Saturday, June 19, 2010

สมาธิสั้น กับ เทคนิคการปรับพฤติกรรม

โรคสมาธิสั้น คือ อะไร

โรคสมาธิสั้น เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติในการทำงาของสมอง แสดงออกด้วยอาการ 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1.  ไม่มีสมาธิ หมายถึง มีความสามารถในการจดจ่อกับกิจกรรมที่ทำน้อยกว่าเด็กทั่วไปในภาพรวมๆ

2.  หุนหันพลันแล่น หมายถึง เด็กที่มีลักษณะคอยอะไรไม่ค่อยได้ หุนหัน อารมณ์รุนแรง เมื่อมีอารมณ์ต้องแสดงออกทันที

3.  ซนอยู่ไม่นิ่ง หมายถึง อยู่กับที่นานๆ ไม่ได้ ชอบวิ่งไปวิ่งมา

พบในเด็กประมาณเท่าไร

ในเด็กวัยเรียนจะพบประมาณ 5 - 10 เปอร์เซ็นต์ พบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง ประมาณ 3 - 4 เท่า

โรคนี้เกิดจากอะไร

โรคนี้เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของสมอง โดยพบว่า มีสารสื่อประสาทอยู่ในระดับต่ำ ทำให้การควบคุม อารมณ์ สมาธิ เสียไป

โรคนี้วินิจฉัยอย่างไร

วินิจฉัยได้จากการสังเกตอาการ และข้อมูลจากทางบ้านและโรงเรียน โดยใช้เกณฑ์การวินิจฉัยโรคทางจิตเวช ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน หรือองค์การอนามัยโลก

รักษาไ้ด้อย่างไร

การรักษามีสองแบบ คือ รักษาโดยการให้ยา เพื่อเพิ่มสมาธิ และการปรับปรุงพฤติกรรม

หากไม่รักษาจะเกิดอะไรขึ้น

หากไม่รักษา จะเกิดปัญหาแทรกซ้อนทางจิตใจ เพราะเด็กจะถูกตำหนิ จากครู มีปัญหากับเพื่อนในชั้นเรียน หรือถูกทำโทษจากผู้ปกครอง ทำให้มีสุขภาพจิตไม่ดี และนำไปสู่ปัญหาพฤติกรรมอื่น

เทคนิคการปรับปรุงพฤติกรรม

การปรับพฤติกรรม ต้องทำทั้งที่บ้าน และที่โรงเรียน โดยต้องทำต่อเนื่องสม่ำเสมอ พร้อมกับการรับประทานยา ตามแพทย์สั่ง การปรับพฤติกรรมสามารถใช้มาตรการได้หลายอย่าง

มาตรการที่หนึ่ง  ลดการรบกวนจากสิ่งเร้ารอบตัว เช่น ไม่นั่งใกล้หน้าต่าง นั่งหน้าห้อง ติดคุณครู ไม่นั่งใกล้กับเพื่อนๆ ที่ค่อนข้างซน ฯลฯ

มาตรการที่สอง  เปลี่ยนอิริยาบถ ใช้เมื่อเด็กหมดสมาธิ และเริ่มอยู่ไม่นิ่ง การให้เด็กได้เดินช่วยงานบางอย่างในการสอน เช่น แจกสมุดหนังสือ ลบกระดาน ช่วยครูหยิบของเล็กๆ น้อยๆ

มาตรการที่สาม  ให้แรงเสริมในพฤติกรรมบวก งดเว้นการทำให้เด็กเสียความรู้สึก เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ดี แม้แต่เล็กน้อย รีบให้แรงเสริม เช่น คำชม หรือรางวัลเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้เด็กรู้สึกดีกับตัวเอง

มาตรการที่สี่  สั่งหรือสอนเด็กให้สอดคล้องกับระยะการมีสมาธิของเด็ก เช่น ไม่สั่งอะไรล่วงหน้าไว้นานๆ หรือหลายๆ เรื่องในเวลาเดียวกัน เวลาสั่ง สอน หรือสื่อสาร ต้องแน่ใจว่าเด็กกำลังมีสมาธิฟังอยู่

มาตรการที่ห้า  การหากลวิธีช่วยให้เด็กไม่เกิดปัญหาจากการไม่มีสมาธิ เช่น การตรวจสมุดงานเด็กอย่างสม่ำเสมอ การช่วยเด็กจัดกระเป๋า และตรวจข้าวของในกระเป๋า

การช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้น จะช่วยให้เด็ก มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความภูมิใจในตัวเอง และมีความสุข

No comments:

Post a Comment