยไล่เลี่ยกัน เพื่อให้เขาได้แลกเปลี่ยนและเรียนรู้พฤติกรรมระหว่างบุคคล และทักษะการปฏิบัติตัวในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นมากขึ้น

           พัฒนาการ ของลูกน้อยเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ควรต้องใส่ใจและส่งเสริมให้เขาได้ฝึกฝน ทักษะต่าง ๆ ผ่านการเล่น เพื่อเป็นการปูทางให้เขาเติบโตมาอย่างสมบูรณ์ที่สุดนะคะ

 


No comments:

Post a Comment