Thursday, December 9, 2010

ความเชื่อที่ผิดกับความจริงที่ถูกในการเลี้ยงดูลูก

ความเชื่อที่ผิด:
1.  การรักลูก คือ การเลี้ยงดูให้ลูกสุขสบาย
พ่อแม่ทำทุกอย่างแทนลูก คอยตามเก็บสิ่งของที่ลูกทิ้งไว้ไม่เป็นที่เป็นทาง

ความจริงที่ถูก:
1.  ความรักที่ถูกต้อง คือ การเลี้ยงดูให้ถูก ช่วยเหลือตนเอง และพึ่งพิงตัวเองได้ ซึ่งจะทำให้เด็กเป็นอิสระ มีความภาคภูมิใจในตนเอง ส่วนเด็กที่ถูกเลี้ยงดูอย่างสุขสบายจะไม่เรียนรุ้ที่จะช่วยตนเองและรับผิดชอบตัวเอง จึงขาดความอดทน แก้ปัญหาและเผชิญปัญหาไม่ได้

ความเชื่อที่ผิด:
2.  การให้สิ่งของทุกอย่างที่ลูกต้องการ คือ การแสดงออกว่าพ่อแม่รักลูก ด้วยการที่ลูกอยากได้อะไรก็ให้ทุกอย่างหรือการให้อะไรลูกเกินความจำเป็นหรือการให้ลูกจับจ่ายใช้สอยมากเท่าที่ต้องการ

ความจริงที่ถูก:
2.  การให้ความรักทางจิตใจ เช่น การโอบกอด คำพูดที่ชื่นชม ให้กำลังใจ จะเป็นสิ่งที่มีคุณค่า และเด็กจะรับรู้ถึงความรักของพ่อแม่มากกว่าการได้รับสิ่งของ เด็กที่พ่อแม่ให้แต่ข้าวของเงินทองจะเป็นเด็กเอาแต่ใจตัวเอง รู้จักแต่จะเอาจากผู้อื่น ไม่รู้จักการมีน้ำใจ และเด็กยังควบคุมความอยากไม่ได้ สร้างค่านิยมการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

ความเชื่อที่ผิด:
3.  คนที่เก่งและประสบความสำเร็จในชีวิต คือ คนที่เรียนดี พ่อแม่จึงให้ความสำคัญและคาดหวังลูกเรื่องการเรียนมาก ให้ลูกเอาแต่เรียนอย่างเดียว โดยไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นงานบ้านหรือกิจกรรมผ่อนคลายอื่นๆ

ความจริงที่ถูก:
3.  คนที่เก่งและประสบความสำเร็จในชีวิตจะต้องมีความสามารถที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการคิด การวางแผน การแก้ไขปัญหา ทั้งยังต้องมีทักษะพื้นฐาน เช่น การช่วยเหลือตนเองและการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วย เด็กมุ่งการเรียนอย่างเดียวจึงสูญเสียโอกาสที่จะพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคมอื่นๆ ดังกล่าว และยังทำให้เป็นเด็กเคร่งเครียด ไม่สามารถปรับตัวได้เมื่อพบความผิดหวังในการเรียนและการงาน

ความเชื่อที่ผิด:
4.  การให้ลูกเรียนรู้จากสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทีวี อินเตอร์เน็ต การเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ต่างๆ จะทำให้เด็กใช้เวลาว่างได้ดี มีความเพลิดเพลิน ไม่รบกวนพ่อแม่ และทำให้เด็กฉลาดรู้เท่าทันโลก

ความจริงที่ถูก:
4.  สื่อต่างๆ มีทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี แต่เด็กไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรดีและไม่ดี และเด็กยังไม่สามารถควบคุมตนเองได้ เด็กจึงมักเลือกรับแต่สื่อที่ไม่เป็นประโยชน์ ผลคือทำให้เป็นเด็กเจ้าสำราญ คิดแต่เรื่องไร้สาระและยังขาดโอกาสที่จะทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่พ่อแม่จะต้องเลือกสื่อที่เหมาะสมให้ลูก แนะนำอะไรดี อะไรไม่ดี กำหนดเวลาที่เหมาะสม และให้อยู่ในสายตาพ่อแม่ที่จะชี้แนะสิ่งที่เหมาะสมกับลูก

ความเชื่อที่ผิด:
5.  เด็กที่ยังเล็ก ไม่จำเป็นต้องสอนอะไรมาก เพราะโตขึ้นเด็กจะเรียนรู้และคิดอะไรได้ด้วยตนเองว่าอะไรควรไม่ควร พ่อแม่จึงมักปล่อยปละละเลย ไม่ว่ากล่าวตักเตือน หรือจัดการอะไรเมื่อลูกเล็กทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เช่น เมื่อลูกเล็กใช้คำพูดหยาบคายกับผู้อื่น พ่อแม่ก็หัวเราะขบขัน คิดว่าเป็นเรื่องน่ารักน่าเอ็นดู และยินยอมให้เด็กทำเช่นนั้นต่อไป

ความจริงที่ถูก:
5.  ช่วงวัยเด็กเล็กเป็นเวลาที่สมองมีการเติบโตมากที่สุด เด็กจะเรียนรู้ทุกสิ่งที่อยู่รอบตัว และการเรียนรู้เหล่านี้จะเป็นรากฐานการเรียนรู้ในวัยต่อมา การเรียนรู้ทักษะทางอารมณ์และสังคมที่สำคัญ อาทิเช่น การควบคุมอารมณ์ การรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก การมีระเบียบวินัย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้หากไม่ได้รับการปลูกฝัง จะทำให้เด็กมีนิสัยเสียและยากที่จะแก้ไขในตอนโต


แหล่งข้อมูลที่มา   :   เอกสารข่าวสารงานแนะแนว โรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกประถม
                                 หนังสือ คู่มือฝึกอบรมสำหรับพ่อแม่ / ผู้ปกครอง
                                 เพื่อพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ในเด็กอายุ 3 - 11 ปี
                                 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข


No comments:

Post a Comment