Tuesday, May 6, 2014

Check & Change คำพูดต้องห้าม กระทบพัฒนาการลูก




         หนูน้อยวัยอนุบาลกำลังกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ตามพัฒนาการของตัวเองนะคะ โดยเฉพาะด้านจิตใจ อารมณ์ และสังคม การสื่อสารด้วยวาจากับลูกน้อยวัยนี้ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องใส่ใจเป็นพิเศษค่ะ

          ซึ่งกลุ่มพฤติกรรมต้องห้ามเรื่องการใช้คำพูดกับเจ้าตัวเล็กที่นำมาเสนอครั้งนี้ อยากให้คุณพ่อคุณแม่ได้ลอง Check & Change ตัวเองดูนะคะ

Let’s check Top 5 ถ้อยคำที่ห้ามพูดกับลูก

        
1. ใช้คำขู่ มักเกิดในบริบทที่คุณพ่อคุณแม่ห้ามไม่ให้ลูกทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มักมาในลักษณะของการลงโทษลูกหากเขาไม่หยุดกระทำ เช่น

        
ถ้าไม่หยุดขว้างของแม่จะไม่รักหนูนะ

        
ถ้าไม่ยอมกินข้าวแม่จะปล่อยให้หนูอดตาย

        
2. ไม่แนะนำสิ่งที่เป็นคำพูดที่มาพร้อมกับอารมณ์หรือสิ่งที่ลูกทำนั้นผิด แต่ไม่บอกให้รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องที่เขาควรทำ เช่น

        
หยุดพูดแทรกได้แล้วลูก...น่ารำคาญ

        
อย่าซนได้มั้ยลูก...เล่นแบบนี้อีกแล้ว

        
3. หลอกให้กลัว การหยอกล้อในสิ่งไม่สมควร จนทำให้ลูกกลายเป็นตัวตลก แม้เป็นความหวังดี ไม่อยากให้ลูกมีอันตรายก็ตาม เช่น

        
เงียบนะลูก อย่าร้องไห้ เดี๋ยวแม่ให้ตำรวจมาจับเลย

        
กิ๊วกิ๊ว...หนูหน้าตาไม่เหมือนพ่อแม่ เพราะถูกเก็บมาเลี้ยงจากถังขยะ

        
4. เอาตัวตนมาตำหนิ การตำหนิที่ตัวตนลูกเมื่อลูกทำอะไรไม่ดีไม่สำเร็จ

        
โง่จริงลูก...ง่าย ๆ แค่นี้ก็ทำไม่ได้

        
เด็กดื้อ..ไม่น่ารักเลย

        
5. เปรียบเทียบลูกกับคนอื่น เรื่องของการเปรียบเทียบกับพี่น้อง หรือเด็กข้างบ้าน เช่น

        
ทำไมยุกยิกจัง ไม่เรียบร้อยเหมือนลูกบ้านโน้นเลย

        
พี่เรียนเก่งกว่าหนูอีกนะเนี่ย ทำไมหนูเรียนไม่เก่งเท่าพี่เลย

ทุกคำที่ได้ยิน...กระทบพัฒนาการของหนู

          ทิ้งประโยคต้องห้ามเหล่านั้นซะ ลืมมันไปเลยค่ะ เพราะนี่คือสิ่งปิดกั้นการสั่งสมประสบการณ์เรียนรู้และพัฒนาการของลูกในทุก ๆ ด้าน

        
หนูอารมณ์ไม่ดีและรู้สึกแย่ หนูน้อยวัยเยาว์ 3-6 ปีกำลังเรียนรู้ที่จะเข้าใจอารมณ์ของตัวเองพร้อม ๆ ไปกับเข้าใจอารมณ์ของคนอื่นด้วย เขาเริ่มรู้แล้วว่าอะไรคือโกรธ เกลียด รัก หรือหวง นอกจากนั้นยังเรียนรู้เรื่องการมีสังคม มีเพื่อน รู้จักแบ่งปัน แสดงถึงการเริ่มฟอร์มลักษณะตัวตนว่ามีคุณค่าแค่ไหน พ่อแม่รู้สึกอย่างไรกับเขา เป็นวัยที่พัฒนาเรื่องของความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self Esteem)

         ดังนั้น เมื่อเขาได้ยินคำพูดต้องห้ามจากปากพ่อแม่ โดยเฉพาะการขู่ว่าจะไม่รัก การเปรียบเทียบเขากับคนอื่น และการตำหนิตัวตนของเขามากกว่าสิ่งที่เขาทำ บอกได้เลยค่ะว่ากระทบพัฒนาการด้านจิตใจ อารมณ์ สังคม และ Self Esteem ของเขาแน่นอน ความภาคภูมิใจในตัวเองของลูกจะถูกลดทอน เขาจะเกิดคำถามและรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เห็นคุณค่าในตัวเขาหรือเขาไม่ดีพอ สำหรับพ่อแม่ ซึ่งหากสั่งสมความคิดเหล่านี้นานเข้าเขาอาจหลีกหนีจากสังคมกลายเป็นเด็กซึม เศร้าได้ค่ะ

        
หนูไม่พร้อมเรียนรู้ เมื่อลูกรู้สึกไม่ดีหรือซึมเศร้าจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านสติปัญญา เพราะสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกจะถูกใช้งานมากกว่าเรื่องของ เหตุผล คำขู่การหลอก จะทำให้จิตใจของลูกมีความหวาดกลัว การเปรียบเทียบ และตำหนิจะทำให้เขารู้สึกไม่มีค่า ไม่มีความสำคัญ ไม่มีคนรัก เขาก็ไม่พร้อม ความอยากลองอยากเรียนรู้ก็จะสะดุดตาม

        
จินตนาการถูกบล็อก การใช้คำขู่ การหลอกให้กลัวการเปรียบเทียบ การตำหนิโดยไม่บอกสิ่งที่ควรจะทำแก่เขา จะทำให้ความคิดของลูกสะดุด เขาจะไม่สามารถมองภาพรวมทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้ เพราะไม่รู้สาเหตุจึงต่ออยอดไปสู่วิธีแก้ปัญหาไม่ได้ ที่สำคัญการใช้จินตนาการและการเล่นบทบาทสมมติของเขาก็จะถูกบล็อกไปด้วยเพราะ เขาไม่กล้าที่จะคิดหรือทำกิจกรรม เนื่องจากกลัวว่าจะทำผิดนั่นเอง

พัฒนาการเจ้าหนูวัยเยาว์ 3-6 ปี

        
ด้านร่างกาย : การใช้กล้ามเนื้อพัฒนาไปสู่ความละเอียดมากขึ้น เช่น ปีนป่ายและกระโดดได้คล่องมากขึ้นเล่นแบบประดิดประดอยมากขึ้น มีเครื่องมือเครื่องใช้ มีกฎกติกา ชอบผจญภัย ชอบลอง

        
ด้านสติปัญญา : เป็นช่วงสั่งสมภาษา คิดและแก้ปัญหาเบื้องต้นได้ เริ่มควบคุมตัวเองได้ จดจำประสบการณ์ในเชิงลบทั้งจากอุบัติเหตุ การถูกทำโทษ ไม่ให้ทำผิดซ้ำอีก ความซุกซนจึงน้อยลงและมีสมาธิมากขึ้น

        
ด้านจิตใจและอารมณ์ : แสดงความต้องการของตนเองได้เมื่อไม่พอใจ เช่น ร้องไห้เสียงดัง ขว้างปาสิ่งของ บางครั้งรู้สึกกลัวอย่างไร้เหตุผล แต่ส่วนใหญ่จะมีความมั่นคงทางอารมณ์และเชื่อมั่นในตัวเอง อาจมพฤติกรรมสลับไปมาในการแสดงออกว่ารัก โกรธ เกลียด แต่จะมีความคิดเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น

        
ด้านสังคม : เริ่ม เรียนรู้ที่จะมีความสัมพันธ์กับคนอื่น โดยเฉพาะเด็กวัยเดียวกัน ต้องไปโรงเรียน ต้องเจอกับคนอื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัว ซึ่งเด็กแต่ละคนจะมีพฤติกรรมการเข้าสังคมและการเล่นที่ต่างกันออกไป

Let’s change เปลี่ยนต้องห้ามเป็นต้องพูด

        
1. หยุดคำขู่...แล้ว ใส่ความรู้สึก เมื่อลูกไม่ยอมเชื่อฟังหรือทำตามที่บอก แทนที่จะใช้คำพูดขู่ ลองเปลี่ยนไปใช้คำพูดที่สื่อความรู้สึกแท้จริงของคุณพ่อคุณแม่ว่ารู้สึก อย่างไร เพื่อให้ลูกยังรับรู้ความรู้สึกดี ๆ และเข้าใจเหตุผลของสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการ เช่น

        
แม่รักลูกนะ แต่แม่ไม่ชอบที่ลูกทำแบบนี้

        
แม่รักและอยากให้ลูกแข็งแรง สุขภาพดี แม่เลยต้องการให้หนูกินข้าวเยอะ ๆ

        
2. อธิบายและให้เหตุผล เมื่อจะดุลูก หรือสั่งให้เขาหยุดทำอะไรแทนที่จะดุหรือตวาดเขาด้วยอารมณ์ ควรใช้การโน้มน้าวชักชวนเขาไปทำกิจกรรมอื่นที่เห็นว่าเหมาะสม จะเป็นการดีกว่าไปหยุดหรือเบรกเขากะทันหัน หรือถ้าห้ามเขาทำอะไรต้องมีเหตุผลรองรับอธิบายให้ลูกเข้าใจ พร้อมทั้งแนะนำเขาด้วยว่าเขาควรไปทำอะไร เช่น

        
แม่จะคุยธุระกับคุณย่า 2 คน หนูชวนพี่ตุ๊กตาหมีไปเดินเล่นข้างนอกก่อนดีมั้ยลูก

        
สนามหน้าบ้านยังมีน้ำขังอยู่ พ่อว่าเราไปปลูกต้นไม้หลังบ้านกันดีกว่านะลูก

        
3. เลี่ยงคำหยอกหลอกให้กลัว การ หลอกให้กลัวหรือหยอกล้อให้ลูกรู้สึกอายจะทำให้เขามีปมด้อย พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงเพราะลูกจะจำคำพูดประเภทนี้จนอาจติดความกลัว กลายเป็นความหวาดระแวงที่ติดอยู่ในใจเขาไปตลอดได้ ควรเปลี่ยนเป็นการอธิบายเหตุผลของเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างแท้จริงจะดีกว่า เช่น

        
หยุดร้องไห้เถอะนะลูก เดี๋ยวคอหนูจะเจ็บนะจ๊ะ

        
ที่หนูหน้าตาไม่เหมือนพ่อกับแม่เพราะ... แต่หนูก็เหมือนคุณยายนะลูก

        
4.ดุที่การกระทำ...ไม่ใช่ตัวตน เมื่อลูกทำผิด ทำไม่ได้ให้ตำหนิที่การกระทำ ต้องบอกเขาเลยว่าสิ่งที่เขาทำไม่ถูกต้องอย่างไร แล้วสิ่งที่เขาควรทำคืออะไร อย่าตำหนิที่ตัวตนลูกเพราะจะทำให้เขาไม่เกิดการเรียนรู้ เช่น

        
เรื่องนี้ยากนะลูก หนูต้องค่อย ๆ ฝึกทำ ค่อย ๆ คิดเรียนรู้นะจ๊ะ

        
การที่ลูกดื้อ ไม่ฟังแม่..ไม่ถูกต้องนะจ๊ะ หนูควรจะฟังเวลาที่ผู้ใหญ่พูดด้วยนะลูก

        
5. เลิกเปรียบเทียบ..ปรับให้เท่าเทียม คำเปรียบเทียบจะทำให้ลูกคิดว่าตัวตนเขาไม่มีค่าพอ หรือไม่ดีพอ พ่อแม่จึงชอบเปรียบเทียบเขากับคนอื่น ดังนั้น เปลี่ยนเป็นการอธิบาย หรือแสดงให้ลูกเห็นและเข้าใจว่าทุกคนเท่าเทียมกัน มีข้อดี และข้อเสียต่างกัน เพื่อให้ Self Esteem ของลูกแข็งแกร่ง เช่น

        
ลูกบ้านโน้นเรียบร้อยจัง แต่ลูกแม่ก็ไม่กระโดกกระเดกและอยู่นิ่ง ๆ ได้เหมือนกันใช่มั้ยจ๊ะ

        
พี่คิดเลขเก่งจัง แต่หนูก็ทำการบ้านภาษาอังกฤษถูกหมดเลยนะลูก

          ความสำเร็จของการเปลี่ยนประโยคต้องห้ามเป็นประโยคต้องพูดเกิดขึ้นได้ไม่ยากค่ะ แต่พยายามให้เวลาส่วนใหญ่ของความสัมพันธ์ภายในบ้านเป็นแบบมองแต่จุดดี มากกว่าจุดด้อย ลูกอาจจะไม่ใช่ดีมากหรือน่ารักที่สุด แต่พ่อแม่ก็ยังรักและเชื่อมั่นว่าจะพัฒนาได้ ที่สำคัญสุดคืออย่าใช้อารมณ์ในขณะที่สอนลูก เพราะวัยนี้รู้ว่าทุกอย่างมีเหตุผล มีจุดหมายและที่มาที่ไป เพราะฉะนั้นต้องให้เหตุผลกับลูก ต้องตอบลูกทุกคำถามเพื่อให้เขาเกิดแนวคิดแล้วนำไปจินตนาการต่อยอดได้ค่ะ

เรื่อง : จันทนา
แหล่งที่มา  รักลูก, http://baby.kapook.com
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

No comments:

Post a Comment