Saturday, August 28, 2010

ความภูมิใจในตน

การเสริมพลังใจ

ทั้งเด็กหญิงเด็กชายอายุระหว่าง 7 - 11 ปี ต่างมีความภูมิใจในตน เด็กหญิงจะรุ้สึกว่าตัวเองเก่งเขียน เก่งอ่าน มีความเก่งภาษา ส่วนเด็กชายจะรู้สึกว่าตัวเองเก่งทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การไม่เปรียบเทียบกันของพ่อแม่ การให้อิสระกับเด็ก ให้สิทธิ จะสร้างความภูมิใจให้กับเด็กมากกว่าพ่อแม่ที่บังคับเด็ก อย่าเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น หรือพี่น้อง อย่าตำหนิลูก ยอมรับความสามารถของเด็กตามศักยภาพ เด็กที่มีความภูมิใจสูงจะมีสมรรถนะสูงในการทำงาน ซึ่งตรงข้ามกับเด็กมีที่มีความภูมิใจต่ำ

บทบาทหน้าที่ของพ่อแม่ตอนนี้จะเน้นการเป็นผู้ประเมินการแสดงออกของเด็ก เพื่อให้ความช่วยเหลือให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ และเสริมแรงให้เด็กได้พัฒนาทักษะใหม่ๆ ที่เด็กสนใจ เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรุ้ตนเองและเข้าใจตนเองอย่างมั่นใจ

ไม่สร้างปมให้เด็ก

เด็กประถมศึกษามีแนวโน้มที่จะตำหนิตัวเอง น้อยใจและฝังลึกในความรู้สึกจนถึงโต สร้างเป็นลักษณะเฉพาะตัว เด็กหญิงกลายเป็นคนยุ่งยาก มีข้อแม้ในการกระทำมากจนทำให้มีนิสัยติดมาถึงโตทำให้เป็นคน

* หลับยาก

* กินยาก

* อยู่ยาก

* เที่ยวยาก

* เรื่องมาก

* จุกจิกจู้จี้

ส่วนเด็กชายจะกลายเป็นคนก้าวร้าว มีนิสัยที่ไม่เป็นมิตรกับคนอื่น เช่น

* เอาแต่ใจตัวเอง

* ใจดำ

* ก้าวร้าวทางวาจา บางคนอาจก้าวร้าวทางการกระทำ

* ชอบเอาเปรียบ

การเกิดพฤติกรรมปัญหาตัวอย่างดังกล่าว เกิดจากความรู้สึกของเด็กที่ต้องการค้นหาคุณค่าของตน

การสร้างความเป็นตัวเองของเด็กประถมศึกษามีความหมายถึงการพัฒนาบุคลิกภาพ สิ่งที่เด็กได้รับประสบการณ์ที่เด็กได้สัมผัสจะสร้างสานเป็นข้อมูลแล้วบันทึกในสมองให้เด็กคิดถึงตนเอง ทั้งในทางบวกและทางลบ ปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน นำไปสู่การสร้างความรู้ความเข้าใจตนเองและสังคมอย่างมีเหตุผลจากครอบครัว สร้างให้เด็กเรียนรู้ความเป็นตัวเอง การผูกพันกับบุคคลอื่นโดยเฉพาะเพื่อน กล้ารับ กล้าปฏิเสธ และกล้าเดินด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นการพัฒนาการเป็นผู้ใหญ่อย่างมีคุณภาพ รูปแบบการเลี้ยงของพ่อแม่ ส่งผลโดยตรงต่อความเป็นตัวเองของเด็ก ว่าจะเป็นเด็กร่าเริง เด็กมีเหตุผล หรือเด็กกังวล

เลี้ยงลูกแบบพี่เลี้ยงน้อง
การเลี้ยงแบบนี้เป็นการเลี้ยงที่พ่อแม่เป็นผู้กระตุ้นให้เด็กรู้จักการวางกฎเกณฑ์ของตัวเอง กำหนดเป้าหมายและลำดับงานของตน โดยให้โอกาสเต็มที่ ส่วนพ่อแม่ทำหน้าที่เป็นแหล่งความรู้และเพื่อนที่ดีของเด็ก

ผลการเลี้ยงแบบนี้ ทำให้เด็กมีความมั่นใจในตนเอง ผ่อนคลาย มีความเป็นตัวของตัวเอง รุ้ขอบเขตและมารยาทที่พึงปฏิบัติ

เลี้ยงลูกแบบครู
พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบนี้จะเป็นผูู้ดูแลให้คำแนะนำเด็กโดยมุ่งให้เด็กพัฒนาเต็มศักยภาพ พ่อแม่สามารถสังเกตเด็กและปรับคำแนะนำให้สอดคล้องกับเด็ก และจะพร่ำสอนให้เด็กทำตามอย่างที่พ่อแม่คิด

ผลการเลี้ยงแบบนี้ จะทำให้เด็กอยู่ในระเบียบ เชื่อฟัง ไม่ออกนอกกรอบ ไม่กล้าแสดงออกอย่างเต็มที่ มีลักษณะกึ่งพึ่งพาผู้อื่น

เลี้ยงลูกแบบครูฝึก
พ่อแม่จะกระตุ้นและจูงใจให้ลูกปฏิบัติหรือทำตามแนวคิดของครอบครัว เด็กจะได้ทำตามที่พ่อแม่ต้องการ อาจมีความเข้มงวด และมีการกำหนดทิศทางชัดเจน จุดประสงค์อยู่ที่การพัฒนาเด็กให้เต็มศักยภาพตามเป้าหมายที่พ่อแม่กำหนด

ผลการเลี้ยงแบบนี้ เด็กสามารถพัฒนาความสามารถได้เต็มตามศักยภาพ แต่เด็กจะไม่ชอบกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดและการมีตารางกำกับเวลา เด็กจะดีตอนต้นมือแต่จะแผ่วปลายเมื่อได้อิสระ

เลี้ยงลูกแบบวางอำนาจ
เป็นการเลี้ยงที่มุ่งให้เด็กเป็นอย่างที่พ่อแม่ต้องการ พ่อแม่คิดถูกต้องเสมอ เด็กต้องทำตามอย่างที่พ่อแม่คิด และบังคับให้เด็กทำตามอย่างที่คิดและต้องทำ

ผลของการเลี้ยง เด็กจะเครียดมาก ปัญญาไม่พัฒนา เด็กอาจก้าวร้าวเป็นการหาทางออก หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย มีปมด้อยในตนเอง

เลี้ยงลูกแบบจี้ปมด้อย
พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบนี้ชอบบอกข้อเสียของเด็ก พูดให้เกิดเจ็บใจ เสียใจ และรู้สึกผิด จู้จี้ ดุด่า และถากถางเด็ก เมื่อเด็กทำอะไรทั้งที่พลาดและไม่พลาด เช่น เด็กผิวดำใส่เสื้อแดง ก็เรียกว่า "อีกาคาบพริก" การที่พ่อแม่กระทำดังกล่าว มีความเชื่อว่าการจี้ปมด้อยจะช่วยให้เด็กดีขึ้น

ผลที่เกิดขึ้นกับเด็ก เด็กจะมีความรู้สึกว่าไม่มั่นใจ และไม่กล้าแสดงออก เป็นคนเก็บตัว และรู้สึกผิดตลอดเวลา

เลี้ยงลูกแบบทอดทิ้ง
พบได้มากในครอบครัวที่มีพ่อคนเดียวหรือแม่คนเดียว ครอบครัวที่แม่เป็นหญิงทำงานพวกนี้จะทิ้งลูกให้อยู่บ้านคนเดียว เมื่อเด็กกลับบ้านก็อยู่บ้านคนเดียว และคอยพ่อหรือแม่กลับมาตอนเย็น บางทีพ่อแม่ก็ขังเด็กในห้องใส่กุญแจไว้

ผลที่เกิดกับเด็ก คือ จะเป็นเด็กเครียดง่าย กังวล ชอบแอบซ่อน หนีไม่พูดกับใคร เวลาอยู่คนเดียวจะเปิดโทรทัศน์เสียงดัง เอาเีสียงเป็นเพื่อน

เลี้ยงลูกแบบไม่ให้ลูกช่วยตัวเอง
พ่อแม่แบบนี้จะช่วยเหลือลูกทุกอย่าง เด็กไม่ต้องคิด แต่งตัวให้ จัดอาหารให้ หิ้วกระเป๋านักเรียนให้ ลูกเอาแต่ตัวเดินไปโรงเรียนให้ได้เป็นพอ

ผลของการเลี้ยงแบบนี้ ลูกสบายใจแต่เด็กช่วยเหลือตัวเองไม่เป็น แก้ปัญหาไม่ได้ คิดไม่เป็น เมื่อโตขึ้นก็จะรับผิดชอบงานไม่ได้ ดูแลตัวเองไม่เป็น ไม่มีวุฒิภาวะตามพัฒนาการ

เลี้ยงลูกไม่สอน
การเลี้ยงลูกแบบนี้ พ่อแม่มีลักษณะเกรงใจลูก และมองเห็นลูกเป็นความน่ารัก ลูกงอแง ตีหน้า ชกหัวตัวเองก็ไม่ว่า บางครั้งยังปล่อยให้ลูกว่า ตัวอย่างโฆษณะ ทางไปสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นเด็กชายพูดว่า "แม่ผมไปห้างก็หลง ไปโรงเรียนก็หลง ไปไหนก็หลง แต่ไปสนามบินไม่หลง" การที่เด็กพูดเช่นนี้เป็นเพราะพ่อแม่ไม่สั่งสอน แล้วกลับมองว่าดี เก่ง

ผลที่ตามมา เด็กจะขาดสัมมาคารวะ ไม่ศรัทธาพ่อ แม่ ดื้อและอาจทำผิดโดยไม่ตั้งใจได้ด้วย

เลี้ยงลูกประชดชีวิต
พ่อแม่บางคนเคยได้รับการเลี้ยงดูแบบบีบคั้น เข้มงวดมาก่อน หรือเจ้าระเบียบ เมื่อโตขึ้นมาเป็นพ่อแม่จะถ่ายทอดความรู้สึกเครียดที่เคยได้รับตอนเด็กไปที่ลูก เช่น บอกลูกให้ล้างจาน ลูกก็อิดเอื้อนชักช้า แม่ก็ไปทำเสียเอง การทำเช่นนี้ ทำให้ลูกหรือเด็กเกิดความงงตัวเองว่าดีหรือไม่ดี ถูกหรือไม่ถูก ใช่หรือไม่ใช่ เด็กจะพัฒนาบุคลิกภาพความไม่มั่นใจให้เกิดขึ้น กล้าๆ กลัวๆ ในที่สุดจะพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่แน่ใจตนเอง ไม่ภูมิใจในตนเอง ไม่มีวินัยในตน ซึ่งเป็นปมที่แก้ยาก

การเลี้ยงลูกให้เกิดภูมิใจในตนเอง เห็นคุณค่าตนเอง ไม่มีปมด้อย มีหลักการเลี้ยงง่ายๆ ดังนี้

* มอบหมายงานบ้านให้เด็กรับผิดชอบ

* ให้พลังใจเด็กเมื่อทำงานไม่สำเร็จ

* ให้กำลังใจเมื่อเด็กประสบความสำเร็จ

* ไม่สร้างความกังวลให้กับเด็กในขณะที่เด็กทำงานที่ตนได้รับมอบหมาย

* อย่าขู่ให้เด็กกลัว

* ไม่สร้างปมด้อยให้กับเด็ก ด้วยคำพูดหรือท่าทางที่ทำ้ร้ายใจเด็ก

* ให้เด็กทำสิ่งที่อยากทำถ้าถูกต้อง เช่น ไปวาดรูปแข่งขัน ไปเล่นเกมโชว์ ไปเล่นฟุตบอล

* ส่งเสริมให้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ เด็กวัยนี้บางทีต้องการทำสิ่งที่มีความเป็นตัวเอง เช่น สะสมแมลง สร้างกระท่อมเล่น เล่นละคร

* ส่งเสริมการพัฒนาทักษะการรวบรวมข้อมลูสารสนเทศ เช่น ให้เขียนบันทึกอนุทิน

* ให้อิสระแก่เด็กในการแสดงความเป็นตัวเอง

* สนับสนุนเด็กให้บอกความต้องการของตนเอง

* ให้เด็กเป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมที่ตนเองคิด

* ให้ช่วยเหลือเด็กเมื่อจำเป็น

* ให้โอกาสเด็กทำในสิ่งที่ตนสนใจ

สิ่งต้องห้ามที่พ่อแม่ไม่ควรปฏิบัติ

1.  เร่งเร้าให้เด็กทำตามที่พ่อแม่คิด

2.  จี้ปมด้อยของเด็ก

3.  ไม่รับฟังความคิดเห็นเด็ก

4.  ไม่เปิดโอกาสให้เด็กทำงานใดๆ ที่ควรฝึกควรทำ

5.  ให้ความสะดวกจนเด็กไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำ และคุ้นชินกับการมีคนนำ คนกำกับ คนจัดหาให้

พ่อแม่หลายคนที่เลี้ยงลูกแบบตามใจและคิดให้ลูกตลอดเวลา ผลที่ตามมาที่สำคัญ คือ เมื่ีอเด็กโตขึ้นจะเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดความมั่นใจในตน ขี้กังวล วิตกง่าย และทำอะำไรเองไม่สำเร็จ กลายเป็นผู้ใหญ่ปัญญาอ่อนโดยบังเอิญเพราะขาดวุฒิภาวะตามวัยที่ควรจะเป็น พ่อแม่ทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนเด็กให้พัฒนาได้เต็มศักยภาพ อย่าทำให้เด็กหมดทุกอย่าง เด็กจะคิดไม่เป็น เซลล์สมองไม่งอกงาม แล้วยังไม่เห็นคุณค่าที่น่าภูมิใจเลย


แหล่งข้อมูลอ้างอิง          :    "เลี้ยงลูกรักวัยประถมศึกษา", หน้า 81 - 87

ผู้แต่ง                           :     รศ.ดร.กุลยา ตันติผลาชีวะ

No comments:

Post a Comment