Sunday, June 13, 2010

ฝึกวินัยให้ลูกอย่างไรจึงจะได้ผล

เราไม่สามารถหยุดยั้ง "การขอ" ของลูกได้ แต่เราสามารถจะหยุดยั้ง "การให้" อย่างขาดสติของพ่อแม่ได้

ให้เด็กได้เรียนรู้ถึงผลการกระทำของเขาทันทีที่เขาทำสิ่งนั้นเสร็จสิ้นลง

หากเผอิญเด็กทำสิ่งใดผิดพลาดไป ให้เขาได้รู้ทันทีและชัดเจนว่าเขาทำอะไร และผิดอย่างไร นอกจากนี้ให้เด็กรูู้ด้วยว่าเขาควรจะทำสิ่งใดแทนความประพฤติที่ผิดพลาดนั้น

อย่าลงโทษเด็กโดยไม่บอกให้เขารู้ว่าเขาทำสิ่งใดผิด บ่อยครั้งที่พ่อแม่บางคนมีโทสะกับบางสิ่งบางอย่าง และมาระบายอารมณ์อย่างก้าวร้าวกับลูก เด็กเหล่านี้จะเติบโตโดยไม่มีทางรู้ว่าเขาได้ทำอะไรผิดหรือเขาควรจะทำอย่างไรจึงจะถูกใจพ่อแม่และรอดพ้นจากการถูกตี

ดังนั้น การจะตั้งกฎเกณฑ์ใดก็ตามจะต้องชัดเจน ยุติธรรม ถ้าเด็กทำผิดเขาควรจะรู้ทันทีว่าเขาทำสิ่งใดผิด และควรทำสิ่งใดที่ถูกต้องแทน

หาทางยุติพฤติกรรมที่ไม่ดีนั้นในขณะกำลังเริ่ม

ทัีนทีที่เด็กแสดงพฤติกรรมออกมาถ้าเป็นสิ่งดีหรือไม่ดี พ่อแม่ีควรจะให้เขารู้ในทันทีอย่าทิ้งให้เขาเก็บไปคิดเป็นการบ้านเอง

ถ้าจะให้ดีไปกว่านั้นอีก ก่อนที่ลูกจะแสดงพฤติกรรมของเขาสิ้นสุดลงถ้าพ่อแม่ไหวทัน รู้ว่าสิ่งที่เด็กกำลังจะแสดงออกไปเป็นสิ่งที่ไม่ดี พ่อแม่อาจจะหยุดในพฤติกรรมนั้นๆ เสีย แทนที่จะคอยให้เด็กทำออกมาจนจบและโดนดุ ตัวอย่างเช่น ถ้าลูกกำลังเดินไปจับปลั๊กไฟ เป็นต้น

ข้อสำคัญ การใช้กลยุทธ์ที่จะหยุดพฤติกรรมของเด็กก่อนการแสดงออกไปนี้ พ่อแม่ต้องระวังว่าจะไปแปลเจตนาของเด็กผิดไปเสียก่อน ตัวอย่างเช่น เด็กชายเอกอยากจะเอามือไปสัมผัสศีรษะของน้องเล็กด้วยความรัก แต่ปรากฎว่าคุณแม่ได้แปลเจตนาผิด นึกว่าเด็กชายเอกกำลังจะรังแกน้อง ก็รีบไปดุเด็กเสียก่อน กรณีดังกล่าวแสดงว่าคุณแม่ใจเร็วเกินไป ทำให้แปลเจตนาของเด็กชายผิดไป

ดังนั้นจึงขอเสนอข้อแนะนำไว้เป็นแนวทางสำหรับพ่อแม่ ดังนี้

1ถ้าจะลงโทษเรื่องใด จะต้องบอกอย่างชัดเจนไม่คลุมเครือ เช่น "ค่ำนี้ แม่ไม่อนุญาตให้ลูกดูหนังการ์ตูน" อย่าใช้คำพูดคลุมเครือเป็นต้นว่า "แล้วเราจะเห็นดีกัน"

2ถ้าเด็กทำไม่ดีเรื่องใด ให้บอกเด็กให้รู้อย่างชัดเจนเช่นกัน ตัวอย่างเช่น "แม่ไม่ชอบเมื่อลูกโยนของให้แม่"

3การลงโทษ จะต้องให้เหมาะสมกับความผิดกับเด็กในแต่ละวัยและเป็นเรื่องๆ ไป เช่น สำหรับเด็กเล็กอาจไม่ให้เล่นที่ชอบ หรือสำหรับวัยรุ่นก็อาจเกี่ยวกับจำนวนเงินที่เด็กจะได้เป็นค่าขนม เป็นต้น

4การลงโทษเด็กไม่ควรจะสะสมไว้หลายๆ เรื่อง และมาลงโทษหนักเอาคราวเดียวเพราะจะทำให้เด็กสับสน ไม่เข้าใจว่าเขาพูดหรือทำผิดนิดเดียวเหตุใดจึงถูกลงโทษอย่างหนักและไม่ยุติธรรมเลย

5เด็กควรจะได้รู้ล่วงหน้าว่า ถ้าเขาผิดอะไรจะถูกลงโทษอย่างไร ดังนั้นเมื่อเขาฝ่าฝืนกฎเขาจึงรู้ล่วงหน้าว่าจะต้องถูกทำโทษอย่างใด ไม่ใช่เป็นเพราะเด็กทำไปโดยไม่รู้เลยว่าการกระทำของเขาจะมีผลดีผลเสียกับตัวเขาอย่างไร ตัวอย่างเช่น พ่อแม่อาจเตือนลูกว่า อย่าเล่นฟุตบอลใกล้หน้าต่าง เพราะถ้าลูกบอลถูกหน้าต่างแตกแล้วลูกจะต้องเสียเงินมาใช้ สมมุติว่าเด็กประมาทหรือละเลยคำสั่ง และเตะลูกบอลถูกกระจกแตก เด็กจะรู้ทันทีว่าโทษของเขาก็คือต้องเสียเงินของเขามาชดใช้กระจกที่ทำแตก เป็นต้น

มีความสม่ำเสมอในการอบรมลูก

เมื่อท่านสอนลูกว่าอะไรควรทำ อะไรควรละเว้น สิ่งใดถูกต้อง สิ่งใดไม่ถูกต้อง ท่านจะต้องมีความแน่นอนในสิ่งที่ท่านพูดหรือทำด้วย

ถ้าสิ่งใดที่ท่านห้ามไม่ให้ลูกทำวันนี้ ย่อมหมายความว่า เขาจะไม่สามารถทำสิ่งเดียวกันนี้ในวันพรุ่งนี้หรือมะรืนนี้ได้เช่นกัน

อย่าฝึกวินัยลูกตามอารมณ์อันไม่แน่นอนของท่าน เช่นวันนี้ยอมเขาเพราะท่านมีอารมณ์ดี แต่พรุ่งนี้กลับลงโทษเขาเพราะอารมณ์ของท่านหงุดหงิด

โปรดระลึกเสมอว่า ข้อห้ามต้องเป็นข้อห้าม ไม่ว่าจะเป็นวันเวลาใดก็ตาม ดังนั้นก่อนจะตั้งกฎเกณฑ์อะไรกับเขาท่านต้องคิดให้ดีว่ากฎจะต้องเป็นกฎเสมอ อย่าพูดบอกห้ามเขาถ้าท่านไม่คิดจะเอาจริงในสิ่งที่ท่านพูด และอย่าขู่ขวัญเขาลมๆ แล้งๆ หรือห้ามเขาในเมื่อท่านไม่เอาจริง เช่น อย่าบอกเขาว่า "อย่าซนนะเดี๋ยวแม่ไม่เอาไปเที่ยวข้างนอก" ถ้าท่านรู้ว่าอย่างไรเสียท่านก็จะต้องพาเขาไปกับท่านด้วยอย่างแน่นอนในอนาคต

โดยทั่วๆ ไป พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็มักจะมีความเห็นสอดคล้องกันว่า สิ่งใดดีก็อยากเห็นลูกทำบ่อยๆ หรือพฤติกรรมใดที่ลูกงดเว้น แต่มีพ่อแม่เป็นจำนวนมากที่ใจแข็งไปไม่ตลอด เมื่อเห็นลูกมาออดอ้อนวิงวอนนานก็ตกลงยินยอมตามใจลูก ทั้งๆ ที่ตอนแรกก็ตั้งใจแล้วว่าจะใจแข็ง แต่ก็แข็งไปไม่ตลอด ทำให้เด็กมีการเีรียนรู้โดยอัตโนมัติว่า ถ้าเขาทำออดอ้อนหรือโยเยนานมากพอเขาก็จะสามารถทำให้พ่อแม่ใจอ่อนและยอมเขาในสิ่งที่เขาปรารถนาได้

เมื่อพ่อแม่รู้ดังนี้แล้ว และต้องการจะวางตัวใหม่ ไม่ใจอ่อนให้เด็กได้ใจ พ่อแม่คนนั้นจะต้องตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่โอนอ่อนไปกับเด็ก และต้องยืนหยัดอย่างเด็ดเดี่ยว มิเช่นนั้นการฝึกวินัยจะล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะลูกจะเรียนรู้โดยอัตโนมัติว่า คำพูดของพ่อแม่ไม่แน่นอนไม่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีความหมาย และไม่จำเป็นต้องใส่ใจนัก เพราะถึงอย่างไร ถ้าเขาออดอ้อนเป็น เขาก็จะได้ในสิ่งที่เขาต้องการอยู่ดี ต่อไปเมื่อเด็กโตขึ้น คำพูดเของพ่อแม่ก็ยิ่งไม่มีความหมาย เด็กจะเลิกรับฟัง ซึ่งผลก็คือพ่อแม่จะเริ่มบ่น ดุว่านานมากขึ้น เด็กก็จะไม่รับฟังมากขึ้น ความตั้งใจจริงที่จะฝึกวินัยลูกในช่วงแรกจึงเป็นพลังที่สูญเปล่าไปอย่างสิ้นเชิง

เป็นที่น่าเสียดายว่า พ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะประหยัดในคำชม แต่ฟุ่มเฟือยในคำตำหนิ เด็กบางคนทำดีแทบตายไม่เคยได้รับคำชมเลย แต่พอทำไม่ดีเพียงนิดเดียวถูกกล่าวหาตลอดเวลาซ้ำๆ ซากๆ บางคนเป็นปีๆ ก็มี

ดังนั้น จึงอยากขอเชิญชวนให้พ่อแม่ผู้ปกครองทั้งหลายหันมาใส่ใจในพฤติกรรมที่ดีๆ ของเด็กให้บ่อยครั้งขึ้น การที่เด็กจะให้ความร่วมมือกับผู้ใหญ่มากน้อยแค่ไหนนั้น จำเป็นจะต้องได้รับการชี้นำหรือแนะแนวให้เขารู้จักพฤติกรรมที่พึงปรารถนาให้มากที่สุด รวมทั้งทัศนคติและแนวคิดที่เป็นประโยชน์อีกด้วย

พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรผสมผสานการใช้คำพูดในลักษณะข้อเสนอแนะหรือการชื่นชม ให้กำลังใจในการทำสิ่งที่ยากๆ สำเร็จลงได้ เพื่อให้เด็กเกิดขวัญและแรงจูงใจที่จะทำพฤติกรรมที่ดีๆ เพื่อความสำเร็จของตัวเขาเอง และความชื่นใจของพ่อแม่เขาในที่สุด

ที่มา :  "สอนลูกให้มีวินัย ฝึกเด็กและวัยรุ่นอย่างไรให้ยอมรับและไม่ต่อต้านคุณ", หน้า 98 - 104
ผู้แต่ง :  ดร. นวลศิริ เปาโรหิตย์
           

No comments:

Post a Comment