Saturday, February 16, 2013

เล่นสนุกที่มือ.....ฉลาดที่สมอง



     คุณพ่อคุณแม่ทราบไหมว่า สมองใหญ่ของมนุษย์ ซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับการควบคุมการเคลื่อนไหวของมือและนิ้วมือนั้นคิดเป็น ร้อยละ 30 ของการควบคุมส่วนอื่นๆ  และความรู้สึกที่ฝ่ามือนั้นกินเนื้อที่ส่วนสมองส่วนที่รับความรู้สึกทางกาย ถึงร้อยละ 30 ความหนาแน่นของปลายประสาทรับความรู้สึกที่กระจายอยู่ใต้ผิวหนังของนิ้วมือ นั้นใกล้ชิดมากจนคนตาบอดสามารถคลำตัวอักษรเบลล์ ซึ่งประกอบด้วยรูขนาดเล็กเรียงห่างกันไม่ถึง 1 มิลลิเมตร  มือและสมองจึงมีความสัมพันธ์อย่างมาก

     สมองของเด็กพัฒนาจากการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กพบว่า  ทักษะความคล่องตัวของกล้ามเนื้อมัดเล็กจะพัฒนาภายในช่วง  10 ปีแรก  ดังนั้นหากเด็กได้ฝึกฝนการใช้มือ  การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กของมือ จะทำให้สมองสร้างเครือข่ายเส้นใยสมอง และจุดเชื่อมต่อและสร้างไขมันล้อมรอบเส้นในสมอง  และเซลล์สมองที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กได้มาก 

      ทักษะการใช้มือจึงเป็นทักษะที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต และการเรียนรู้ของคนเรา โดยเฉพาะเด็กๆ  เนื่องจากจะต้องถูกหัดให้กินอาหารด้วยตนเอง และใช้มือในการเล่น เรียน เขียนหนังสือ มีคนเคยพูดว่า พัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กจะพัฒนาไปได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น  หากเด็กไม่มีโอกาสได้ใช้มือเพื่อเป็นการสื่อในการเรียนรู้  ในขณะที่หากเด็กได้มีโอกาสใช้มือทำกิจกรรมต่างๆ  จะสามารถพัฒนาได้ในระดับที่สูงกว่า  เพราะมือเป็นเสมือนครูที่สำคัญของ เด็ก และเป็นเครื่องมือเพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็ก เพราะฉะนั้น ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ทำกิจกรรมที่เขาได้ใช้มือให้มากๆ

ตัวอย่างกิจกรรมการใช้มือของเด็ก
  • ใช้มือสองข้างพร้อมกัน เช่น ทาแป้งตามตัว เล่นตบแปะ ติดกระดุม ร้อยเชือก 
  • เคลื่อนไหวนิ้วมือ เช่น ต่อบล็อกไม้ เสียบหมุดเป็นรูปต่างๆ 
  • ใช้มือและนิ้ว มือทั้งหมด เช่น ฉีกกระดาษ ปั้นดินน้ำมัน  เล่นดินเล่นทราย ละเลงสีด้วยมือและนิ้ว หรือใช้มือเล่นเงา  เช่น ทำเป็นรูปหมา รูปนกบิน งูเลื้อย ฯลฯ 
  • ใช้นิ้วชี้เพียงนิ้วเดียว เช่น ดีดลูกแก้ว ใช้นิ้วแตะและทากาว 
  • ใช้ข้อมือและ กล้ามเนื้อมือ  เช่น  ขีดเขียนด้วยสีเทียนหรือดินสอแท่งใหญ่ๆ การวาดภาพระบายสี  เปิดหน้าหนังสือ ตักอาหารด้วยตัวเอง ค้อนตอก เป็นต้น

          ที่สำคัญคือ เสียงห้ามของผู้ใหญ่เมื่อเห็นเด็กใช้มือหยิบจับของใกล้ตัว ด้วยข้อหาทำให้รก สกปรก ข้าวของเสียหาย ฯลฯ นั้นคืออุปสรรคขัดขวางการเรียนรู้ของเด็ก (และเท่ากับขัดขวางการทำงานของสมองด้วย)  เด็กๆ นั้นด้วยความอยากรู้อยากเห็น เขาอยากจะหยิบจับ สัมผัส สำรวจสิ่งใกล้ตัว อยากกวาดบ้าน ล้างจาน ซักผ้า รินน้ำ อาบน้ำเอง หวีผม ใส่เสื้อ ฯลฯ ด้วยตัวเขาเองบ้าง การปล่อยให้เขาได้ใช้มือเรียนรู้ สัมผัส และทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เท่ากับได้พัฒนาสมองและการเรียนรู้ของลูกโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เลยค่ะ  


แหล่งที่มา  http://www.enfababy.com

No comments:

Post a Comment