Friday, July 11, 2014

ช่วยลูกกำจัดความกลัว ทำได้ไม่ยาก





        Phobia คือ กลุ่มอาการของโรคความกลัว กลัวโน่นนี่นั่นไปหมด มีสาเหตุบ้าง ไร้สาเหตุบ้าง ตามแต่ลักษณะของบุคคล โรคกลัวเกิดได้ตั้งแต่วัยทารก ทว่าลูกยังพูดไม่ได้ บอกพ่อแม่ไม่ได้ ก็อาจไม่ได้สังเกต เช่น กลัวคนแปลกหน้าไม่ยอมให้ใครอุ้ม กลัวเสียงดัง กลัวสัตว์แปลก ๆ เมื่อหัดเดินก็อาจจะกลัวหกล้ม หรือตกจากที่สูง และเวลาที่ลูกกลัว เค้าจะหันหน้าหนี หรือถอยหนีและร้องไห้ กระทั่งเข้ามาซุกอกพ่อแม่คนใดคนหนึ่งเพื่อขอความช่วยเหลือ

ความกลัวนี้มีที่มา

         การที่ลูกแสดงอาการกลัวต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น ต้องย้อนดูสาเหตุที่มา อย่างแรกเลยคือ ความเครียด จากเรื่องเรียนหรือไม่ จากปัญหาต่าง ๆ ภายในบ้านหรือไม่ หรือเขามีบุคลิกชอบอยู่คนเดียว ปิดกั้นตัวเอง ไม่ค่อยคุยกับใคร แม้แต่พ่อแม่ ความเครียดจะเพิ่มพูนง่ายกว่าเด็กปกติ และถ้าภายในบ้าน เป็นบ้านที่มักทะเลาะเบาะแว้ง ใช้เสียงดังตะโกนคุยกัน หรือนำปัญหารอบด้านเข้าบ้าน เด็กย่อมมีความเครียดและแสดงอาการตื่นตระหนกกลัวอย่างเห็นได้ชัด ตรงนี้เป็นปัญหาจากภายนอก ที่ไม่ใช่แก้ที่เด็ก แต่ต้องแก้ที่คุณ แก้ที่ครอบครัว และค่อยมาแก้ที่ลูก

ฝังใจจำบางประสบการณ์

         เมื่อส่งเขาเข้าเรียน เมื่อลูกออกวิ่งไปเล่นนอกบ้าน ช่วงเวลาที่คุณห่างลูก เขาอาจเผชิญปัญหาบางอย่างมา แล้วไม่กล้าบอกพ่อแม่ เก็บสะสมไว้ กลายเป็นอดีตฝังใจ เช่น ถูกกลั่นแกล้ง ข่มขู่ หรือเคยประสบอุบัติเหตุรุนแรง จนเกิดเป็นความหวาดกลัวต่อสิ่งนั้น ตรงนี้ต้องค่อย ๆ แก้ ต้องเข้าหาลูกมากขึ้น ความใกล้ชิด ทำกิจกรรมร่วมกัน จะช่วยเปิดใจของเขา แต่ถ้าลูกไม่ยอมบอก บางครั้งคุณอาจต้องคาดเดาหรือสอบถามจากผู้อื่น เช่น ครูที่โรงเรียน เพื่อน ๆ ของลูก หรือจากพฤติกรรมของลูก

         แล้วต้องแก้ไขอย่างไร ? ความกลัวอันก่อเกิดจากประสบการณ์ที่เลวร้าย ต้องค่อย ๆ แก้ แก้รวดเดียวยาก สำหรับเด็ก ๆ ดีหน่อยตรงที่เขาลืมง่าย แต่ยิ่งโต เขาก็ยิ่งจำ ดังนั้นต้องเพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้เขา พาลูกไปเที่ยว พาไปผ่อนคลาย ใช้เวลาอยู่ร่วมกันพ่อแม่ลูก เปิดอกพูดคุยกัน ให้ประสบการณ์ที่ดีปิดทับประสบการณ์ที่เลวร้าย ความกลัวต่อสิ่งนั้น ๆ จะคลายลง แต่อาจไม่ทั้งหมด ต้องใช้เวลา

อย่าซ้ำเติมความกลัวของลูก

         "จะกลัวอะไรนักหนา" "มันมีอะไรน่ากลัวนัก" "ไม่เห็นจะน่ากลัว ใคร ๆ เค้าก็ไม่กลัวกัน"
เมื่อพ่อแม่พูดประโยคนี้หรือคล้าย ๆ กันนี้กับลูก เมื่อนั้นจะยิ่งเป็นการตอกย้ำ ทำให้เขาคิดว่าตัวเองประหลาด และไม่ได้ช่วยให้เขาลดความกลัวลงเลย

         อย่างที่บอก ความกลัวส่วนใหญ่มีที่มา แต่ก็มีความกลัวหรือ Phobia บางลักษณะที่เป็นโดยไร้สาเหตุ ต้องแยกให้ออกว่าความกลัวของลูกนั้นเป็นลักษณะใด ถ้ามีที่มา ก็ต้องหาสาเหตุและช่วยเขาแก้ แต่ถ้าเป็นความกลัวแบบไร้สาเหตุ ก็ต้องดูว่าความกลัวนั้น ๆ มีผลเสียต่อเขามากน้อยแค่ไหน เช่น เด็กบางคนกลัวกระต่าย กลัวแบบไร้สาเหตุ ไม่ยอมจับ ยอมอุ้ม ยังไงก็กลัว อันนี้ถ้าไม่แก้ก็คงไม่เป็นอะไร แต่ถ้ากลัวความมืด ลุกไปห้องน้ำทีเรียกที อันนี้ก็ต้องแก้ อย่าปล่อยให้กลัวจนโต

         ยังมีความกลัวอีกมากมายที่ลูกกำจัดไม่หมด และอาจจะมีมาอีกเรื่อย ๆ เมื่อเขาโตขึ้น ทุก ๆ ความกลัว เขาต้องการตัวช่วยเสมอ และคุณคือตัวช่วยที่ลูกต้องการ

แยกแยะ "โรคกลัว" ของลูก

         ทางการแพทย์ได้จำแนกโรคกลัวแบ่งเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่

        
1. Agora phobia ความวิตกกังวลอย่างหนักในที่สาธารณะที่ทำให้การหลบหนีเป็นไปได้ยาก เช่น กลัวการเดินบนสะพาน กลัวการไปในที่สาธารณะ

        
2. Social phobia ความกลัวที่มีมากกว่าความขี้อาย คนกลุ่มนี้จะมีความวิตกกังวลอย่างหนักในการแสดงออกในสถานการณ์ต่าง ๆ เมื่ออยู่ในสังคมมากกว่าความขี้อายธรรมดา เช่น กังวลตลอดเวลาว่าคนอื่นจะมองตนเองอย่างไร จนไม่กล้าแสดงออกหรือไม่กล้าออกมายังที่สาธารณะ

        
3. Specific phobia ความกลัวที่เกิดจากวัตถุหรือสถานการณ์บางอย่าง เช่น การกลัวที่แคบ กลัวการอยู่ในลิฟต์หรืออุโมงค์ จะแสดงออกชัดเจนว่ารู้สึกอึดอัดทรมานและต้องการหาทางออกไปจากสภาพที่เป็นอยู่ให้ได้อย่างเร็วที่สุด

         อย่างไรก็ดี ที่จำแนกนี้ยังแยกย่อย "โรคกลัว" ไปได้อีกหลายกลุ่ม ตามพฤติกรรมหรือวัตถุสิ่งของหรือสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความกลัว เช่น กลัวความสูง กลัวการอยู่ในเครื่องบิน กลัวฟ้าร้องฟ้าผ่า กลัวเลือด กลัวเข็มฉีดยา กลัวผีมีทั้งลักษณะที่มีสาเหตุและไม่มีสาเหตุ ต้องสังเกตและทำความเข้าใจ อย่างน้อยที่สุดถ้าเป็นไปได้ คงไม่มีใครอยากแสดง "ความกลัว" ออกมา ถ้าไม่รู้สึกหวาดกลัวต่อสิ่งนั้นจริง ๆ

สอนลูกให้ "กล้า" เพื่อชนะความกลัว

         ความกลัวนั้นมีที่มาจากหลายสาเหตุ หลายปัจจัย แต่ไม่ว่าจะเป็นความกลัวในรูปแบบใด วิธีเอาชนะความกลัวนั้นก็เริ่มต้นมาจาก "ความกล้า" การจะเพิ่มความกล้าให้ลูกได้นั้น นอกจากชื่นชมให้กำลังใจเค้าแล้ว ในวัยเด็กเค้าเองก็ต้องการ "มือ" ของพ่อแม่เพื่อนำทางด้วย และเค้าจะอุ่นใจมากกว่า ถ้าพ่อแม่อยู่ด้วยเสมอในเวลาที่เค้าต้องการ ดังนั้นเพื่อกระตุ้นความกล้าให้ลูก คุณควรเริ่มต้นจากการชวนลูกทำกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ เล่นกีฬา เข้าครัวด้วยกัน ปลูกต้นไม้ ไปว่ายน้ำ ไปเที่ยวนอกบ้าน นั่งรับประทานอาหาร พูดคุยกัน ส่วนจะสอนให้ลูกกล้าแสดงออกในทางใด ดูจากตัวเค้าเป็นหลัก อย่าดูเพียงที่ความต้องการของคุณ ค่อย ๆ เติมความเชื่อมั่น ความมั่นใจ และความอบอุ่น สิ่งเหล่านั้นจะก่อเกิดเป็นความกล้าเอาชนะความกลัวต่าง ๆ ให้ลูกได้

แหล่งที่มา  M&C แม่และเด็ก, http://baby.kapook.com
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

No comments:

Post a Comment