Thursday, May 8, 2014

เทคนิค...สร้างหนอนน้อยรักการอ่าน



         อยากให้ลูกน้อยรักการอ่าน ไม่ยากเลยค่ะ เพราะมีผลการวิจัยจากสหรัฐอเมริการะบุว่า แค่ให้พ่อแม่อ่านหนังสือไปพร้อม ๆ กับลูกวันละ 20 นาทีก็จะช่วยพัฒนาทักษะด้านความสามารถในการอ่านของลูกดีขึ้นถึง 10-20% ทีเดียว ว่าแต่อ่านหนังสือกับลูกอย่างไรจึงจะได้ผล เรามีวิธีดี ๆ มาฝากกัน

สนุกอ่านไปกับลูก

        
ให้ลูกมีประสบการณ์ที่ดีกับหนังสือตั้งแต่แรก อย่าบังคับเป็นอันขาด เพราะแทนที่ลูกจะรักหนังสือ กลับเกลียดหนังสือไปเลย

        
อ่าน หนังสือที่ลูกชอบให้ลูกฟัง ลูกจะเรียกร้องบ่อยแค่ไหน อย่างไรก็ต้องอ่านด้วยความเต็มใจ บางเล่มคุณพ่อคุณแม่อ่านเป็นสิบ ๆ เที่ยว แสดงว่านั่นน่ะเป็นเล่มโปรดของลูกจริง ๆ

        
อย่า ลืมว่าการอ่านหนังสือคือช่วงเวลาแห่งความสุของครอบครัว เพราะหนังสือเป็นสื่อกลางที่ผู้ใหญ่ต้องอ่านให้เด็กฟัง ไม่ใช่ซื้อมาทิ้งให้เด็กอ่านเอง (ยกเว้นว่าลูกโตจนอ่านเองได้ในที่สุด)

        
ขณะ อ่านต้องอ่านออกเสียงให้ชัดเจน ถูกต้อง ถึงลูกจะเป็นเด็กใช่ว่าจะฟังผู้ใหญ่พูดไม่รู้เรื่อง จึงไม่ควรใช้ภาษาเด็ก เพื่อทำให้เด็กเข้าใจเป็นอันขาด ไม่เช่นนั้นลูกจะติดคำพูดผิด ๆ ออกเสียงไม่ชัดไปจนโต

        
อ่านอย่างมีชีวิตชีวา ตั้งใจ ไม่ซังกะตายอ่าน เมื่อนั้นลูกก็จะตั้งใจฟังเช่นเดียวกัน

        
อ่านให้เป็นกิจวัตรประจำวันเหมือน ๆ กับการแปรงฟันก่อนนอนแล้วน่าจะอ่านหนังสือด้วย วันละ 10-15 นาที ยังดีกว่าไม่อ่านเลย

        
ให้ ลูกช่วยเปิดหนังสือให้ โดยคุณพ่อคุณแม่ใช้มือขวาจับหน้าหนังสือที่ยังค้างอยู่ทั้งหมด เว้นแต่หน้าถัดไปให้ปล่อยไว้ เพื่อลูกจะได้เปิดหน้าที่เหลือ

        
ระหว่างอ่านหนังสือ พอเห็นลูกเลิกสนใจก็อย่าไปบังคับว่าจะต้องฟังจนจบ อย่าลืมว่าการอ่านเป็นเรื่องสนุกและสบายใจ

        
หนังสือเล่มเดียว แต่สามารถเล่าเรื่องได้เป็นร้อยวิธี หนนี้คุยเรื่องสี หนหน้าอาจเปรียบเทียบขนาดเล็ก ๆ ใหญ่ หรือการนับ ฯลฯ

        
ชวนลูกเก็บหนังสืออย่างเรียบร้อยเมื่อเลิกอ่านทุกครั้ง เพื่อให้ลูกเรียนรู้ระเบียบวินัยไปในตัว

          สิ่งสำคัญคือ ต้องหมั่นปฏิบัติทุกวัน สะสมไปเรื่อย ๆ เมื่อนั้นอุปนิสัย "หนอนน้อยรักการอ่าน" ก็จะติดตัวลูกไปจนโตค่ะ

เลือกหนังสือภาพ (Picture book) ให้ลูกวัย 0-6 ปี

        
  ขวบปีแรก เด็ก วัยนี้สนใจหนังสือเหมือนของเล่นชิ้นหนึ่ง หนังสือภาพที่เหมาะจึงควรเป็นหนังสือภาพ เหมือนรูปสัตว์ ผัก ผลไม้ ข้าวของต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันที่ใกล้ตัวเด็ก ภาพอาจเป็นรูปภาพจริง หรือภาพวาดก็ได้ แต่ไม่ควรมีฉากหลัง หรือส่วนประกอบภาพรกรุงรัง

        
  2-3 ปี เด็กวัยนี้ประสาทสัมผัสทางหูดีมาก ควรเลือกหนังสือภาพที่มีบทกวีดี ๆ เป็นคำคล้องจอง หรือภาษาที่มีจังหวะจะโคนน่าฟัง

        
  4-5 ปี เด็กวัยนี้ชอบสมมติตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกของนิทาน หนังสือภาพที่เลือกให้เด็กจึงควรมีเรื่องและภาพประสานกันเป็นจังหวะอย่าง เหมาะเจาะ เพื่อให้เด็กเกิดอารมณ์ร่วมตาม

        
  5-6 ปี เด็กวัยนี้ชอบฟังนิทานหรือเรื่องเล่าที่ยาวขึ้น ควรเลือกเรื่องที่เป็นตอน ๆ สนุกน่าติดตาม และใช้ภาษาที่เหมาะมาอ่านให้ลูกฟัง

          ข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ "สร้างนิสัยรักการอ่านให้ลูกน้อย"/ สมาพันธ์องค์กรเพื่อพัฒนาหนังสือและการอ่าน

แหล่งที่มา  modernmom, http://baby.kapook.com
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

No comments:

Post a Comment