Tuesday, May 8, 2012

"ไม่ หยุด อย่า" ปิดกั้นวัยเรียนรู้



การมีวินัยที่ดี เป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกบ้านคาดหวังให้เกิดกับลูก

แต่ การปลูกฝังวินัยส่วนใหญ่ มักใช้วิธีหยุดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ด้วยการตี หรือใช้คำว่า "ห้าม อย่า หรือหยุด" เพื่อหยุดพฤติกรรมด้านลบของลูก

วิธีเหล่านี้ เป็นการหยุดพฤติกรรมแค่ชั่วคราว และถือเป็นการปิดกั้นหรือยับยั้งนิสัยที่จะสำรวจและเรียนรู้ของเด็กไปอย่างน่าเสียดาย

เรื่อง นี้ พ.ญ.เกศินี โอวาสิทธิ์ กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก โรงพยาบาลสมิติ เวชศรีนครินทร์ กล่าวในงานสัมมนา "ไขความเข้าใจ IQ-EQ กับความสำเร็จของการสร้างวินัยเชิงบวก" เนื่องในโอกาสครบรอบ 8 ปี เบรน สคูล (Brain School) เมื่อเร็วๆ นี้ว่า เวลาลูกทำอะไรบางอย่างผิด ไม่ควรตัดสินเด็กในทันที ไม่ว่าจะด้วยการตีหรือใช้คำพูดที่รุนแรง แต่ควรรับฟังและให้โอกาสเขาได้อธิบายเพื่อให้เด็กเรียนรู้หลักของเหตุและผล มากกว่าการใช้อารมณ์

"เวลาที่เด็กถูกตัดสินว่าผิด สัก 10 ผิด เด็กก็เซ็งแล้ว ถ้าเป็นเราก็คงเซ็งเหมือนกัน อยากให้ฟังเขาหน่อยว่าที่เขาทำไปเพราะอะไร เนื่องจากเด็กมีความรู้สึก มีความชอบ มีอารมณ์

สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือสังเกตดูว่าเขามีทีท่า อย่างไร มีอารมณ์อย่างไร แล้วลองตอบสนองเขาดู แต่ถ้าเราไม่เคยฟังเด็กเลย บางครั้งเราอาจ มองข้ามศักยภาพหรือความหวังดีของเด็กๆ ไปได้" พ.ญ.เกศินีกล่าว

พ.ญ.เกศินียกตัวอย่างว่า เมื่อลูกทำจานแตก บางคนไปดุลูกก่อน ไม่เคยถามหรือฟังเขาอธิบาย บางทีเขาอาจจะช่วยเราเก็บจานแต่บังเอิญทำจานตกแตกก็เป็นได้ จะดีกว่าไหมถ้าจะแสดงความเป็นห่วงด้วยการถามว่าเจ็บไหมลูก จากนั้นรับฟังเขาหน่อยว่ามันเกิดอะไรขึ้น ซึ่งฟังอย่างเดียวไม่พอต้องใส่ใจและชื่นชมเขาด้วย การชมหรือสอนลูกนั้นต้องตามด้วยพฤติกรรมเสมอ เช่น เก่งจังเลยลูก ทำจานแตกแล้วรู้จักเก็บด้วย นอกจากนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรรู้จักขอโทษและอภัยลูกให้เป็นด้วย

"คุณ พ่อคุณแม่ต้องเข้าใจด้วยว่าการง้อของเด็กบางทีอาจไม่ได้เข้ามากล่าวคำว่าขอ โทษ แต่อาจจะเข้ามาคลอเคลีย อันนี้สนุกเนอะแม่ ขนมเค้กชิ้นนี้แม่ชอบไหม การเข้ามาง้อในลักษณะนี้แสดงว่าเด็กเริ่มรู้แล้วว่าเขาทำผิด และรอการให้อภัยจากพ่อแม่ แต่การที่พ่อแม่ไม่ให้อภัยลูก รู้หรือไม่ว่าเรากำลังทำร้ายความรู้สึกของลูกโดยไม่รู้ตัว" กุมารแพทย์กล่าว

ด้าน ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร อาจารย์ประจำสาขาพัฒนาการมนุษย์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความรู้ในเรื่องพฤติกรรมของเด็กปฐมวัยว่า สมองของคนเรามี 3 ชั้นคือ สมองในส่วนอารมณ์ สัญชาตญาณ และเหตุผล สำหรับเด็กปฐมวัย สมองในส่วนอารมณ์และสัญชาตญาณจะทำงานได้ดีกว่าสมองในส่วนของเหตุผล ไม่แปลกที่เด็กในช่วงนี้จะดื้อและกวนอารมณ์พ่อแม่อยู่บ่อยครั้ง

"การ มีเหตุผลที่ดี รู้จักไตร่ตรอง รู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควร ต้องค่อยๆ สร้างมาตั้งแต่เด็ก คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักควบคุม และแสดงพฤติกรรมออกมาให้เหมาะสม ถ้าพ่อแม่ไม่สอนโตขึ้นมาลูกทุกข์ระทมแน่นอน การสอนนั้นพ่อแม่ควรทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยหรือมีความมั่นคงทางอารมณ์และจิต ใจด้วยการสร้างวินัยเชิงบวก เช่น ไม่ควบคุมลูก ไม่สร้างความเจ็บปวดทางจิตใจให้แก่ลูก อาทิ การใช้ความรุนแรงทั้งคำพูดและการกระทำ รวมไปถึงการพูดคำว่า ไม่ หยุด อย่า เพราะเป็นการทำลายบุคลิกส่วนตัวในความอยากเรียนรู้ของเด็กไป" ดร.ปนัดดากล่าว

ดร.ปนัดดากล่าวด้วยว่า ทางที่ดีเมื่อลูกมีอารมณ์ขุ่นมัวอยู่ ไม่ควรเข้าไปสอนในทันทีทันใด เพราะสมองในส่วนอารมณ์ของเด็กทำงานอย่างรุนแรง การเข้าไปสอนจะยิ่งทำให้เด็กเกิดการต่อต้านมากขึ้น อีกอย่างถ้าลูกแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมให้เห็นควรพูดหรือบอกให้ชัดเจนแทน คำว่าไม่ หยุด อย่า เช่น เห็นลูกกำลังวิ่งเกรงว่าจะเกิดอันตราย ควรพูดกับลูกว่า "เดินช้าๆ ลูก ถ้าวิ่งอาจหกล้มได้นะจ๊ะ" หรือลูกกำลังร้องชักดิ้นชักงออยู่กับพื้น ควรเบี่ยงเบนความสนใจหรือเพิกเฉยแทนการเข้าไปตอบสนองความต้องการของเด็ก พอลูกอารมณ์ดีขึ้นจึงค่อยเข้าไปสอน

ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กปฐมวัย ให้เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวกไว้ 2 หลักการคือ หลักการทำให้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นการให้ความสนใจเชิงบวกกับเด็กๆ เวลามีพฤติกรรมที่เหมาะสมแทนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ด้วยการชมเชย ขอบคุณ กอด แต่การชมควรเจาะจงพฤติกรรมไปเลย เช่น เก่งจังเลยที่หนูรอให้คุณแม่พูดจบก่อนแล้วหนูค่อยพูด หรือ ขอบคุณลูกที่ตื่นมาไม่ร้องไห้ รู้จักหน้าที่ ช่วยแม่เก็บของ

ส่วน หลักการที่สอง คือการให้ทางเลือกเชิงบวก เป็นการเสนอทางเลือกที่ยอมรับได้ให้เด็ก 2 ทาง และให้โอกาสให้เด็กตัดสินใจเลือกว่าจะทำตามทางเลือกไหน

"การถามเด็ก ว่าทำไม ทำไมถึงตอบแบบนั้น ทำไมต้องทำแบบนี้ การตั้งคำถามในลักษณะดังกล่าวนี้อาจทำให้เด็กรู้สึกไม่มั่นใจ และกลัวที่จะตอบ รวมไปถึงการต่อว่าเด็กต่อหน้าคนอื่นเป็นสิ่งไม่ควรทำอย่างยิ่ง ทางที่ดีควรเคารพความรู้สึกของเด็กๆ ด้วยการรับฟังและพยายามสอนโดยมุ่งไปที่ทักษะเพื่อให้เด็กรู้จักควบคุมตัวเอง เช่น ถึงเวลาอาบน้ำแต่ลูกไม่ไปอาบ การให้เขาได้เลือก เช่น จะให้แม่อาบหรือพ่ออาบ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาเป็นคนเลือก ไม่ได้ถูกควบคุม ดังนั้นโอกาสที่จะมีปัญหากันระหว่างพ่อแม่ลูกย่อมเกิดขึ้นได้น้อย" ดร.ปนัดดากล่าว

ปิดท้ายด้วยเทคนิคการเลี้ยงลูก จากคุณแม่คนสวยและเก่ง หมอเอิง พ.ญ.อังศ์วรา ธีระตันติกานนท์ ซึ่งบอกว่า ตอนนี้ลูกอายุ 1 ขวบครึ่งแล้ว สิ่งสำคัญในการเลี้ยงลูกคือความรักและความใส่ใจ รวมไปถึงเรื่องของอารมณ์ที่จะพยายามเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กอารมณ์ดี ผ่านการพูดคุยกับลูกด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน หรือการอ่านนิทานให้ลูกฟัง ที่สำคัญคนเป็นพ่อแม่ต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเองด้วย ไม่ว่าจะกับลูกหรือคนรอบข้าง เพราะไม่เช่นนั้นลูกจะซึมซับอารมณ์กราดเกรี้ยวของพ่อแม่ และติดเป็นนิสัยส่วนตัวในตอนโตได้ นับเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง

แหล่งที่มา  ข่าวสด

No comments:

Post a Comment