Sunday, August 12, 2012

หนูน้อยปากดี เพื่อสำรวจโลก

พัฒนาการชั้นหนึ่ง เรียนรู้ได้จากปากเจ้าตัวน้อย

สำหรับ เด็กน้อยวัยทารก ปาก คือ อวัยวะสำคัญในการทำความรู้จักกับโลก ก็วัยนี้ไม่ว่าเห็นอะไรเจ้าหนูเป็นคว้าเข้าปากเอาไปอมหมับทันที เรื่องอย่างนี้ถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจและไม่ดูแลล่ะก็ แย่เลยค่ะ

ปากดี ในที่นี้หมายถึงดีจริงๆ นะคะ ไม่ใช่ปากเก่ง หรือปากจัดอะไรทำนองนั้นเลย เพราะเรากำลังจะพูดถึงพัฒนาการขั้นหนึ่งของเด็กทารกที่เกี่ยวกับการใช้ปากใน การเรียนรู้สิ่งต่างๆ เด็กจะใช้ปากในการสัมผัสสิ่งของ จนเรียกได้ว่าปากเป็นศูนย์กลางในการรับรู้ของเด็กๆ เลยทีเดียว

สังเกตได้จากเด็กทารกในวัยประมาณ 4 เดือน จะเป็นวัยที่คว้าของเข้าปากเก่งมาก เจออะไรเป็นต้องคว้าหมับไปอมๆ เคี้ยวๆ นั่นไม่ใช่เพราะลูกหิวนะคะ แต่เป็นพัฒนาการขั้นหนึ่งของเด็กที่กำลังสำรวจ และเรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านทางการเอาสิ่งของเข้าปากค่ะ 

กำปั้นแสนอร่อย

ในวัยประมาณ 2 เดือน เด็กจะเริ่มค้นพบการมีอยู่ของนิ้วมือและนิ้วเท้าของตัวเอง เริ่มเล่นมือ ชอบดูดนิ้ว และอมกำปั้นของตัวเอง และพอสัก 5 เดือนยิ่งเก่งกว่านั้นคือ สามารถทำตัวเป็นนักกายกรรมได้อย่างน่าทึ่ง สามารถยกเท้าขึ้นมาอมได้อย่างง่ายดาย

การดูดนิ้วของเด็ก ก็เป็นไปเพื่อความพอใจและเด็กมีความสุขที่จะทำเช่นนั้นค่ะ การดูดนิ้วจะช่วยให้เด็กสงบจิตใจลงได้ เพราะโลกนี้น่าตื่นตาตื่นใจเหลือเกินสำหรับเด็กน้อย การที่เด็กดูดนิ้วก็เหมือนเป็นการละความสนใจจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวมาสนใจที่ ตัวเองมากขึ้น จึงรู้สึกสงบและมีความสุขที่ได้ดูดกำปั้นตนเองและไม่มีอะไรเสียหายเลยค่ะที่ จะช่วยจับปลายนิ้วเท้าให้ลูกได้อมนิ้วเท้าตัวเองเล่น เพราะนี่เป็นวิธีช่วยลูกเรียนรู้อย่างหนึ่ง

สำรวจโลกด้วยปาก

เมื่อเด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเอง รู้ว่านิ้วมือ และนิ้วเท้าเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายของตนเอง ก็เท่ากับได้รู้ว่าตัวเองมีตัวตน เด็กในวัยประมาณ 5 เดือน เมื่อเขารู้จักตัวตนของตนเองแล้ว ก็จะเริ่มสนใจสิ่งแวดล้อม โดยปากยังคงมีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้อยู่ต่อไป สังเกตได้จากการที่เด็กชอบคว้าสิ่งของที่ขวางหน้าเข้าปาก ประกอบกับกล้ามเนื้อมัดเล็กทำงานได้ดีขึ้น เด็กสามารถใช้มือหยิบจับสิ่งของได้ดีขึ้น ซึ่งคราวนี้ล่ะที่พ่อแม่จะรู้สึกวุ่นวายพอสมควร เพราะหนูน้อยจะหยิบทุกอย่างเข้าปากไปอมอย่างเอร็ดอร่อย

รู้อย่างนี้ แล้ว พ่อแม่จะมีส่วนในการส่งเสริมพัฒนาการตรงนี้ของลูกได้อย่างไรดี เพราะการที่ลูกคว้าของทุกสิ่งเข้าปากถึงแม้จะมีประโยชน์ในการเรียนรู้ แต่ก็มีอันตรายแฝงอยู่ด้วย เช่น ของบางอย่างมีชิ้นส่วนเล็กๆ ที่อาจหัก หลุดเข้าปากไปอุดหลอดลม หรือทำให้เด็กสำลักได้

เตรียมโลกไว้ให้ลูกสำรวจ

ช่วงที่ลูกอยู่ในวัยสำรวจโลกด้วยปากนี้ พ่อแม่ควรเคลียร์บ้านให้สะอาด ทำความสะอาดของเล่นลูกอยู่เสมอ ของเล่นก็ควรจะเป็นชิ้นใหญ่หน่อย ไม่เป็นชิ้นเล็กๆ ที่สามารถหลุด หรือหักเข้าไปอุดหลอดลมลูกได้

ของเล่นที่เตรียมไว้ให้ลูกอมเล่นควรมีหลากสีสัน รูปทรง และทำจากวัสดุหลากหลายชนิด เช่น บางชิ้นทำจากยาง บางชิ้นทำจากไม้ บางชิ้นเป็นผ้า เป็นต้น ผิวสัมผัสที่แตกต่างของของเล่นจะช่วยให้ลูกได้ฝึกประสาทสัมผัสไปในตัวด้วย

ของเล่นควรเป็นสิ่งของที่ทนทาน สีไม่หลุดร่วง ไม่แตกหักง่าย ไม่มีส่วนที่แหลมคม อาจเป็นของเล่นที่เขย่าแล้วมีเสียงดังก็ได้ในบางชิ้น เพื่อให้ลูกสนใจ แปลกใจ และสนุกสนานที่ได้ทั้งอมเล่น และแถมยังมีเสียงกรุ๊งกริ๊งน่ารัก แต่ไม่จำเป็นที่ของเล่นทุกชิ้นของลูกต้องมีเสียง เพราะถ้าของเล่นทุกชิ้นมีเสียงเด็กทารกซึ่งประสาทสัมผัสยังทำงานได้ไม่สัมพันธ์กันดีอาจจะเกิดความสับสน และถูกกระตุ้นให้ตื่นตัวมากเกินไปอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่เป็นผลดีกับเด็กนัก

ดังนั้นของอมเล่นสำหรับลูกวัยนี้จึงควรมีทั้งแบบที่มีเสียงเพื่อดึงดูดความสนใจ เป็นบางครั้ง และแบบที่ไม่มีเสียงเพื่อให้ลูกรู้สึกสงบจิตใจในการอมเล่น รวมถึงมีสมาธิในการอมสำรวจสิ่งของเหล่านั้น ซึ่งการอมของเล่นนี้ช่วยให้ลูกสงบจิตใจได้เช่นเดียวกับการดูดนิ้วมือของทารก ในช่วง 2 เดือน นั่นเองค่ะ

ไม่ขัดขวางพัฒนาการของลูก

นอกจากเตรียมพื้นที่ และของเล่นไว้ให้ลูกอมเล่นแล้ว ปฏิกิริยาของพ่อแม่ก็สำคัญ พ่อแม่ควรเล่นกับลูกอย่างสนุกสนานด้วยนะคะ เช่น เมื่อลูกหยิบจับของได้แล้ว พ่อแม่อาจเล่นขอของเล่นจากมือลูก ให้ลูกส่งของเล่นให้พ่อแม่ เสร็จแล้วก็ส่งคืนให้เขารับเอาไปเล่นต่อเพื่อเป็นการฝึกกล้ามเนื้อมือของลูก หรือคุยกับลูกถึงของเล่นที่เขากำลังเล่นอยู่ อย่าคิดว่าทารกไม่รู้เรื่องนะคะ เพราะเด็กจะสนใจฟังสิ่งที่พ่อแม่พูดเสมอ การมีส่วนร่วมอย่างนี้ลูกจะสนุกกับการเล่น และการอมของเล่นมากขึ้น

ในช่วงที่ลูกน้อยกำลังอยู่ในวัยสำรวจโลกด้วยปากนี้ ลูกจะสนใจสิ่งของทุกๆ อย่างรอบตัว หากพ่อแม่เตรียมสถานที่ และของเล่นไว้ให้ลูกอย่างปลอดภัยเพียงพอ การห้ามลูกไม่ให้อมสิ่งของก็จะน้อยลง การปล่อยให้เด็กน้อยได้สำรวจของเล่น อมบ้าง แทะบ้างอย่างอิสระ และการปล่อยให้เด็กได้สำรวจสิ่งของจนพอใจจะทำให้เด็กพึงพอใจ และมีความสุข

ในขณะที่การห้ามเด็ก หรือการดึงของเล่นออกจากมือ หรือจากปากลูก เป็นการทำร้ายจิตใจลูกนะคะ ไม่ควรทำเด็ดขาด แต่หากจำเป็นอาจใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจของลูกไปสู่สิ่งอื่นก่อนแล้วจึงเอา ของที่ลูกไม่ควรอมนั้นไปเก็บไว้ให้พ้นมือลูกค่ะ

เมื่อถึงเวลาที่ ประสาทสัมผัสส่วนอื่นทำงานได้ดีขึ้น คือในช่วงอายุประมาณ 9 เดือนขึ้นไป เด็กจะสามารถเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วมากขึ้น ใช้นิ้วมือได้คล่องแคล่วขึ้น เด็กก็จะเปลี่ยนจากการอมทุกอย่างที่ขวางหน้าไปใช้มือในการสัมผัส และสำรวจสิ่งของมากขึ้นเองค่ะ

ถึงเวลานั้นพ่อแม่ก็จะเบาใจกับ พฤติกรรมการอมทุกอย่างที่ขวางหน้าของลูกลงไปได้บ้าง แต่อย่าเพิ่งชะล่าใจนะคะ เพราะหนูน้อยก็จะมีพัฒนาการอย่างอื่นเข้ามาให้พ่อแม่ได้แปลกใจอยู่อีกเสมอ ไม่เชื่อลองจับตาดูลูกต่อไปนะคะ แล้วจะรู้ว่าเรื่องของพัฒนาการเด็กนี้มีอีกหลายสิ่งให้พ่อแม่ได้เรียนรู้และ สนุกสนานไปพร้อมๆ กับพัฒนาการที่ก้าวหน้าไปของลูก

โดย: เซเฮราซาด 
แหล่งที่มา  นิตยสารลูกรัก

No comments:

Post a Comment