Sunday, August 29, 2010

ทำอย่างไร...ให้ลูกรักคณิตศาสตร์

คุณครูสอนคณิตศาสตร์จะคุ้นเคยกับคำถามนี้ และเห็นเป็นเรื่องปกติเพราะผู้ปกครองมักจะถามคำถามนี้กับคุณครูเสมอ เกี่ยวกับลูกเรียนคณิตศาสตร์ไม่ดีบ้าง ไม่ชอบเรียนบ้าง เมื่อทราบผลการเรียนคณิตศาสตร์ของลูกไม่สู้ดีนัก ผู้ปกครองที่มีลูกวัยเรียนและประสบปัญหานี้คงมีความวิตกกังวลมาก ทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์เป็นพื้นฐานสำคัญทางวิชาคณิตศาสตร์ เราไม่สามารถจะเรียนคณิตศาสตร์ได้ดีเพียงจำเนื้อหา สาระ และทำความเข้าใจกับปัญหานั้น ผู้เรียนจะต้องหมั่นฝึกฝนตนเอง ให้มีการพัฒนาทักษะกระบวนการหลัก 5 ทักษะดังนี้

1.  ทักษะการคิดคำนวณ และการแก้ปัญหา
2.  ทักษะการให้เหตุผล
3.  ทักษะการเชื่อมโยงความรู้คณิตศาสตร์
4.  ทักษะการสื่อสาร สื่อความหมาย และการนำเสนอ
5.  ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

ผู้ปกครองสามารถสร้างเจตคติที่ดีต่อคณิตศาสตร์ และพัฒนาทักษะกระบวนการดังกล่าวนี้ให้กับลูกรักของตนเอง ขอเพียงให้ผู้ปกครองมีเวลาอยู่ใกล้ชิดลูก หากิจกรรมง่ายๆ ทำร่วมกัน เช่น ใช้เวลาระหว่างการเดินทางไปส่งลูกที่โรงเรียนในช่วงเช้า-เย็น มีกิจกรรมในช่วงค่ำหรือช่วงวันหยุด อาจเป็นช่วงเวลาดูโทรทัศน์ร่วมกัน ถกปัญหาที่ต้องใช้เหตุผลมาคุยกันบ้างในกิจกรรมหนึ่งๆ ลูกอาจได้พัฒนาทักษะกระบวนการไปพร้อมๆ กัน หลายทักษะ ซึ่งหมายถึงการได้พัฒนาทักษะพื้นฐานอื่นๆ อีกด้วย เช่น ทักษะการสังเกต การคาดคะเน การประมาณ ฯลฯ

ตัวอย่างกิจกรรม ถ้าผูู้ปกครองมีลูกเล็กต้องการฝึกให้ท่องสูตรคูณได้แม่นยำและไม่น่าเบื่อ อาจใช้เวลาในช่วงที่ผู้ปกครองขับรถไปรับ-ส่งที่โรงเรียน โดยผู้ปกครองชวนลูกผลัดกัน ท่องสูตรคูณแบบมีกติกา เช่น พ่อเริ่มท่องก่อนว่า 8x6 = 48 (แปดหกสี่สิบแปด) ให้ลูกท่องต่อว่า 7x8 = 56 (เจ็ดแปดห้าสิบหก) พ่อ 8x9 = 72 (แปดเก้าเจ็ดสิบสอง)

ข้อสังเกต ตัวตั้งของคนต่อไปคือตัวคูณของคนก่อน และตัวคูณของแต่ละคนมากกว่าตัวตั้งอยู่ 1 เสมอ เมื่อใครได้ตัวตั้งใหม่เป็น 9 ให้เริ่มต้นตัวคูณใหม่เป็นจำนวนใดก็ได้ เช่น พ่อเริ่มใหม่ 9x3 = 27 ลูก 3x4 = 12 .... ฯลฯ การท่องสูตรคูณตามกติกานี้ ลูกจะได้ฝึกสมาธิในการจำตัวคูณของพ่อ ได้สังเกตรูปแบบ (pattern) ของจำนวนด้วย

ถ้าลูกเรียนอยู่ระดับประถมศึกษาปีที่ 5-6 ผู้ปกครองต้องการทักษะการคำนวณเกี่ยวกับซื้อ-ขาย หรือการลดราคา อาจจะหากิจกรรมโดยใช้ใบโฆษณาสินค้า หรือพบแผงโฆษณาตามที่ต่างๆ อาจชวนลูกคุยในเชิงตั้งโจทย์ถามลูกพร้อมเสริมแนวคิดให้ลูก เช่น

แม่อาจจะคุยกับลูกว่า โทรศัพท์มือถือที่แม่ซื้อมาใช้เมื่อ 3 เดือนก่อนซื้อมา 12,000 บาท่ ถ้าแม่ซื้อเดือนนี้ แม่จะได้ส่วนลดกี่บาทนะลูก ลูกคงไม่คิดว่าแม่กำลังฝึกให้ลูกคิดเลขอยู่ แต่อาจจะคิดช่วยตอบคำถามให้แม่ ถ้าตอบได้ถูกต้องลูกก็จะมีความสุขที่ช่วยคิดให้แม่ได้ แต่ถ้าลููกคิดไม่ถููกแม่ที่มีความรู้ทางคณิตศาสตร์อยู่บ้างอาจจะช่วยแนะนำลูกให้หาคำตอบเป็นขั้นตอน โดยใช้การถาม-ตอบ ดังเช่น

แม่   :  ถ้าเขาลดให้ 10 เปอร์เซ็นต์ แม่ได้ส่วนลดกี่บาทนะลูก
ลูก   :  ก็ได้ไป 1,200 บาท (10/100 x 12000 - 1200 ถ้าลูกตอบไม่ได้แม่อาจให้ข้อสังเกตว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนใดก็ตาม จะเท่ากับจำนวนนั้นหารด้วย 10)
แม่   :  5 เปอร์เซ็นต์ เป็นครึ่งหนึ่งของ 10 เปอร์เซ็นต์ ใช่ไหมลูก
ลูก   :  ใช่ค่ะ
แม่   :  ถ้าลดเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ จะได้ส่วนลดกี่บาทนะลูก
ลูก   :  ก็ 600 บาทค่ะ
แม่   :  ถ้าลด 15 เปอร์เซ็นต์ จะได้ส่วนลดกี่บาทนะลูก
ลูก   :  1,800 บาท ซิคะ
แม่   :  ลูกคิดมาได้อย่างไร (คำถามนี้เป็นคำถามที่แม่จะตรวจสอบแนวคิดของลูกว่าคิดถูกต้องหรือไม่)
ลูก   :  ก็ 1,200 + 600 = 1,800 ค่ะ
แม่   :  ลูกแม่เก่งจัง


ตัวอย่างเช่นนี้ เป็นลักษณะของปัญหาที่อยู่รอบๆ ตัว ผู้ปกครองสามารถนำมาผูกโยงเป็นปัญหาที่เหมาะสมกับลูกได้ การได้ทักษะกระบวนการคิดและการแก้ปัญหาไปโดยไม่รู้ตัว


แหล่งข้อมูลอ้างอิง     :   หนังสือ "ACP สัมพันธ์"
                                  ปีที่ 8 ฉบับที่ 29 สิงหาคม-พฤศจิกายน 2552
                                  โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม


ผู้แต่ง                      :    ม. มีศักดิ์ พิมพ์แก้ว

No comments:

Post a Comment