Monday, May 14, 2012

6 ปัญหาเรื่องนอนของลูกเบบี๋



รู้หรือไม่ว่า? ขณะที่ลูกหลับ ร่างกายได้พักผ่อน สมองมีการซ่อมแซม เพื่อสร้างเครือข่ายเส้นใยประสาท ฮอร์โมนการเจริญเติบโต (GROWTH HORMONE) ก็หลั่งออกมาได้ดี เมื่อตื่นขึ้นมาสมองของลูกจึงพร้อมเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่  ฉะนั้นการให้ลูกน้อยได้นอนหลับอย่างเต็มที่จึงมีความสําคัญมาก แต่เด็กแต่ละคนมีนิสัยการนอนที่แตกต่างกัน ไม่ว่านอนมาก นอนน้อย นอนง่าย นอนยาก หรือไม่ยอมนอน ฉบับนี้เราจึงค้นหาคําตอบ สารพันปัญหาการนอนของลูก ที่พ่อแม่หลายๆ ท่านอาจจะกําลังปวดหัวกันอยู่

1. นอนกรน
          ขณะที่ลูกนอนหลับ คุณอาจพบว่า เสียงหายใจของลูกดัง (ฟี่ๆ) เหมือนเสียงกรนของผู้ใหญ่ อันที่จริงแล้ว การนอนกรนไม่ใช่ปัญหาการนอนโดยตรงของเด็ก เพียงแต่ว่าเด็กเล็กๆ เวลานอนหงาย มักมีเสียงหายใจดัง ฟี่ๆ ซึ่งมีสาเหตุมาจาก

•  ช่วงแรกเกิด หลอดลมที่อยู่ด้านหน้ากระดูกอ่อนที่เป็นโครงสร้างของหลอดลมยังเจริญไม่เต็ม ที่ในเด็กบางคน ทําให้หลอดลมหล่นลงมาขัดขวางอากาศที่ถูกหายใจเข้าสู่ทางเดินหายใจ เมื่อลูกหายใจเข้า-ออก จึงเกิดเสียงดัง

•  เด็กที่มีน้ำหนักตัวมาก อาจจะมีต่อมอะดีนอยด์ ซึ่งเป็นต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่งอยู่ในผนังทางเดินหายใจด้านหลังจมูก มีขนาดโตกว่าปกติ นอกจากนี้ในเด็กที่มีน้ำหนักตัวมาก อาจมีไขมันอยู่ในทางเดินหายใจด้านหลังจมูกมากกว่าเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อย กว่า เมื่อลูกนอนหงาย ต่อม
อะดีนอยด์และไขมันอาจจะตกลงมากีดขวางทางเดินหายใจ
 
สังเกตง่ายๆ ในเด็กกลุ่มนี้ หากนอนหงายเสียงกรนจะดังมากขึ้น มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่พบว่าเด็กนอนกรนจนตัวเขียว เพราะขาดออกซิเจน เนื่องจากกระดูกบริเวณหลอดลมไม่แข็งแรง

         ดังนั้น ตราบใดที่พัฒนาการทั่วไปเป็นปกติ ลูกไม่งอแงหรือเศร้าซึม ไม่มีอาการขาดออกซิเจน การนอนกรนถือว่าเป็นเรื่องปกติที่พบได้ เพราะหลังจาก 4-5 เดือนไปแล้ว กระดูกอ่อนบริเวณหลอดลมจะแข็งแรงขึ้น เสียงกรนก็จะหายไป ลูกน้อยจึงสามารถนอนได้ตามปกติ

2. นอนสะดุ้ง
          เป็นปฏิกิริยาสะท้อนกลับโดยอัตโนมัติ (Reflex) ของเด็กทารกทุกคน แค่คุณแม่ ทําให้เกิดเสียงดัง หรือทําให้เกิดการสั่นสะเทือน กับบริเวณที่ลูกนอนอยู่เบาๆ ลูกน้อยจะมีปฏิกิริยาตอบกลับด้วยการขยับแขนขาในทันที  ดังนั้น เมื่อมีสิ่งมากระตุ้น เช่น เสียงพูดคุย หรือเปิดประตู ก็อาจทําให้ลูกสะดุ้งตกใจได้ เมื่อลูกโตขึ้นปฏิกิริยาเหล่านี้ก็จะค่อยๆ หายไป ไม่แนะนําให้ใช้ผ้าห่มปิดทับหน้าอก เพื่อกันการสะดุ้งหรือผวาให้ลูกน้อย เพราะบ้านเราเป็นเมืองร้อน อาจทําให้เหงื่อออก เกิดการอับชื้น เป็นผดผื่นที่ผิวหนังตามมาได้

3. นอนน้อย ตื่นบ่อย
          ช่วงแรกเกิด วงจรการนอนของเด็กจะสั้นกว่าผู้ใหญ่ ทําให้เด็กเล็กๆ ตื่นบ่อย แต่เมื่อลูกโตขึ้น วงจรการนอนยาวขึ้น ทําให้ลูกหลับได้นาน รวมทั้งกระเพาะของลูกก็ยังเล็ก ทําให้ย่อยเร็ว ตื่นมากินนมทุก 2-3 ชั่วโมงในช่วง 3 เดือนแรก อีกทั้งเด็กแต่ละคน ก็มีรูปแบบการนอนที่แตกต่างกัน บางคนนอน
ทั้งวันไม่ตื่น หรือหลับๆ ตื่นๆ ทั้งวันทั้งคืนก็เป็นไปได้ แต่เมื่อลูกโตขึ้นวงจรการนอนจะนานขึ้น ทําให้เห็นได้ว่าลูกหลับลึกโดยไม่แสดงท่าทีว่ารู้สึกตัวตื่นด้วยการขยับหรือ บิดตัวได้นานมากขึ้น

          สิ่งที่คุณแม่ควรทําคือ ให้ลูกเรียนรู้ ปรับตัว และแยกแยะเรื่องเวลาอย่างชัดเจนตั้งแต่หลังคลอด ด้วยการสร้างบรรยากาศการนอน เช่น เวลากลางวัน ควรให้ห้องนอนหรือห้องที่ลูกอยู่มีแสงสว่างเพียงพอ ไม่ปิดทึบ หรือมืด ส่วนกลางคืน แสงไฟในห้องไม่ควรสว่างจ้า จนไปรบกวนการนอนของเด็ก

4. นอนนานไม่ยอมตื่น
          หากสาเหตุที่คุณแม่กังวล เป็นเพราะลูกนอนนาน ไม่ตื่นขึ้นมากินนม แบบนี้ต้องสังเกตพฤติกรรมการนอนของลูกว่า ลูกนอนสบาย เป็นปกติดี ไม่มีปัญหา ก็ไม่ต้องกังวลหรือปลุกให้ลุกขึ้นมากินนมทุกๆ 3-4 ชั่วโมง  อาจยืดหยุ่นช่วงเวลาการกินกันได้ ตามความเหมาะสม

          การที่ลูกนอนนาน ไม่ใช่ประเด็นสําคัญให้ต้องกังวล แต่ให้สังเกตการเจริญเติบโต เรื่องน้ำหนักตัวกับปริมาณการกินของลูก ว่าเป็นไปตามเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่ เพื่อจะได้ ดูแลแก้ไขทัน

5. ไม่ยอมนอน
          ปัญหาการไม่ยอมนอน เรื่องใหญ่ที่พ่อแม่เผชิญนั้น ต้องย้อนมาดูว่า ลูกไม่ยอมนอนเพราะอะไร ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม

          คุณแม่ควรให้ลูกนอนกลางวันเท่าที่จําเป็น โดยเฉพาะช่วงแรกเกิด หากลูกนอนเกิน 3 ชั่วโมงควรปลุกให้ตื่น ถ้าลูกไม่หิวไม่เป็นไร อาจหากิจกรรมเรื่องเล่นให้ลูก เพื่อให้ลูกนอนกลางวันน้อยลง สามารถหลับในตอนกลางคืนได้มากขึ้น ส่วนเวลากลางคืนควรสร้างบรรยากาศก่อนนอน เช่น อาบน้ำ ทําให้ห้องนอนสงบ เปิดเพลงเบาๆ และลดกิจกรรมที่ตื่นเต้นก่อนนอน หรือเปิดไฟน้อยดวงเท่าที่จําเป็น หากต้องลุกขึ้นมาดูแลลูกในตอนกลางคืน

6. ร้องกวน ตอนนอน
          ควรดูแลแก้ไขตามสาเหตุนั้นๆ เช่น ลูกเจ็บป่วย ชื้นแฉะ ไม่สบายตัว ทําให้ลูกต้องงอแงร้องไห้ ตื่นขึ้น แต่หากการร้องของลูก เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ในตอนกลางคืน ก็ไม่จําเป็นต้องเข้าไปโอบอุ้ม เปิดไฟให้สว่าง หรือให้นมมื้อดึก เพราะเป็นการสร้างเงื่อนไขให้กับเด็ก (ร้องให้อุ้ม ร้องให้โอ๋ทุกครั้ง) แต่ควรให้ลูกได้หลับด้วยตัวเอง หรือปลอบโยนด้วยการแตะเบาๆ เพื่อให้ลูกรู้ว่าคุณอยู่ใกล้ๆ

ขอบคุณ : นพ. พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์  กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการเด็ก
แหล่งที่มา  :  happyBaby.in.th
 

No comments:

Post a Comment