Tuesday, June 12, 2012

ปัญหาการกินของลูกน้อย


ปัญหาการกิน ได้แก่ ปัญหาเด็กกินยาก ไม่ยอมกินข้าว เบื่ออาหาร กินช้า อมข้าว ฯลฯ  เป็นปัญหาที่พบบ่อยในสังคมไทยอันเนื่องจากความไม่เข้าใจในพัฒนาการและธรรมชาติการกินของเด็ก การแก้ปัญหาอย่างไม่ถูกวิธีกลับเป็นปัจจัยที่ทำให้ปัญหารุนแรงมากยิ่งขึ้น จนทำให้เกิดความเครียดต่อทั้งพ่อแม่และเด็ก หากไม่ได้รับการแก้ไขทันท่วงที ปัญหาจะรุนแรงยิ่งขึ้น จนเกิดปัญหาสัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่และเด็ก หรือเกิดปัญหาพฤติกรรมอารมณ์อื่นๆ ตามมาได้

ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหา

ปัจจัยทางตัวเด็ก

1.  ความต้องการอาหาร  ในแต่ละวัยจะแตกต่างกันออกไป ในวัยที่ร่างกายเจริญเติบโตเร็ว  เด็กจะต้องการอาหารมาก  เมื่ออายุ 1 ปี ร่างกายเจริญเติบโตช้าลง (ปกติอายุ 1 - 10 ปี น้ำหนักจะขึ้นเฉลี่ย 2 กิโลกรัม/ปี)  ประกอบกับเด็กจะเริ่มหัดเดินสนใจในการกินอาหารน้อยลง  ปัญหาการกินจึงมักเริ่มมากขึ้นหลังอายุ 1 ปี

2.  เด็กที่มีโครงสร้างเล็ก จะต้องการอาหารน้อยกว่่าเด็กที่ตัวใหญ่กว่า

3.  เด็กแต่ละคนมีความอยากอาหารมากน้อยแตกต่างในแต่ละมื้อ แต่ละวัน

4.  เด็กมีความชอบและไม่ชอบชนิดอาหารแตกต่างกัน

5.  ประสบการณ์ไม่ดีที่เด็กได้รับ เช่น ถูกลงโทษเกี่ยวกับการกินบ่อยๆ ทำให้เสียบรรยากาศและเกิดทัศนคติไม่ดีต่อการกิน

6.  ความเจ็บป่วย ทำให้ความอยากอาหารลดลง

7.  ความไม่สบายใจ โกรธ เหงา เศร้า กังวล เช่น รู้สึกไม่มีคนรัก ก็ทำให้เบื่ออาหาร


ปัจจัยทางพ่อแม่

1.  ความรัก  ความคา่ดหวังที่พ่อแม่มีต่อลูกมากเกินไป พ่อแม่จะรู้สึกภูมิใจถ้าลูกกินอาหารได้  อ้วนท้วน  แต่จะผิดหวังมากและรู้สึกผิดเมื่อลูกไม่ยอมกินอาหารที่พยายามเตรียมมาอย่างดี

2.  กังวลกลัวลูกได้อาหารไม่เพียงพอจนละเลยความพอใจของเด็ก  บังคับให้กินสิ่งที่ไม่ชอบและมากเกินความต้องการที่แ้ท้จริง

3.  กังวลต่อน้ำหนักของเด็กมากเกินไป นำไปเปรียบเทียบกับเด็กอื่นหรือถูกทักจากญาติผู้ใหญ่ เพื่อนฝูง ซึ่งมักมีค่านิยมตามสังคมปัจจุบันที่ชอบเด็กอ้วน (เกินไป)

4.  ขาดความเข้าใจในพัฒนาการของเด็กตามวัย


วิธีแก้ไข

1.  พบแพทย์เพื่อประเมินภาวะโภชนาการของเด็กและตรวจร่างกายว่าไม่มีโรคใดๆ แอบแฝงซึ่งส่วนใหญ่ พบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ  แม้แต่บางรายน้ำหนักน้อย แต่พัฒนาการอื่นๆ เป็นไปตามวัย

2.  พ่อแม่ควรได้เข้าใจถึงธรรมชาติของเด็กที่ต้องพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองตามวัย  และจะต่อต้านถ้าถูกบังคับ

3.  กำหนดเวลารับประทานอาหารแต่ละมื้อให้ชัดเจน

4.  จัดที่นั่งให้เหมาะสม ให้เด็กนั่งร่วมโต๊ะอาหารกับสมาชิกในครอบครัว  โดยไม่มีสิ่งอื่นมาดึงความสนใจจากอาหาร เช่น ทีวี ของเล่น และไม่ควรเดินตามป้อนต่อรองเรื่องกินกับเด็ก

5.  ให้โอกาสเด็กเรียนรู้รสอาหารอื่นนอกจากนมตั้งแต่อายุ 4 เดือนขึ้นไป และเมื่อ 6 เดือน  ฟันเริ่มขึ้น ให้อาหารประเภทกัดเคี้ยวเมื่อเด็กปฏิเสธให้หยุดชั่วคราว และกลับมาให้ใหม่

6.  เด็กควรได้ช่วยตัวเองบ้าง เช่น อายุ 5 - 6 เดือน จับขวดนมเอง  ต่อมาหยิบอาหารใส่ปาก 10 เดือนหัดจับช้อน จนสามารถป้อนข้าวเองได้เมื่ออายุ 2 ปี  โดยมีผู้ใหญ่คอยช่วยบ้าง

7.  จัดบรรยากาศขณะกินให้สนุก พูดคุยกันถึงเรื่องดีๆ สบายใจ ไม่ควรดุ เตือน หรือตั้งใจสอนเอาผิด คาดโทษหรือวิพากษ์วิจารณ์ขณะนั้น

8.  ไม่ควรแสดงความวิตกกังวล เอาอกเอาใจ อ้อนวอนหรือต่อรองเพื่อให้กินมากๆ  เพราะเด็กจะเอาเรื่องไม่กินมาต่อรองกับผุ้ใหญ่  เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ

9.  ในเด็กเล็ก  ไม่ควรเอาระเบียบมากเกินไป  ควรมุ่งให้เด็กช่วยตัวเองแล้วค่อยๆ ฝึกระเบียบทีหลังอายุ 5 ปี ขึ้นไป  มักจะมีระเบียบดีขึ้น

10. ใ้ห้เด็กมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้ใหญ่ในการจัดโต๊ะอาหารโดยเฉพาะเมื่ออายุ 4 ปี ขึ้นไป เช่น การจัดจาน ช้อนส้อม เช็ดโต๊ะ ฯลฯ

11. การช่วยจัดเตรียมอาหาร จะทำให้ครอบครัวกลมเกลียว ชีวิตชีวาสนุกสนาน  ทำให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่อการกินยิ่งขึ้น

12. ในเด็กที่กินยาก กินช้า อมข้าว  ใช้เวลานานในการกิน ให้ผู้ใหญ่กำหนดเวลา่ให้ไม่เกิน 1/2 ชั่วโมง  เด็กจะกินเท่าใดอยู่ที่ความพอใจของเขา ถึงเวลาให้เก็บอาหาร  ผู้ใหญ่ต้องอดทน ใจแข็งๆ ในช่วงนี้ และไม่ควรให้ทานอาหารอะไรระหว่างมื้อนอกจากน้ำ  และไม่มีการกินจุบจิบเป็นอันขาด

13. ในกรณีที่เด็กเลือกไม่กินอาหารบางอย่างที่พ่อแม่เห็นควรกิน เช่น ผัก ไม่ควรบังคับ นอกจากไม่มีผลแล้วยังอาจทำให้เด็กเกลียดอาหารชนิดนั้นไปเลย ควรดัดแปลงอาหารนั้นในรูปแบบต่างๆ ชักชวนให้เด็กลอง  ที่สำคัญผู้ใหญ่ต้องทำตัวเป็นแบบอย่างในการกิน ถ้าผู้ใหญ่จัดระเบียบได้แน่นอนด้วยความอดทนแล้ว ไม่เกิน 2 สัปดาห์ พฤติกรรมในการกินจะค่อยๆ ดีขึ้น

**สูตรการคำนวนน้ำหนักตามอายุ**

น้ำหนักเฉลี่ย = 8 + (2 x อายุเป็นปี) ใช้ได้ตั้งแต่อายุ 1 - 10 ปี

น้ำหนักปกติจะมากหรือน้อยกว่าน้ำหนักเฉลี่ยที่คำนวนตามสูตรประมาณ 2 กิโลกรัม

ทบทวนโดย   พญ. อัญชลี จิรสิริโรจนากร
                   กุมารแพทย์ 
                   โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์

ข้อมูลอ้างอิง  หน่วยจิตเวชเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
                   คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

No comments:

Post a Comment