Tuesday, September 7, 2010

ผลร้ายของการตามใจลูก

เวลาไปเดินห้างแล้วลูกร้องอยากจะเอาของเล่น ถ้าขัดใจ ลูกก็จะกรีดร้อง จึงต้องตามใจตลอด อย่างนี้จะมีผลอะไรไหม?

พ่อแม่หลายท่านย่อมเคยผ่านประสบการณ์แบบนี้ และหลายท่านก็หาทางออกให้กับลูกในทางที่ไม่ถูกต้องนัก การเลี้ยงเด็กต้องมีตึงบ้างหย่อนบ้าง และต้องเข้าใจในธรรมชาติและพัฒนาการของเด็ก

ธรรมชาติของเด็ก

เด็กวัย 2 ขวบขึ้นไป เป็นวัยที่เริ่มพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง และมีความเป็นตัวของตัวเองค่อนข้างสูง เด็กจึงมักเรียกร้องที่จะเอาสิ่งของที่อยากได้ อยากเล่นอยากลองตามประสาเด็ก เรื่องบางอย่างจึงต้องปล่อยให้เขาได้ทำ ได้เล่น ได้คิดเอง ถ้าเรื่องไม่หนักหนา และไม่เป็นอันตรายต่อตัวเขาไม่ใช่ว่าจะห้ามปรามเขาทุกอย่าง แต่พ่อแม่ก็ต้องมีขอบเขตที่แน่นอนในการเลี้ยงดู

เลี้ยงเด็กวัยเอาแต่ใจ

เปลี่ยนทัศนคติของพ่อแม่ โดยต้องเข้าใจวัยนี้ว่าเขาเป็นวัยที่ดื้อ เอาแต่ใจ แม้จะมองว่าไม่น่ารัก ดื้อ ซน แต่ถ้าพ่อแม่เปลี่ยนทัศนคติว่า การที่เขามีพฤติกรรมแบบนั้น ถือเป็นพัฒนาการตามวัย แล้วให้ดูแลเขาอย่างเหมาะสม เมื่อผ่านพ้นช่วงเวลานั้นได้ลูกของคุณแม่ก็จะกลับมาน่ารักเช่นเดิมได้

ถ้าลูกทำผิดหรือทำในสิ่งที่ไม่ดี ถ้าสิ่งนั้นไม่หนักหนามาก หรือไม่เป็นอันตรายต่อตัวเขาก็ควรปล่อยเขาให้เล่นได้ แต่ถ้ามันเป็นสิ่งที่ไม่ดีเกรงว่าน่าจะเป็นอันตรายต่อตัวเขาให้พ่อแม่พยายามเบนความสนใจของลูกไปสู่สิ่งอื่นให้เขาเรียนรู้ที่จะควบคุมตัวเอง เรียนรู้ที่จะแสดงออกในทางที่ถูกและเหมาะสมกับวัย ตั้งกฏกติกา อะไรที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้ ถึงแม้เขาจะเป็นวัยเล็กๆ แต่เราก็ต้องมีกติกาง่ายๆ เช่น ถ้าเวลาโกรธไม่ควรทำลายขว้างปาสิ่งของ หรือทุบตีพ่อแม่ พ่อแม่ต้องห้าม บอกเขาว่าเราไม่ชอบนะ ไม่ถูกนะ เพื่อหยุดพฤติกรรมของตัวลูกเอง ให้เขาเรียนรู้ที่จะควบคุมตนเองเวลาที่เขาโกรธ หรือไม่พอใจ เพื่อฝึกการควบคุมตัวเองตั้งแต่ยังเป็นเด็ก

เวลาสอนลูก เวลาที่คุยกับลูก พ่อแม่ต้องมีท่่าทีที่เป็นมิตร ไม่ใช้แววตาท่าทางที่ดุดัน ถ้าพ่อแม่ดุ หรือมีท่าทีบังคับ เด็กจะเกิดการต่อต้าน แต่ถ้าพ่อแม่สอนในลักษณะชักชวนพูดคุยเด็กมักจะทำตามได้โดยง่าย เมื่อเขาทำได้ดี ก็ควรชมเขาว่า ลูกเก่งมาก น่ารัก แต่ถ้าเขาทำผิดหรือไม่ดี ควรบอกเขาว่าทำแบบนี้พ่อแม่ไม่ชอบนะให้เขาเรียนรู้จากการกระทำของพ่อแม่

เหตุ

ถ้าพ่อแม่ไม่มีขอบเขตในการเลี้ยงดู ไม่มีการฝึกให้เขารู้จักการรอคอย อยากได้อะไรก็ได้ ถ้าไม่ได้ก็ไปแย่งเขามา อย่างนี้ถ้าลูกต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นอาจจะเกิดปัญหาตามมาได้ เช่น เมื่อลูกไม่รู้จักการรอคอย เมื่อเข้าโรงเรียน เห็นเพื่อนมีของเล่น อยากได้บ้างก็อาจจะไปแย่งของเขามา อย่างนี้ ก็คงไม่ดีแน่ เขาจะกลายเป็นเด็กที่อยู่ร่วมกับคนอื่นได้ยาก

แล้วผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร?

ผล 

เมื่อโตขึ้นเขาอาจจะกลายเป็นเด็กที่ไม่มีความอดทน ไม่รู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเอง เพราะเขาไม่เคยเผชิญกับความยากลำบาก ถ้าพบความยากลำบากก็อาจจะหนีปัญหา ไม่สู้ปัญหาได้ กลายเป็นเด็กที่ต้องมีคนคอยตามใจ คอยเอาใจใส่ในทุกเรื่อง เมื่อโตขึ้นก็ไม่สามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ ขาดทักษะในการดำรงชีวิตในสังคม เพราะเด็กจะเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เป็นศูนย์กลางอย่างเดียว ทำให้ปรับตัวอยู่ในสังคมยาก


แหล่งข้อมูลอ้างอิง     :    ข่าวสารงานแนะแนว
                                   โรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกประถม

ผู้แต่ง                      :    แพทย์หญิงดวงรัตน์ วังเกล็ด
                                   เรื่อง "เมื่อลูกถูกตามใจ"
                                   คัดลอกมาจาก http://motherandchild.in.th/content/view/457/

No comments:

Post a Comment