Saturday, June 12, 2010

ขออีกหน่อยนะ

ปัญหามีอยู่ว่า

ลูกคุณต้องการ "ขออีกหน่อยนะ" ทั้งเรื่องดูวีดิโอก่อนนอน เล่นเกม ขี่จักรยาน ขอกินคุกกี้ในขวดโหลเพิ่ม ขอฟังนิทานก่อนนอน หรือขอต่อรองในแบบคล้ายๆ กันว่า "อีกแค่ 5 นาทีเอง" คุณคงไม่อยากแปลงร่างเป็นผู้ร้ายหลังจากที่เพิ่งเล่นสนุกกับลูก

คิดทบทวนอีกครั้ง

ลูกๆ มักไม่ยอมให้ความสนุกหมดไป พวกเขาไม่เคยพร้อมที่จะให้คุณบอกว่า "ได้เวลากลับแล้วจ๊ะลูก" หรือ "พอได้แล้วลูก" มันเป็นไปไม่ได้ที่ลูกจะเป็นวีรบุรษหรือวีรสตรีตัวน้อยในช่วงที่ำกำลังเล่นสนุกอยู่ ลูกๆ กำลังควบคุมเวลาช่วงสั้นๆ ในชีวิตของพวกเขาตอนที่กำลังเล่นสนุก แต่เราซึ่งเป็นพ่อแม่กลับพยายามจะแย่งเอาเวลาสนุกนั้นมาจากพวกเขา

เราพยายามที่จะบอกอย่างชัดเจน พร้อมทั้งกำหนดข้อจำกัดให้กับพวกเขา แต่ต้องยอมรับว่าบางครั้งก็ทำใจยากเหมือนกัน ถ้าคุณบอกว่า "10 นาทีนะลูก" นั่นหมายถึงช่วงเวลาระหว่าง 5 - 30 นาที สำหรับลูก อาจเป็นเพราะคุณไม่ค่อยจริงจังอะไร การก่อกวน การงอแง การต่อรองเพียงเล็กน้อย อาจทำให้เราใจอ่อนได้ แล้วอะไรที่จะเป็นผลเสีย

ผู้ปกครองบางท่านไม่มีปัญหากับการร้องขอ "แค่อีกหน่อยเดียวเอง" เพราะเด็กๆ มีเหตุผลพอ พ่อแม่อาจพิจารณาจากสถานการณ์ต่างๆ บางครั้งอาจตอบ "ได้" บางครั้งอาจตอบ "ไม่ได้" ซึ่งเด็กๆ ก็ยอมรับการตัดสินใจนั้น แต่ถ้าลูกคุณไม่เคยทำตามที่บอกว่า "ได้เวลากลับแล้วลูก" คุณควรอ่านข้อความข้างล่างดูวิธีการแก้ไข

ทำอย่างไรถึงจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

1.  ควรเริ่มหารูปแบบที่คุณทำตามได้อย่างสม่ำเสมอ ตัวอย่างเช่น

* บอกให้ลูกๆ ทราบว่า เหลือเวลาอีกกี่นาที หรืออีกนานเท่าไหร่ เช่น "ลูกจะเล่นกระดานลื่นได้อีก 3 ครั้งเท่านั้น"

* พูดว่า "ได้เวลากลับแล้ว" เมื่อหมดเวลา

* รีบกลับโดยทันที

2.  ควรสำรวจตัวเองก่อน ถ้าคุณเป็นผู้ปกครองประเภทที่ยอมใจอ่อนกับคำขอของลูก "อีกหน่อยได้มั้ยครับ" ทำไมคุณไม่ให้สิทธิ์เขาตั้งแต่แรก เช่น "คุณแม่ให้หนูกินคุกกี้ได้ 2 ชิ้นจ๊ะ" ดีกว่าให้เขากินแค่ชิ้นเดียว แล้วมาเซ้าซี้ขอกินอีกชิ้นทีหลัง

ในขณะเดียวกัน บอกกับลูกว่า "หนูเหลือเวลาเล่นเกมอีก 10 นาที นะลูก" ดีกว่าบอกลูกว่า ได้เวลากลับแล้ว แต่คุณกลับยอมตามใจกับคำขอ "อีก 5 นาทีนะครับ" ถึง 2 ครั้งของลูก สิ่งที่อยากจะบอกก็คือ อย่าตามใจลูกทุกครั้งที่เขาร้องขอ

3.  เตรียมพร้อมที่จะไปทันที แต่ถ้าคุณบอกกับลูกว่า ได้เวลาไปแล้วแต่กลับใช้เวลาอีก 20 นาทีกว่าจะกลับจริงๆ ความเชื่อถือของคุณจะลดลง ลูกจะไม่ทำตามคำบอกที่ว่า "ได้เวลากลับแล้ว" อีกต่อไป เพราะเขารู้ว่าคุณไม่ได้หมายความอย่างที่บอกจริงๆ

4.  เมื่อคุณเริ่มทำตามที่บอกกับลูก และลูกก็เริ่มคุ้นกับคำว่า "ไม่ได้" โดยไม่พูดอะไรอีก นอกจาก "แหมคุณแม่ครับ" คุณอาจผ่อนผันให้ลูกได้บ้างตามสมควร

คุณอาจจะรับฟังการขอร้องแบบดีๆ หรือรับฟัง "ข้อมูลใหม่" ยกตัวอย่าง เช่น "คุณแม่ลืมแล้วเหรอครับว่าพรุ่งนี้ไม่ต้องไปโรงเรียน ผมขอเล่นต่ออีก 10 นาทีนะครับ"

คุณอาจยอมรับข้อตกลงบางอย่างได้ถ้าคิดว่าลูกจะทำตา่มที่สัญญาไว้ เช่น "พวกผมขอเล่นต่ออีกสัก 10 นาทีได้มั้ยครับ ผมสัญญาว่าพรุ่งนี้จะตื่นแต่เช้า" ในบางครอบครัวข้อตกลงนี้ค่อนข้างใช้ได้ผล แค่ 10 นาทีทำให้ทำอะไรได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะได้รับความร่วมมือจากลูกมากขึ้นในตอนเช้า แต่ถ้าลูกผิดสัญญา ในครั้งต่อๆ ไปคุณคงไม่ยอมรับข้อตกลงของพวกเขาอีกเลย

พูดคำว่า "ไม่" และทำตามที่พูด

1.  เตรียมตัวคุณเองให้พร้อมรับสถานการณ์ ตัดสินใจว่าตัวเองต้องการอะไร และจะออกคำสั่งอย่างไร เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ ยกตัวอย่างเช่น การพาลูกออกจากบ้านเพื่อน คุณควรบอกลูกว่า "อีก 5 นาที เราจะกลับแล้วนะลูก" 5 นาทีผ่านไปคุณก็บอกลูกอีกว่า "เราจะกลับแล้วจ๊ะ" แน่นอนที่สุด คุณต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่จะกลับ รวมทั้งพูดล่ำลาให้เรียบร้อย จากนั้นเดินตรงไปที่ประตู การกระทำเช่นนี้จะทำให้คำสั่ง "เราจะกลับแล้วจ๊ะ" สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

2.  อย่าตามใจลูกไม่ว่าจะมาไม้ไหนก็ตาม อ้อนวอน กวน งอแง ร้องไห้ ขอร้อง ประจบ หรือทำเป็นไออย่างกะทันหัน คุณควรมุ่งมั่นกับความตั้งใจเดิม คือ กลับบ้าน เปิดประตูไว้ รอให้ลูกเดินมาหาอย่างอดทน ด้วยทีท่าแบบนี้เท่ากับเป็นการบอกลูกว่า "ไม่มีการต่อรองขออยู่ต่ออีก คุณพ่อคุณแม่จะรออยู่ที่นี่้จนกระทั่งหนูมา"

3.  ถ้าลูกคุณลงไปนอนอาละวาดบนพื้น คุณไม่ควรสนใจ หรือสบตาลูก หันหน้าหนีลูก คุณสามารถใช้วิธีนี้ได้เรื่อยๆ ตราบเท่าที่มันยังปลอดภัยและได้ผล อย่าปล่อยให้เด็กเล็กอยู่บ้านตามลำพังเพราะเขาอาจตกใจกลัวได้ ถ้ากำลังเดินเล่นอยู่ในสวน ควรเดินห่างจากลูกน้อย แต่ต้องแน่ใจว่าเขายังอยู่ในสายตาของคุณ

4.  ถ้าลูกไม่ยอมเดินตามคุณและตัวเขาเล็กพอที่จะอุ้มได้ คุณอาจต้องอุ้มเขา ควรทำด้วยความสงบ หันหน้าหนีลูก ให้คิดว่า "เราต้องอดทน เราต้องอดทน" วางเฉยกับเสียงกรี๊ดหรืออาการขัดขืน ทำเป็นไม่ได้ยินประโยคที่ว่า "หนูไม่รักคุณพ่อคุณแม่แล้ว"

5.  ถ้าลูกต่อต้านอย่างรุนแรง ควรเตือนลูกถึงผลของการทำผิด ถ้าจะให้ได้ผลต้องงดในสิ่งที่ลูกเคยได้

* มีความสำคัญกับลูก
* เป็นสิ่งที่คุณควบคุมได้
* คุณเต็มใจทำตามตลอด
* ต้องไม่รุนแรงนัก (ระยะเวลาสั้นๆ เสร็จสิ้นในทันที)

มีบทลงโทษที่หลายครอบครัวใ้่้ช้ได้ผล

* ให้เข้านอนเร็วขึ้น 15 นาที
* งดเล่นเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เช่น งดดูทีวี ฟังวิทยุ หรือเล่นวีดีโอเกม
* งดเวลพิเศษก่อนนอน หรือให้เวลาเพียงสั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นช่วงฟังนิทาน พูดคุยกัน หรือร้องเพลง

ในกรณีที่ลูกหลบไปซ่อนอยู่ในห้องอื่น คุณควรตามลูกไป สบตาลูก หรือคอยฟังเสียงลูกถ้าเขาไม่ได้อยู่ในสายตา เตือนเขาด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า "เลือกเอาว่าจะมากับคุณพ่อคุณแม่ หรือจะงดดูทีวีคืนนี้" จากนั้นก็เดินออกจากห้องทันที ลูกอาจตามมาภายใน 1 นาที ถ้าลูกไม่ยอมตามมา ควรต่อด้วยการให้ผลลัพธ์ของการทำผิด

ถ้าลูกได้รับผลของการทำผิดสักครั้ง เขาจะเริ่มเข้าใจว่า คุณจริงจังกับคำพูดที่ว่า "ได้เวลากลับแล้วจ๊ะ" 

6.  ต้องมีความสม่ำเสมอ หนักแน่น ในแต่ละครั้งที่คุณทำสำเร็จ จะยิ่งทำให้คุณมีความมั่นใจกับสิ่งที่ทำมากยิ่งขึ้น


ข้อมูลอ้างอิง

ผู้แต่ง                    :  วิตแฮม ซินเทีย
ผู้แปลและเรียบเรียง  :   คุณเมทินี เชาวกิจเจริญ
จากหนังสือ            :   "ห้ามอย่างไรให้ลูกเชื่อ" 2548, 256 หน้า

No comments:

Post a Comment