ก่อนที่เจ้าตัวน้อยจะกลับมาอยู่บ้าน คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมพร้อมข้าวของและอุปกรณ์ต่าง
ๆ ของลูกรอไว้อย่างครบครันค่ะ เพราะลูกต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่บ้านซึ่งต่างจากโรงพยาบาล
1.จดบันทึกเวลาหนูกินนม
โดยปกติเด็กแรกเกิดนอนหลับมากถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน
บางคนร้องไห้เมื่อหิว แต่บางคนหิวมากจนไม่มีแรงร้อง ทำให้คุณพ่อคุณแม่อาจเข้าใจว่าลูกหลับสบายอยู่
วิธีสังเกตง่าย ๆ เด็กแรกเกิดมีขนาดความจุกระเพาะไม่มาก ถ้ากินนมแม่ซึ่งย่อยเร็ว
เขาจะนอนไม่เกิน 3-4 ชั่วโมง ถ้าลูกนอนนานกว่า 4 ชั่วโมง ต้องปลุก และควรจดบันทึกเวลาและปริมาณที่เขากินนมด้วย
นอกจากนี้คุณแม่ควรบันทึกจำนวนครั้งของการอึและฉี่ของลูกควบคู่กันด้วยนะคะ
เพราะจะเป็นตัวช่วยทางอ้อมให้เรารู้ว่าลูกได้น้ำนมเพียงพอหรือไม่
2.ดูสีอึและฉี่ของหนู
คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตสีและจำนวนครั้งที่ลูกถ่ายหนัก
ถ่ายเบา เพราะในเด็กแรกเกิดที่ได้นมเพียงพอจะฉี่เปียกชุ่มผ้าอ้อม 4-6 ครั้งต่อวัน และสีไม่เข้มมาก ส่วนช่วง 2-3 วันแรกอึของลูกอาจจะเป็นสีออกเขียว
แต่วันที่ 4 มักจะเริ่มเขียว ปนเหลือง
จากนั้นจะเป็นสีเหลืองทอง ในกรณีที่ได้รับนมแม่
ฉะนั้น หากคุณแม่สังเกตแล้วเห็นว่าผิดไปจากนี้ ก็สันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่าลูกอาจจะมีปัญหาการกินนมหรือปัญหาสุขภาพที่คุณ
แม่ต้องพาไปพบคุณหมอค่ะ
3.รู้เวลานอน ตอนอยู่บ้าน
เนื่องจากตอนลูกกลับจากโรงพยาบาล
ซึ่งอาจไม่เคยปิดไฟเลยในช่วงกลางคืน คุณพ่อคุณแม่ควรช่วยให้ลูกเข้าใจเวลากลางวันกลางคืน
โดยกลางคืนเมื่อตื่นก็มีกิจกรรมกินนมอย่างเดียว และเปิดไฟสลัว ส่วนกลางวันสว่าง
และมีกิจกรรมทำบ้าง ที่สำคัญควรให้ลูกได้นอนหลับบนที่นอนไม่ใช่บนตัวคุณพ่อคุณแม่นะคะ
กรณีที่ที่นอนเย็นควรต้องทำที่นอนให้อุ่นก่อน เพราะเด็กบางคนไม่ยอมนอนบนที่นอนเย็น
ๆ ต่างจากตัวคุณแม่ที่อบอุ่นค่ะ
4.ตอบสนองทุกครั้งที่หนูร้อง
เพราะลูกน้อยวัยเบบี้ยังพูดไม่ได้
จึงใช้การร้องไห้สื่อสารกับเรา ซึ่งลูกอาจจะร้องเพราะหิว เพราะเปียก
หรือเพราะเบื่อ คุณแม่จึงควรตอบสนองการร้องไห้ของลูกทุกครั้ง
แต่ถ้าลูกร้องไห้แบบ ที่เราไม่รู้สาเหตุ ก็ลองห่อตัวเจ้าตัวเล็กให้กระชับเหมือนตอนอยู่ที่โรงพยาบาล
เพราะเขาอาจยังไม่ชินกับการอยู่ที่กว้าง จึงรู้สึกอ้างว้างไม่เหมือนตอนอยู่ที่แคบ
ๆ ในท้องแม่
5.สร้างความคุ้นเคยกับพี่คนโต
หากคุณแม่มีลูกคนโตอยู่ด้วย การที่คุณแม่จากบ้านไปหลายวัน เมื่อกลับมาคุณแม่ควรมีอ้อมกอดสำหรับพี่
หรือลูกคนโตด้วยนะคะ และยกหน้าที่อุ้มน้องเข้าบ้านให้คุณพ่อแทน
เมื่อใช้เวลาเต็มที่แล้วจึงค่อย ๆ แนะนำให้พี่รู้จักน้องเล็ก
ให้พี่ช่วยหยิบของให้น้องบ้าง ก็จะช่วยให้พี่น้องเกิดความคุ้นเคยที่จะอยู่ร่วมกัน
6.คุณแม่ก็ต้องดูแลตัวเองด้วย
เพราะการดูแลลูกเป็นงานที่ต้องทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจค่ะ
ดังนั้น คุณแม่เองจึงต้องดูแลตัวเองให้พร้อมเสมอด้วย เมื่อมีเจ้าตัวน้อยเข้ามาในชีวิต
คุณแม่มักเอาเวลาที่มีทั้งหมดให้กับลูก ฉะนั้น
เรื่องงานบ้านหรือสิ่งละอันพันละน้อยต่าง ๆ ในบ้าน หากมีคุณพ่อ หรือมีคนคอยช่วยเหลือบ้าง
ก็จะทำให้คุณแม่มีเวลาพักผ่อนได้อยู่กับเจ้าตัวเล็กได้เต็มที่ โดยไม่เครียดค่ะ
ถึงแม้การดูแลลูกเบบี้จะเป็นงานที่ทั้งหนักและเหนื่อย
แต่เพียงแค่เห็นรอยยิ้มเบิกบาน และแววตาแสนสุขของลูกน้อยแล้ว เชื่อว่าเหนื่อยสักแค่ไหนคุณพ่อคุณแม่อย่างเราก็พร้อมสู้ค่ะ
เรื่อง
: สิริพรง
แหล่งที่มา รักลูก, http://baby.kapook.com
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
No comments:
Post a Comment