Monday, June 14, 2010

ปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง

ปัญญาด้านการเข้าใจตนเองเป็น 1 ใน 8 ด้าน ในทฤษฎีพหุปัญญาของ ดร.การ์ดเนอร์

ปัญญาด้านการพัฒนาตนเองคืออะไร

เมื่อเด็กๆ มีปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง เด็กๆ จะรู้จักตนเอง รู้ว่าตนเองเป็นคนอย่างไร มีความสามารถด้านไหน เข้าใจความรู้สึกของตนเองได้ดีกว่าผู้อื่น อีกทั้งยังสามารถกำหนดเป้าหมายของตนเอง เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ตนเองพบ และรู้ข้อดี ข้อด้อยของตนเอง เด็กๆ สามารถแสดงสติปัญญาในด้านนี้ออกมาด้วยการจดบันทึกส่วนตัว แก้ปัญหาชีวิต วางแผนสำหรับอนาคต ใช้เวลาทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมา สนใจเรื่องศาสนาหรือจิตวิทยา หรือสามารถเข้าใจและยอมรับอารมณ์ของตัวเองที่แปรเปลี่ยนไปทุกวันได้

เด็กๆ เคยคิดบ้างไหมว่า จริงๆ แล้วตนเองเป็นคนอย่างไร ถ้าจู่ๆ มีคนถามว่า หนูเป็นใคร เด็กๆ อาจตอบว่า "ผมชื่อนัทครับ" (แน่นอน ถามแบบนี้ไม่ว่้าใครก็ตอบชื่อตัวเองกันทั้งนั้น) แต่ที่จริง เด็กๆ ไม่จำเป็นต้องบอกชื่อตนเองเสมอไป อาจจะบอกว่า "ผมอายุ 10 ขวบ บ้านอยู่กรุงเทพฯ ตอนนี้เรียนอยู่ชั้น ป.5 ชอบเตะฟุตบอลครับ" คำตอบเช่นนี้อาจบอกให้คู่สนทนาทราบเกี่ยวกับตัวเด็กๆ ได้ แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่คนอื่นอาจอยากจะรู้

เด็กๆ สามารถที่จะเลือกแนะนำตัวเองในแบบอื่น เช่น เ่ล่าเรื่องราวในอดีต ความฝัน สิ่งที่ชอบ สิ่งที่เกลียด หรือมีความรู้สึกส่วนตัว ก็ได้ อธิบายถึงตัวเองมากเท่าไร ก็จะยิ่งค้นพบความเป็นตัวเองมากขึ้นเท่านั้น เพราะไม่มีใครเข้าใจเด็กๆ ดีไปกว่าตัวเองแน่ การรู้จักตนเองคือปัญญาด้านการเข้าตนเอง

เด็กๆ อาจคิดว่า "ไม่ว่าใครก็ต้องรู้จักตัวเองกันทั้งนั้น" ที่จริงแล้วไม่ใช่ทุกคนหรอก คนบางคนสามารถเข้าใจความรู้สึก เป้าหมาย และความฝันส่วนตัวได้ดีกว่าคนอื่น เมื่อสามารถเข้าใจตนเองได้ดี ก็จะสามารถเข้าใจตนเองได้ดี และจะสามารถเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ตนเองได้


เด็ำกๆ คงเข้าใจแล้วว่าปัญญาด้านการเข้าใจตนเองก็คือ การรู้จักตนเอง และนี้คือความรู้ที่สำคัญที่สุดที่เราพึงมี บางทีอาจไม่เชื่อว่า การเข้าใจตนเองสำคัญกว่าการรู้วิธีแก้โจทย์เลข หรืออ่านโน๊ตดนตรี แต่นี่คือความจริง ปัญญาด้านการเข้าใจตนเองคือกุญแจสำคัญที่ไขไปสู่ความสำเร็จในชีวิต เพราะรู้ว่าตัวเองเป็นคนอย่างไร โตขึ้นอยากเป็นอะไร และอยากทำอะไรให้สำเร็จมากที่สุด สิ่งสำคัญคือ เมื่อเด็กมีปัญญาด้านการเข้าใจตนเองแล้ว ก็จะสามารถสร้างปัญญาด้านอื่นๆ ได้ด้วยตนเอง


ปัญญาด้านการเข้าใจตนเองมีประโยชน์อย่างไรบ้าง


1.  สามารถเรียนรู้จากข้อผิดพลาดและความสำเร็จ เพื่อพัฒนาความสามารถของตนเอง
2.  สามารถกำหนดเป้าหมายในชีวิต โดยการเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต
3.  สามารถเข้าใจความรู้สึกของตนเอง และแสดงออกในทางที่สร้างสรรค์


รุ้จักตนเอง


การรู้จักตนเองเริ่มจากการประเมินตนเอง นั่นหมายถึงการมองตนเองอย่างตั้งใจ แล้วลองถามตนเองด้วยคำถามต่อไปนี้


1.  ข้อดีที่สุดของฉันคืออะไร
2.  ฉันทำอะไรได้ดี และควรปรับปรุงด้านไหนบ้าง
3.  ความหวังและความฝันของฉันคืออะไร
4.  อะไรที่ทำให้ฉันมีความสุข
5.  ฉันอยากเรียนรู้เรื่องอะไร
6.  ฉันวางเป้าหมายสำหรับอนาคตไว้อย่างไร
7.  ฉันได้บทเรียนอะไรบ้างจากอดีตที่ผ่านมา
8.  ฉันกำลังรู้สึกอย่างไร ทำไมถึงรู้สึกอย่างนั้น
9.  ฉันสนใจเรื่องอะไร แล้วทำไมถึงสนใจ
10.ใครที่สำคัญสำหรับฉัน แล้วทำไมเขาคนนั้นถึงสำคัญ
11.ฉันอยากเปลี่ยนแปลงอะไรในโลกนี้ ในบริเวณบ้าน หรือในชีวิตของฉันบ้าง
12.ฉันให้ความสำคัญกับความรู้สึกที่มีต่อสิ่งต่างๆ กิจกรรมต่างๆ หรือผู้คนทั่วไปหรือเปล่า


เด็กๆ อาจคิดและตอบคำถามในใจ หรือจะเขียนคำถามคำตอบลงในสมุดบันทึกก็ได้ บางทีการเขียนก็เป็นประโยชน์ เพราะช่วยให้เด็กๆ ได้คิดไตร่ตรองอย่างละเอียด จนอาจค้นพบบางสิ่งบางอย่างที่เด็กๆ คาดไม่ถึง อย่าตอบคำถามแค่ครั้งเดียวแล้วลืมมันไป ควรถามคำถามเดิมซ้ำอีกหลายๆ ครั้ง อาจจะเว้นระยะเป็น 1 เดือน หรือ 6 เดือนข้างหน้า อาจจะแปลกใจเมื่อพบว่าบางคำถาม คำตอบได้เปลี่ยนไป


ตอนนี้อาจจะเริ่มเข้าใจแล้วว่า ปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง คือ การหมั่นคิดทบทวนเกี่ยวกับตนเอง ตัวตนเป็นแหล่งกำเนิดของความคิด ความฝัน และความคิดสร้างสรรค์ การค้นหาตัวตนก็เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ และหาคำตอบให้ตัวเองอยู่ตลอดเวลา


เข้าใจความรู้สึกของตนเอง


การเข้าใจความรู้สึกของตนเอง หมายความว่า การที่สามารถดึงส่วนที่ดีที่สุดออกมาได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถจัดการกับส่วนที่แย่ที่สุดได้ด้วย การเข้าใจความรู้สึกมีส่วนช่วยในการแสดงอารมณ์นั้นออกมา และการแสดงอารมณ์ก็ช่วยให้สามารถจัดการกับความรู้สึกนั้นได้ เช่น รู้สึกท้อแท้ก็อาจหาวิธีทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น โดยพูดคุยกับคนอื่น เขียนบันทึก ออกไปเที่ยว เป็นต้น เมื่อเกิดความเข้าใจความรู้สึกของตนเองแล้ว ก็จะมีโอกาสเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นได้เช่นกัน


พยายามเพื่อเป้าหมาย


การมีปัญญาด้านการเข้าใจตนเองคือกุญแจสู่ความสำเร็จที่สำคัญ บางครั้งการกำหนดเป้าหมายก็สามารถทำได้โดยธรรมชาติ แต่บางครั้งก็ไม่ใช่สิ่งที่จะคิดถึงหรือทำกันบ่อยๆ สิ่งที่ควรคำนึงในการกำหนดเป้าหมาย ได้แก่


1.  เริ่มเป้าหมายเล็กๆ หรือเป้าหมายในระยะสั้น
2.  กำหนดเป้าหมายในสิ่งที่เด็กๆ สนใจจริงๆ
3.  ต้องแน่ใจว่าเป้าหมายนั้นเกิดขึ้นได้จริง
4.  เป้าหมายต้องท้าทาย
5.  เป้าหมายที่ำกำหนดต้องเป็นเรื่องเฉพาะเจาะจง


การกำหนดเป้าหมายแสดงให้เห็นว่า เรามีปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง เพราะจะมีการคิดถึงอนาคต พยายามปรับปรุงตนเอง และทำความฝันให้เป็นจริง


พัฒนาปัญญาด้านการเข้าใจตนเองด้วยวิธีสนุกๆ


1.  ถามตัวเองว่า "ฉันคือใคร"
2.  ทำบันทึกส่วนตัว
3.  จดรายการสิ่งที่ต้องไปทำ
4.  กำหนดเป้าหมายสำหรับตนเอง
5.  เขียนอัตชีวประวัติ
6.  ทำภาพปะติดรูปตัวเอง
7.  จดจำความฝัน
8.  คิดถึงวันที่ผ่านไป
9.  หัดนั่งสมาธิ
10.สำรวจกล่องเครื่องมือสำหรับการเข้าใจตนเอง
11.อ่านหนังสือเกี่ยวกับการแก้ปัญหาให้ตนเอง
12.ทำสิ่งที่เด็ำกๆ ชอบ
13.เริ่มทำสิ่งที่สำคัญสำหรับตัวเอง




ข้อมูลอ้างอิง


ผู้แต่ง         :   โธมัส อาร์มสตรอง 
ชื่อหนังสือ   :   เชื่อเถอะ! หนูฉลาดกว่าที่คิด
สำนักพิมพ์   :   แฮปปี้แฟมิลี่, 2549
             

No comments:

Post a Comment