Thursday, October 11, 2012

12 วิธี สำหรับพ่อแม่สอนลูก“ฝึกพูด”


เน้นคุยตั้งแต่อยู่ในท้อง

            เป็นที่ทราบกันดีว่า หากพ่อแม่อยากกระตุ้นพัฒนาการลูก โดยเฉพาะเรื่องภาษานั้น ควรเริ่มต้นตั้งแต่ทราบว่า ตนตั้งครรภ์ตั้งแต่ในช่วงแรก ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์เรื่องหนึ่งเลยทีเดียว ทางยูกัฟโพลเผยว่า ช่วงวัยที่สำคัญที่สุดของเด็กทุกคนคือ 3 ปีแรก ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคทองที่มีผลที่สุดสำหรับเด็กๆ
       
       ทั้งนี้ จากผลสำรวจพบว่า อายุเฉลี่ยของเด็กที่จะพูดคำแรกถึงคำที่สิบนั้น จะอยู่ในช่วง 11 เดือนแรก ซึ่ง 1 ใน 6 ของพ่อแม่ทั้งหมดเผยว่า ลูกของเขามีปัญหาในเรื่องการพูดและ 4 % เผยว่า ลูกของพวกเขาไม่พูดเลย แม้จะอายุเลยมาถึง 3 ขวบแล้วและเมื่อผลสำรวจทราบถึงปัญหาหนึ่งที่พ่อแม่ส่วนใหญ่พบเกี่ยวกับลูกในเรื่องการพูดมากพอสมควร ทางทีมงานจึงหาวิธีแก้ปัญหา
       
       โดย แคร์ เกลดาร์ด กรรมการมูลนิธิเพื่อการสื่อสารสำหรับเด็กแนะว่า ประการแรกที่พ่อแม่ควรตระหนักคืออย่าหวาดกลัวและวิตกกังวลในสิ่งที่พยายามทำให้ลูก และอีกประการหนึ่งคือพัฒนาการของเด็กแต่ละคนนั้นต่างกันอยู่แล้ว ดังนั้นอย่าเปรียบเทียบระหว่างลูกของเรากับเด็กคนอื่น
       
       ทั้งนี้ 12 วิธีง่ายๆ ที่พ่อแม่สามารถกระตุ้นพัฒนาการการพูดของลูกมี ดังต่อไปนี้
       
       1.คุยกับลูกตั้งแต่อยู่ในท้อง
       
       นับตั้งแต่วินาทีที่คุณทราบว่า คุณกำลังจะเป็นพ่อและแม่นั้น นอกเหนือจากการดูแลเอาใจใส่ร่างกายและจิตใจของแม่แล้ว ทั้งสองคนควรจะใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุด โดยการพูดคุยกับลูก แม้เขาจะยังอยู่ในท้องก็ตาม
       
       ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีพ่อแม่ส่วนใหญ่เข้าใจผิดมาโดยตลอดว่า ช่วงที่ลูกยังเป็นทารกนั้นเขาคงไม่สามารถรับรู้ในสิ่งที่เราพูดหรือคุยกับเขาได้ แต่แท้ที่จริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเพลงที่ฟัง เสียงที่พ่อแม่คุยกับเขานั้น ลูกที่อยู่ในครรภ์สามารถรับรู้และรู้สึกอยู่เสมอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้นี่เองที่จะเป็นแรงกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อย โดยเราสามารถรับรู้ได้จากการดิ้นของลูกนั่นเอง
       
       2. สนุกกับการสอน
       
       ลูกจะสนุกกับการเรียนรู้และสนใจสิ่งรอบข้าง ถ้าพ่อแม่สอนลูกด้วยความสนุกในการฝึกพูด ซึ่งพ่อแม่ต้องทราบก่อนว่า เด็กเล็กนั้นมักชอบเสียงและจังหวะดนตรี ของเล่นที่มีการเล่นเสียงสูงต่ำจะเป็นที่สนใจของพวกเขามาก รวมไปถึงเสียงของสัตว์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว นก ฯลฯ ดังนั้นพ่อแม่สามารถให้สิ่งเหล่านี้เป็นอุปกรณ์เสริมในการกระตุ้นพัฒนาการของลูกได้เป็นอย่างดี

       3. เรียนรู้ไปด้วยกัน
       
       ในแต่ละวัน พ่อแม่ควรให้ลูกเรียนรู้ภาษาในชีวิตประจำวันไปด้วยกัน โดยการสอนคำง่ายเช่น อาบน้ำ ทานข้าว น้ำ กินนม และชื่อของสิ่งของไม่ว่าจะเป็น โต๊ะ เก้าอี้ รองเท้า เป็นต้น
       
       4. ส่งสายตา
       
       ภาษาที่ดีและได้ผลนั้น พ่อแม่ควรใช้ภาษาทางสายตา เวลาพูดกับลูกด้วย เพราะจะช่วยให้ลูกเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการสื่อสารมากขึ้น
       
       5. ย้ำพูดย้ำทำ
       
       การที่พ่อแม่พูดคำใดคำหนึ่งซ้ำบ่อยครั้ง แน่นอนว่า ลูกจะสามารถซึมซับและเรียนคำเหล่านั้นได้แน่นอน แต่น้ำเสียงนั้น อย่าดุดันหรือซีเรียสเพื่อบังคับให้ลูกได้ในทันที มิเช่นนั้น นอกจากจะไม่มีประโยชน์แล้ว อาจกระทบจิตใจของลูกด้วย
       
       6. ให้โอกาสลูก
       
       หลังจากที่พ่อแม่สอนให้ลูกหัดพูดด้วยเทคนิคต่างๆแล้ว ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ พ่อแม่ต้องให้โอกาสลูกและให้เวลาเขาในการเรียนรู้ด้วย ไม่ใช่สอนเขาเดี๋ยวนั้นแล้วลูกต้องทำได้ พูดได้ทันที แต่กลับต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะเด็กต้องการเวลาในการปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ดังนั้นเมื่อพ่อแม่พูดแล้ว ต้องให้เวลาเขาสักพักในการพูดตามหรือตอบกลับ
       
       7. สั้น กระชับ ได้ใจความ
       
       โดยธรรมชาติของเด็กที่มีอายุไม่เกิน 3 ขวบ นั้น ไม่สามารถพูดได้เป็นประโยคเหมือนผู้ใหญ่ พวกเขาพูดได้เพียงเป็นคำๆ ซึ่งบางทีอาจจะฟังไม่ค่อยรู้เรื่องเสียด้วยซ้ำไป
       
       ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือ เมื่อเขาพูดอะไรออกมา ลองถามเขาดูแล้ว เมื่อเราเข้าใจภาษาของเขามากขึ้นก็ชวนคุยต่อ วิธีนี้จะยิ่งทำให้ลูกกล้าพูดแล้วพูดเก่งขึ้นแน่นอน
       
       8. สอนโดยการลงมือทำ
       
       ศัพท์บางคำ เด็กอาจจะไม่เข้าใจความหมายหรือสิ่งที่พ่อแม่พยายามจะอธิบาย ดังนั้นการสอนพร้อมกับสิ่งที่เขาสามารถสัมผัสได้ เช่น เรื่องกลิ่น เรื่องความรู้สึกร้อน หนาว เย็น รวมไปถึงกิริยาท่าทางต่างๆ พ่อแม่ก็สามารถทำให้เขาดูได้เพื่อง่ายต่อความเข้าใจมากขึ้น
       
       9. นิทานแสนสนุก
       
       นิทานที่อ่านง่าย และสนุกก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับครอบครัวที่กำลังมีลูกวัยซน แต่นิทานแต่ละเล่มนั้น ก่อนที่จะซื้อ พ่อแม่ควรคำนึงก่อนว่า ลูกอายุเท่าไหร่ วัยของเขาสนใจภาพมากน้อยแค่ไหน เพราะถ้ายังเล็กมาก พ่อแม่ก็ควรซื้อนิทานที่เน้นภาพ เน้นสี ไม่ใช่เนื้อหา ซึ่งนิทานนี้เองที่จะกระตุ้นพัฒนาการของเขาได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังสร้างนิสัยรักการอ่านให้ลูกอีกด้วย
       
       10. เล่นเกมเชิงบวก
       
       หากลูกอยุ่ในวัย 2 ขวบ ขึ้นไป พ่อแม่อาจหากิจกรรมหรือว่าเกม เล่นกับลูก ซึ่งระยะเวลาที่เล่นด้วยกันพ่อ แม่ ลูกนั้น เขาจะเรียนรู้ภาษาจากพ่อแม่ และเข้าใจภาษานั้นง่ายขึ้นตามลำดับ
       
       11. เลี่ยงทีวีเป็นเพื่อน
       
       ข้อห้ามเด็ดขาดสำหรับครอบครัวที่มีเด็กเล็กทั้งหลายนั้นคือ ห้ามให้ทีวีอยู่เป็นเพื่อนลูก เพราะที่ผ่านมา หลายครอบครัวต้องเจอปัญหาลูกไม่ยอมพูดเพราะดูแต่ทีวี
       
       ในเรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า สาเหตุเป็นเพราะการที่เด็กดูโทรทัศน์นั้นเป็นการสื่อสารเพียงช่องทางเดียว เด็กได้แต่ดูและฟัง ไม่ได้พูดตอบโต้ ดังนั้นพ่อแม่ควรให้ลูกออกห่างจากทีวี และอยู่เป็นเพื่อนลูก ชวนเขาคุยจะดีกว่า
       
       12. หยุด..เพื่อสอนลูก
       
       ท้ายสุดนี้ พ่อแม่หลายคนอาจมองข้ามสิ่งสำคัญไปอีกหนึ่งประการนั่นคือ ทุกครั้งที่พาลูกไปเที่ยวเปิดหูเปิดตานอกบ้าน ลูกๆจะตื่นตาตื่นใจกับสิ่งแปลกใหม่รอบตัว แต่พ่อแม่กลับไม่ใช้โอกาสนั้นสอนเขาว่า มันคืออะไร เรียกว่าอะไร
       
       ดังนั้น หากพาลูกไปไหนก็ตาม หยุดเดิน หรือชลอความเร็วรถสักนิด เพื่อบอกเขาว่า สิ่งที่เขาสงสัยนั้นคืออะไร เรียกว่าอะไร แต่ที่สุดแล้ว ก่อนที่จะหยุดเดิน หรือหยุดรถก็ควรมองซ้าย มองขวาให้ดีเสียก่อนเพื่อความปลอดภัย

โดย  himawari45
ที่มา: หนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการ
ภาพ:   momypedia.com /  kodomoclub.com 



        

No comments:

Post a Comment